xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คำสั่ง “ห้ามท้องถิ่นจัดกวดวิชา” มท.ย้ำเทียบเคียง ผลตีความกฤษฎีกา ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หัวข่าว“ห้ามท้องถิ่นจัดกวดวิชา !” สถ. เวียนหนังสือจี้ผู้ว่าฯสกัด “อปท.” ใช้เงินผิดประเภท“จ้างติวเตอร์-จัดกวดวิชาเด็กเข้ามหาวิทยาลัย” -“สตง.-มท.” ย้ำไม่ใช่หน้าที่

เป็นข่าวที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง ขอความร่วมมือแจ้งเวียนหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0804.3/6129 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ลงนามโดย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองอธิบดีปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เน้นย้ำประเด็นการจัดการศึกษาในลักษณะการกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการสอนเสริมเพื่อการแข่งขันมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะดำเนินการได้

เพื่อให้แจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศให้รับทราบแนวทางปฏิบัติและกำชับให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กรณีมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดการศึกษาในลักษณะ “การกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย”ที่ถือเป็นการสอนเสริมเพื่อการแข่งขัน มิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการ และเพื่อให้ค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้หนังสือเวียนดังกล่าว ระบุว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดการศึกษาในลักษณะ “การกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย”โดย สตง. ระบุว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) ได้ตรวจสอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ตามโครงการ “สานฝันสู่มหาวิทยาลัย 51” เห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)จะดำเนินการ

ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2555 ว่า ตามมาตรา 45 (9) แห่งพ.ร.บ.องค์กรบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ประกอบกับตาม (11)ของกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ให้กิจการการศึกษาเป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นสมควรให้ อบจ. ร่วมดำเนินการหรือให้ อบจ. จัดทำ และมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คำว่า “การศึกษา” หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และคำว่า “การศึกษาตลอดชีวิต” หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

“ซึ่งบทบัญญัติ ดังกล่าวจะเห็นว่า การศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการยกระดับการศึกษาให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ในชั้นการเรียนการสอน มิใช่ให้ความรู้กลุ่มหรือเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการหรือเทคนิคในการทำข้อสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการสอนเสริมเพื่อการสอบแข่งขัน หรือการแย่งที่เรียนเพื่อศึกษาต่อ หรือการจัดอันดับของนักเรียนในชั้นเรียน”

อีกทั้งตามนิยามคำว่า “การศึกษา”พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็มิได้บัญญัติให้รวมถึงการสอนเสริมไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการดำเนินการโครงการสอนเสริมแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบคัดเลือกต่อในระดับอุดมศึกษาของ อบจ. จึงมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่จะดำเนินการได้
 
ทั้งนี้ หนังสือเวียนฉบับนี้กำชับว่า หากยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดฝ่าฝืนให้ผู้ว่าฯสามารถลงโทษตามวินัย หรือหาก อปท.ใดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
 
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังยก คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย (คณะที่ 1) มาประกอบ หลังจากที่ อปท.บางแห่ง มีการนำ คำวินิจฉัยของ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 450/2552 มาเทียบเคียง โดยยืนยันว่า “”ไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้เนื่องจากข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแตกต่างจากรณีนี้”

กรณีตัวอย่าง ดังกลาว สตง. ภูมิภาคที่8 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของเทศบาลนครเชียงรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นการสอนเสริม ซึ่งตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติคำนิยามเรื่องการศึกษาไว้ แต่มิได้รวมถึงการสอนเสริมแต่อย่างใด เทศบาลนครเชียงรายจึงไม่มีอำนาจกระทำได้

แต่จังหวัดเชียงรายเห็นว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับความหมายของคำว่า "การศึกษา” จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลนครเชียงรายที่สามารถดำเนินการได้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงนำเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เทศบาลนครเชียงรายมีอำนาจในการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเป็นการส่งเสริมการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล (บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 450/2552)

บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้รายละเอียดว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วมีความเห็นว่า ตามมาตรา 50(6) ประกอบกับมาตรา 53(1) และมาตรา 56(1) แห่ง พ.ร.บ.พ.ศ. 2496 กำหนดให้เทศบาลนครมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลโดยให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม และตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้เทศบาลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองในการจัดการศึกษา

