xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ“เด็กคนหนึ่งใช้เงินซื้อที่นั่งในมหาวิทยาลัยได้และได้หลายที่นั่งในขณะที่เด็กอีกคนแทบไม่มีที่นั่งเรียน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เกิดอะไรขึ้นกับวงการการศึกษาของประเทศไทย ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เปลี่ยนระบบรับนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา จนยุ่งเหมือนยุงตีกัน เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกจากระบบเอนทรานซ์ (Entrance) มาเป็นระบบแอดมิดชัน (Admission) จนกระทั่งล่าสุด ระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2561

การปฏิรูปการศึกษาในสมัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้เงาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ ที่ว่ากันว่าเป็นเค้าลางอันดีเพราะแก้ปัญหาไปได้เปราะหนึ่ง โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ยังมีหลายจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนก่อนมีผลบังคับใช้จริง

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ พูดคุยกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาระสำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบเคลียริงเฮาส์ และความล่มสลายของระบบการศึกษาไทยที่ยังคงหลงทิศหลงทาง จนเอื้อแก่ธุรกิจการศึกษาตอกย้ำความเน่าเฟะ

นัยยะสำคัญของการเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเคลียริงเฮาส์

ณ ตอนนี้ผมขอเรียกว่ามันเป็นคอขวดทางการศึกษา คือทุกอย่างมันต้องปรับ ปรับสภาพ ปรับวิธีการดำเนินชีวิต หลักสูตร ระบบการเรียนการสอน คอขวดตรงนี้มันมีอำนาจมาก ฉะนั้น มันมีความสำคัญเวลาจะเปลี่ยนทีต้องเป็นนโยบายสาธารณะต้องคิดให้ดี ในยุคก่อนนั้น ก่อนที่มันจะมีการเปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์ มาเป็นระบบแอดมิดชัน ผมเคยประชุมกับทางรัฐมนตรีกระทรวงและหลายฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบเอนทรานซ์ เป็นข้อเท็จจริงผมไม่ได้เป็นคนทำวิจัยเอง ก่อนจะเปลี่ยนเขาก็ระบุชัดอยู่แล้วว่าระบบที่ดีที่สุดคือ ระบบเอนทรานซ์ 2 ครั้ง คือ ให้โอกาสเด็กสอบครั้งที่ 1 ถ้าเขาไม่สบายเขาพลาดเขาอยากจะเลือกใหม่ก็ให้โอกาสเด็กอีกครั้งหนึ่ง แต่ในช่วงนั้นมันมีลักษณะความแรงของปัจจัยภายนอก คือระบบแอดมิดชัน ซึ่งมันเป็นระบบสากล เขาบอกประเทศอื่นๆ ทำอย่างนี้แล้วมันดี มันได้เด็กตามที่เขาต้องการ มันไม่เน้นเรื่ององค์ความรู้เรื่องความจำต่างๆ มันก็มีเหตุผลของมัน ระบบเอนทรานซ์ก็หายไปแล้วก็เปลี่ยนเป็นระบบแอดมิดชัน พอเป็นแอดมินชันได้ไม่กี่ปีก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนในที่สุดจะเริ่มลงตัวก็เกิดระบบใหม่ เอนทรานซ์ แบบเคลียริงเฮาส์

