xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามท้องถิ่นจัดกวดวิชา! สถ.เวียนหนังสือจี้ผู้ว่าฯ สกัด อปท.ใช้เงินผิดประเภท “จ้างติวเตอร์-จัดกวดวิชาเด็กเข้ามหาวิทยาลัย สตง.-มท.ย้ำไม่ใช่หน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งหนังเวียนถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ฟันวินัย อปท.ใช้งบฯ ผิดประเภท “จ้างติวเตอร์-จัดกวดวิชา” หลัง สตง.-มหาดไทยย้ำไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นที่จะดำเนินการ ยันเพื่อให้ค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เผยท้องถิ่นบางแห่งจัดงบ ปีละ 5 ล้านจัดกวดวิชา อ้างเด็กต่างจังหวัดโอกาสน้อยกว่าเด็ก กทม.

วันนี้ (19 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้แจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศให้รับทราบแนวทางปฏิบัติและกำชับให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กรณีมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดการศึกษาในลักษณะการกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ถือเป็นการสอนเสริมเพื่อการแข่งขัน มิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการ และเพื่อให้ค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ หนังสือเวียนดังกล่าวระบุว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งมายังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดการศึกษาในลักษณะการกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย

โดย สตง.ระบุว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) ได้ตรวจสอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ตามโครงการ “สานฝันสู่มหาวิทยาลัย 51” เห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะดำเนินการ

ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 ว่า ตามมาตรา 45 (9) แห่งพ.ร.บ.องค์กรบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ประกอบกับตาม (11)ของกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ให้กิจการการศึกษาเป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นสมควรให้ อบจ. ร่วมดำเนินการหรือให้ อบจ.จัดทำ และมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คำว่า “การศึกษา” หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และคำว่า “การศึกษาตลอดชีวิต” หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

“บทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า การศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการยกระดับการศึกษาให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ในชั้นการเรียนการสอน มิใช่ให้ความรู้กลุ่มหรือเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือเทคนิคในการทำข้อสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการสอนเสริมเพื่อการสอบแข่งขัน หรือการแย่งที่เรียนเพื่อศึกษาต่อ หรือการจัดอันดับของนักเรียนในชั้นเรียน” อีกทั้งตามนิยามคำว่า “การศึกษา” พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็มิได้บัญญัติให้รวมถึงการสอนเสริมไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการโครงการสอนเสริมแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบคัดเลือกต่อในระดับอุดมศึกษาของ อบจ.จึงมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่จะดำเนินการได้

ทั้งนี้ หนังสือเวียนฉบับนี้กำชับว่า หากยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดฝ่าฝืนให้ผู้ว่าฯสามารถลงโทษตามวินัย หรือหาก อปท.ใดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่า หนังสือเวียนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ออกกำชับผู้ว่าฯ ให้ควบคุมอย่างเคร่งครัด ภายหลังพบว่าตลอดหลายปีนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ได้จัดงบประมาณประจำปีเพื่อจัดจ้างให้บริษัทเอกชนประเภทโรงเรียนกวดวิชาเข้ามาดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่ท้องถิ่นบางแห่งจัดงบประมาณร่วมจัดกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จากส่วนกลาง หรือร่วมกับหอการค้าจังหวัดนั้นๆ จัดโครงการกวดวิชาเช่นเดียวกัน

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งอ้างว่ามีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาในท้องถิ่น รวมถึงเยาวชนในท้องถิ่นมักสู้เยาวชนในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ได้ จึงต้องไปเรียนกวดวิชากับครูในสถาบันกวดวิชาชื่อดังในกรุงเทพฯ ต้องเสียทั้งค่าใช้จ่าย-ค่าเดินทาง-ค่าหอพัก ในราคาแพง อีกทั้งการไปเรียนกวดวิชาต่างบ้านต่างเมืองก็ห่างไกลจากสายตาของผู้ปกครองและขาดความอบอุ่น จึงจำเป็นต้องจัดกวดวิชาในพื้นที่ตนเอง”

มีรายงานว่า บางพื้นที่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีการอนุมัติงบประมาณ 1-5 ล้านบาทให้ โรงเรียนกวดวิชาจากส่วนกลางเป็นผู้จัดดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และจ้างติวเตอร์ชื่อดังทั่วประเทศมาสอนให้นักเรียนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น