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้ามีนิสัยรักการเรียน พัฒนาตนเอง เพื่อให้นักเรียนได้ประสบการณ์ในการทำแบบทดสอบต่างๆ เป็นการทบทวนความรู้เพื่อให้ได้พื้นฐานการเรียนที่ดีในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อพัฒนานักเรียนให้ทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ โดยทำความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดหลักสูตรและวิทยากรในการอบรม และจัดนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย เข้าค่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการอภิปราย บรรยายให้ความรู้ แบ่งกลุ่มทำกิจกรรม และ มีการทดสอบภายหลังการเรียน ถือได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม ตามความหมายของคำว่า "การศึกษา" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฯ

อีกทั้งเป็นการสอนและทดสอบความรู้ตามหลักสูตรให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือได้ว่า เป็นการศึกษาในระบบตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ประกอบกับตามมาตรา24(2)(3) และ (6) ได้กำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง และจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ดังนั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาจึงมิได้อยู่เพียงแต่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเท่านั้น

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการศึกษาตามมาตรา289 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ รวมทั้ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ พ.ร.บ.เทศบาล ฯแล้ว เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาหรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาในท้องถิ่น ตลอดจนสามารถจัดการศึกษาได้ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการภายในท้องถิ่น สำหรับการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า "การศึกษา” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่กำหนดความหมายไว้อย่างกว้าง ประกอบกับหลักของการจัดการศึกษาตามมาตรา 8 รูปแบบของการจัดการศึกษาตามมาตรา15 ตลอดจนแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 24 แล้ว เห็นได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ทำนองเดียวกับการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนโดยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่กำหนดใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ

ดังนั้น เมื่อการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของเทศบาลนครเชียงราย เป็นการส่งเสริมการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล เทศบาลนครเชียงรายจึงสามารถดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย (คณะที่ 1) ยืนยันคือ “ไม่ใช่หน้าที่” กรณีนี้ มีการกำชับผู้ว่าฯให้ควบคุมอย่างเคร่งครัด ภายหลังพบว่า ตลอดหลายปีนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ได้จัดงบประมาณประจำปี เพื่อจัดจ้างให้บริษัทเอกชนประเภท โรงเรียนกวดวิชา เข้ามาดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่ท้องถิ่นบางแห่ง จัดงบประมาณร่วมจัดกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จากส่วนกลาง หรือร่วมกับหอการค้าจังหวัดนั้น ๆจัดโครงการกวดวิชาเช่นเดียวกัน

ข้อมูลดังกล่าว พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง อ้างว่า มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาในท้องถิ่น รวมถึงเยาวชนในท้องถิ่น มักสู้เยาวชนในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่ได้ จึงต้องไปเรียนกวดวิชากับครูในสถาบันกวดวิชาชื่อดังในกรุงเทพฯ ต้องเสียทั้งค่าใช้จ่าย-ค่าเดินทาง-ค่าหอพัก ในราคาแพง อีกทั้งการไปเรียนกวดวิชาต่างบ้านต่างเมืองก็ห่างไกลจากสายตาของผู้ปกครองและขาดความอบอุ่น จึงจำเป็นต้องจัดกวดวิชาในพื้นที่ตนเอง”

 บางพื้นที่ ในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ มีการอนุมัติงบประมาณ 1-5 ล้านบาทให้ โรงเรียนกวดวิชาจากส่วนกลาง เป็นผู้จัดดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย และจ้างติวเตอร์ชื่อดังทั่วประเทศมาสอนให้นักเรียนด้วย

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน แม้ท้องถิ่นจะงดจัดกวดวิชาไปแล้ว แต่พบว่า ภาคเอกชนได้หันร่วมกับสื่อมวลชนเข้ามาร่วมมือกันจัดกิจกรรมแทน โดยระบุว่า เพื่อประโยชน์ของเยาวชนในท้องถิ่น.


กำลังโหลดความคิดเห็น