แอดมิดชันที่กำลังจะยกเลิกเป็นระบบที่มีปัญหาของวงการการศึกษาไทย

ระบบแอดมิดชัน และระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยอีก คล้ายๆ เด็กวิ่งรอบสอบกัน 6 - 8 สนาม ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันมีหลายรูปแบบ หลายวิธีการ และมันต้องใช้เงินมาก มีข้อมูลเปิดเผยว่า เด็กนักเรียน ม.ปลาย มีต้นทุนทางการศึกษาประมาณ 60,000 กว่าบาท แล้วก็สอบประมาณ 8 สนาม เราค้นพบแล้วว่านอกจากมันจะมีผลในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มันสร้างปัญหาและภาระแก่เด็กและผู้ปกครองมาก ตัวเด็กจะเหนื่อย เรียนหนัก สอบมาก ส่วนผู้ปกครองต้องหาเงินหาค่าใช้จ่าย ทุกคนจะทุ่มกับการศึกษาของลูกตอนนี้มากที่สุด ใช้เงินมาก ผมมีโอกาสคุยกับเด็กที่มีฐานยากจนกับครอบครัวที่มีฐานะ จะเห็นความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำกันอย่างมหาศาล ในขณะที่เด็กที่มีฐานดีก็จะตระเวน สอบ ไล่กันตั้งแต่ ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สอบทุกที่ทุกจุด แล้วส่วนใหญ่ติดหมด คุณก็ได้ที่นั่งเรียน แต่เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนในต่างจังหวัดเขาแทบไม่มีโรงเรียนกวดวิชา จะสอบครั้งหนึ่งในจังหวัด ต้องเก็บเงิน คณะหนึ่งสอบครั้งหนึ่งก็แย่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กคนหนึ่งใช้เงินซื้อที่นั่งในมหาวิทยาลัยได้และได้หลายที่นั่งด้วย แล้วสุดท้าย ก็มานั่งเลือกกันว่า 7 - 8 ที่ ที่เขาได้เขาจะเอาที่ไหนที่ดีที่สุดพอใจที่สุด แต่อีก 7 - 8 นั้นที่มันถูกกั๊ก ในขณะที่เด็กอีกคนแทบไม่มีที่นั่งเรียน ตรงนี้มันคือความแตกต่างความเหลื่อมล้ำมากมายมหาศาล เป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนแก่เด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และมันสร้างปัญหาในเรื่องของที่นั่งล้นแต่อีกคนหนึ่งขาด

เคลียริงเฮาส์ คือระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

นอกจากมันแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ แก้ปัญหาเรื่องเด็กเครียดได้ สิ่งที่มัน ติดตามมา ให้เด็กทุกคนเข้าสู่การสอบแข่งขันแบบยุติธรรม และมันทำให้เด็กอย่างน้อยๆ รู้ว่าตัวเองถนัดอะไรชอบอะไรและตัดสินใจ ไม่ใช่เผื่อเลือกตลอด คือมันจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาด้านอื่นๆ ถ้า! ทำในสิ่งที่ผมเสนอแนะ มีงานวิจัย 2 - 3 ชิ้น คุณเลือกบทที่มันชัดเจนและถูกต้องเอามาใช้ เช่น คุณสอบเอนทรานซ์ 2 ครั้ง ดี ต้องให้โอกาสเด็กสอบ 2 ครั้ง และเลือก 4 คณะ ให้เขารู้คะแนนความสามารถของเขา เขาก็จะมีโอกาสตัดสินใจได้ 2 ครั้ง แต่ขณะนี้คือสอบ 1 ครั้ง แต่คุณเลือกได้ 2 ครั้ง ทีนี้ เด็กที่เคยได้ 6 - 7 ที่นั่ง จะบอกทันทีว่าเขาเสียโอกาส เพราะเขาเผื่อเลือกไว้ก่อน ผมถึงบอกว่าต้องให้โอกาสเด็กสอบ 2 ครั้งแล้วเลือกมหาวิทยาลัยเคลียริงเฮาส์ 2 หน การสอบครั้งเดียวก็แก้ปัญหาให้มันดีขึ้นแค่นิดเดียว รู้คะแนนแล้วคุณก็ยื่นคณะ แต่ถ้าไม่พอใจก็เลือกคณะยื่นใหม่ แต่ระบบแอดมินชัน รับตรง มันจะหาย จะไม่ทำให้เกิดแข่งขันแบบเสรี

เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยที่มองเรื่องรับตรง บางสถาบันเปิด 8 รอบ เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่และมีชื่อเสียง แล้วรอบนึงสอบกันเป็นแสนๆ คน ถามว่าทำไม? เรื่องนึงที่ผมเห็นผมว่ามันเป็นกึ่งๆ ธุรกิจ เวลามันออกนอกระบบคอนเซ็ปต์มันต้องพึ่งตัวเอง คุณต้องหารายได้ คุณต้องมีหลักสูตรพิเศษ หรือต้องมีเด็กจำนวนหนึ่งที่คุ้มหลักสูตรพวกนี้ เพราะฉะนั้น การสอบครั้งนึงในสนามสอบใช้เงินต่อคนประมาณ 2,000 - 2,500 บาท คิดดูว่ามันสอบกันทีเป็นแสนๆ คน สอบ 8 รอบคุณมีรายได้เท่าไหร่? เงินเน้นๆ ทั้งนั้น แต่ชอบอ้างว่าอยากได้เด็กตามที่ตัวเองต้องการ ตามคุณสมบัติตามคุณลักษณะ คือข้ออ้างที่เอามาใช้ซึ่งผมว่าไม่ใช่ เพื่อเรื่องอื่นมากกว่า บางมหาวิทยาลัยมันเป็นเรื่องธุรกิจไปแล้ว มันเป็นเรื่องการหาเงินบนความเดือดร้อนของประชาชน มหาวิทยาลัยมันลอยตัวไง มันแยก ตอนนี้มหาวิทยาลัยมันเริ่มแยกส่วนออกจากสังคมแล้ว มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เข้าใจ เรียนรู้ ช่วยเหลือสังคม แต่ขณะนี้มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยมันขายจิตวิญญาณเรื่องสังคม ขายตัวมันเอง

ประเด็นที่ผมอยากเสนออีกประเด็น เราเอาระบบเอนทรานซ์ 9 สาระวิชา และคุณเอาระบบแอดมิดชันพวก GAT, PAT, GPAX, O-NET ทั้งหลายมารวมกับกลุ่มสาระวิชา อันนี้เรากำลังทำให้เด็กเครียดหนัก เพราะมันคนละคอนเซ็ปต์ พอคุณเริ่มรับตรงเคลียริงเฮาส์ เอาระบบรับตรงที่คุณเลิกมาใส่เด็กอีก เพราะฉะนั้นเด็กจะสอบ 9 กลุ่มวิชา แล้ว GAT, PAT, GPAX, O-NET มันประเดประดังเข้าสู่ชีวิตของเด็ก ผมว่าถ้าคุณใส่ลงไปทุกองค์ประกอบ เราฆ่าเด็กทั้งประเทศอีกครั้งนึงเลย จากความเครียด ความกังวล เตือนเลยว่าคุณต้องระมัดระวัง ต้องคิดถึงเด็ก คิดถึงครอบครัว อย่าคิดเพียงว่าได้เด็กแค่นี้ๆ พอใจแล้ว

องค์ประกอบจัดรับตรงเคลียริงเฮาส์ คุณต้องพยายาม คิดองค์ประกอบเหล่านี้ให้ดี เราจะได้เด็กที่ดีมีคุณภาพ แล้วมีศักยภาพมาจากข้างล่าง จากการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วเราจะต่อยอดเขาได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำคือ ประเมินเด็กแต่ละคน ถ้าคุณจะวัดเนื้อหาไม่ต้องสอบถึง 9 กลุ่มสาระหรอก เช่น เด็กสอบสายสังคม คุณวัด ภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ หรือ เด็กสอบสายวิทย์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ พอไหม? ถ้า GAT, PAT ดูความถนัดคุณเลือกอันใดอันหนึ่งได้ไหม เพราะว่า PAT เป็นวิชาการขั้นสูงจำเป็นหรือเปล่า ถ้าคุณสอบวัดความถนัดทั่วไป ก็ว่ากันไป คุณจะใช้ O-NET, GPAX ต้องระวังให้ดี

แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำแบบสากล ระบบแอดมิดชัน คือคุณไม่ดูว่าเด็กเขาทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง กิจกรรมสาธารณะ กิจกรรมที่เขาใช้พัฒนาตัวเอง พอร์ตฟอลิโอผลงงาน ทำไมเราไม่คิดเรื่องพวกนี้ ทำไมเราใช้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย สะดวกง่าย รวดเร็ว ยุติธรรม ถ้ามหาวิทยาลัยทำอย่างนี้จะได้องค์รวมของเด็กที่ผ่านงานที่เขาทำ ผ่านโครงงานลักษณะการทำงานเพื่อสังคม ต้องคิดตรงจุดนี้ให้เห็น แล้วพอเราได้เด็กตามที่สาขาวิชาต้องการแล้วเราก็สามารถต่อยอด ไทยแลนด์ 4.0 ได้ คือ ครีเอทีฟ และ อินโนเวชั่น มันได้วัดเนื้อหาองค์ความรู้ด้านหนึ่งของชีวิตเด็ก ที่ผ่านมา เราดูเขาว่าไปกวดวิชาที่ไหนเขามีความรู้มากน้อยหรือเปล่า แต่ความสมบูรณ์ของชีวิตอีกด้านหนึ่งเราทิ้งไปเลย มันคือองค์ประกอบที่เราต้องมานั่งคิดกันใหม่ ไม่เช่นนั้นมันก็จะกลับเข้าสู่รูปแบบเดิม เด็กไปนั่งกวดวิชา เครียด..เครียดครั้งเดียวหนักมาก เพราะว่าชีวิตเขาเสียงหนเดียว ผมถึงบอกว่าต้องดูให้รอบคอบให้ละเอียด ผมเห็นด้วย แต่ต้องเอนทรานซ์ 2 หน อย่าวัดเนื้อหาของความรู้ความจำแต่วัดเรื่องอื่นท่านประกอบด้วย

เรื่องของการรองรับเด็กกลุ่มที่หลุดจากเคลียริงเฮาส์ทั้ง 2 ครั้ง

คือถ้ายื่น 2 ครั้งแล้วไม่ได้ ผมจะบอกให้เลยที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างสำหรับเด็กทุกคน ถ้าคุณไม่เลือกคณะ ไม่เลือกมหาวิทยาลัยนะ ผมยืนยันว่าขณะนี้ที่นั่งเหลือเฟือ คุณก็ต้องยอมรับตัวคุณเองด้วยนะ ถ้าคุณอยากจะเรียนแพทย์ อยากจะเรียนวิศวะ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คะแนนความสามารถคุณไม่ถึง เด็กเกิดน้อยลง มหาวิทยาลัยต้องการจำนวนเด็กที่คุ้มกับหลักสูตร แล้วยังมี ราชภัฏ ราชมงคล อาชีวะ รองรับอีก คือ ระบบเคลียริงเฮาส์ จะต้องเคลียร์ให้ได้ว่าเอกชนจะเข้ามาไหม ถ้าเอกชนเข้ามาเด็กก็จะมีโอกาสมากขึ้น ผมว่าแทบไม่หลุดหรอก ถ้าเอกชน ราชมงคลเข้ามา เพียงแต่เขาอาจจะได้เด็กอีกระดับหนึ่ง แต่ยืนยันว่าขณะนี้มีที่นั่งเพียงพอสำหรับเด็กไทยทุกคน มีข้อแม้อย่างเดียว คุณห้ามเลือกคณะเลือกมหาวิทยาลัย อาจจะเลือกได้แต่ไม่ได้ตามที่ต้องการ

ส่วนตัวอาจารย์เห็นด้วยกับระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือเปล่า

ระบบรับตรงมันเป็นดาบ 2 คม บางคณะดีมากเลย ยึดปรัชญาแนวคิดวิธีการได้เด็ก แต่ในขณะที่จำนวนไม่น้อยเขาไม่ได้ยึดหลักการ แต่นำมาอ้างแล้วใช้เป็นวิธีการหาเด็กหาเงิน ซึ่งขณะนี้มหาลัยทำกันเป็นล่ำเป็นสัน มหาลัยแห่งภาคอีสานเปิด 7 - 8 รอบ มหาวิทยาลัยตรงกล้วยน้ำไทย เปิดเกือบ 10 รอบ มหาวิทยาลัยตรงรังสิต 8 รอบ แล้วคิดดูเด็กวิ่งรอบสอบกันเท่าไหร่ พวกนี้เปิดทุกที่เด็กก็จะเฮกันไปสอบ เด็กคนนึงสอบได้ก็ต้องวางมัดจำ 6,000 - 20,000 บาท แล้วดูเด็กได้กี่ที่ มันไม่เฉพาะค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ถ้าคุณสละสิทธิปั๊บมหาวิทยาลัยก็ยึดเงิน เขาก็เปิดสอบรอบใหม่ก็คนสละสิทธิไม่ได้เด็กตามจำนวน เขาก็อ้างเอาให้ครบตามจำนวน เด็กที่มันสอบทุกที่ๆ ค่าใช้จ่ายมันก็เพิ่ม สังคมไทยขณะนี้มองสิทธิประโยชน์ของตัวเอง มองผลประโยชน์ที่ได้จากระบบนี้ แบบพูดหลักการแต่เบื้องหลังคือผลประโยชน์เยอะมาก ผมเจ็บมากเลยทำเรื่องพวกนี้ เพราะว่าคนที่ได้รับผลประโยชน์คนที่ได้รับผลกระทบเขาจะไม่ยอม

การที่เด็กสมัครใจเรียนกวดวิชามันสะท้อนกลับมาที่เสถียรภาพของโรงเรียน

โรงเรียนของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่สอนอยู่ ตัวหลักสูตรสอนเพื่อให้สอบ ม. 6 ผ่านถูกไหม เป็นแค่พื้นฐาน แต่ถ้าสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย คุณต้องแข่งขันคุณต้องช่วยเหลือตัวเอง มันตอบโจทย์ขั้นพื้นฐานของเขาแต่ไม่ได้ตอบโจทย์อนาคต ถ้าคุณยังทำระบบแบบนี้ คุณไม่ปรับระบบหลักสูตร ทำไงให้เนื้อหาน้อยลง การวัดและประเมินทำอย่างไร ไม่ใช่สอบปรนัยอย่างเดียว ต้องสอบอัตนัยด้วย สิ่งที่จะต้องแก้ต่อไปคือระบบการสอบวัดและประเมินผลไม่ใช่บางโรงเรียนปล่อยเกรดเละเทะ บางโรงเรียนกดเกรด มาตรฐานไม่เท่ากัน ฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำหลังจากปรับตัวเองให้ดีแล้วต้องกลับมาทำเรื่องระบบหลักสูตร คะแนนให้มันมาตรฐาน แล้วถ้าผลไม่เป็นไปตามคุณภาพ กระทรวงศึกษาฯ ต้องหาผู้รับผิดชอบ อีกประเด็นหนึ่ง การส่งต่อระบบเอนทรานซ์ผ่านกระบวนคัดเลือกของหน่วยงานตรงนี้มันปฏิเสธซึ่งกันและกัน ไม่รับผิดชอบแถมโทษกันไปโทษกันมา การศึกษาไม่มีการลงแขกมาช่วยกันดูมาช่วยกันปฏิรูป ทุกคนคิดแต่เรื่ององค์กร สถาบัน ถ้าเราคิดเรื่องระบบเอนทรานซ์ให้ดีๆ มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้หลายมิติ

สถาบันกวดวิชา ผมจะบอกให้เลยนะ ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ มันจะเอาชนะสิ่งที่คุณกำหนดได้ 1 - 2 ก้าวตลอด เรื่องของผลประโยชน์ตรงนี้เป็นคอขวดการศึกษาที่หลายฝ่ายเข้ามาเก็บเกี่ยวประโยชน์ ไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชา มหาวิทยาลัยก็เก็บนะ หลายๆ ที่มองตรงนี้เป็นกลุ่มที่หารายได้ให้กับเขาได้ ตรงนี้มันกลายเป็นเรื่องหาผลประโยชน์หารายได้ ทำธุรกิจกับการศึกษาได้อย่างไร


มีกระแสวิพากษ์ คสช. เข้ามาปฏิรูปการศึกษาเปลี่ยนระบบการสอบเร็วเกินไปเด็กตั้งรับไม่ทัน

ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วใครจะทำ รัฐบาลมีอายุยืนถึงขนาดนั้นไหม เกิดเปลี่ยนรัฐมนตรีขึ้นมานโยบายมันก็เลิก ฉะนั้น ช่วงนี้ คสช. จะทำอะไรต้องรีบทำ จะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องรีบดำเนินการ กฎหมายดีๆ นโยบายดีอะไรดีๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องมันเกิดในรัฐบาลปกติไม่ได้หรอก ถ้าเทียบกับรัฐบาลยุคก่อนๆ มันจะลอยไปลอยมาแต่ตอนนี้ ถ้าให้ผมประเมิน คสช. ยังไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แก้ปัญหาบางเรื่องสำคัญๆ แต่ถ้าพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษายังไปไม่ถึงดวงดาว ถ้า คสช. ยังมีเวลา การปฏิรูปการศึกษามันถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมายแม่มีผลต่อกฎหมายลูก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีอะไรต้องทำเยอะแยอะ ตอนนี้เรายังไม่เห็นภาพ ความชัดเจน การออกจากหลุมดำการศึกษาที่เราติดมาเป็น 10 ปี จะก้าวออกไปยังไง ก้าวอย่างมั่นคงก้าวอย่างมีทิศทางอย่างมียุทธศาสตร์ ผมให้คะแนน คสช. 6.5 จากคะแนนเต็ม 10

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องการปฏิรูปการศึกษา หรือแนวการคิดอะไรต่างๆ มันยังเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มันไม่มีความหลากหลายแตกต่าง คนไม่รู้จริงอยู่ในวงการปฏิรูปการศึกษามากเกินไปแล้ว พวกนี้จะเข้าแล้วมาทำเรื่องปฏิรูปการศึกษามันจะทำให้เราหลงทิศหลงทาง แล้วเขาเข้ามาเยอะมาก สังคมไทยเป็นระบบคอนเนกชันระบบพรรคพวก ระบบที่ไม่ยอมเห็นความแตกต่าง ไม่เข้าใจความขัดแย้ง อยากจะให้ทุกคนทำงานที่ตัวเองสั่ง เห็นตามผู้นำ ซึ่งในบทบาทการศึกษามันไม่ได้มันต้องฟังรอบด้าน ต้องฟังมุมที่คนคิดว่ามันไม่ใช่ คนเห็นต่างกับผมตั้งเยอะ ผมก็มองว่าเขามีพื้นฐานมีวิธีการคิดแบบนี้ ผมเองยังคิดแตกต่างจากคนอื่นเลย แต่ในขณะนี้คนในวงการปฏิรูปการศึกษา เรียกว่า Homogeneous เป็นคนกลุ่มเดียวกัน คิดเหมือนกันคล้อยตามแล้วก็ไปทางเดียวกัน อันตรายมากกับการปฏิรูปการศึกษา


ระบบการศึกษาไทยที่อาจารย์อยากเห็นเป็นอย่างไร

หนึ่ง มีรัฐธรรมนูญแล้ว การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ต้องทิ้งแล้วเขียนใหม่หมด แล้วอิงปรัชญาของตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมันมีกฎหมายลูกที่เกิดจาก พ.ร.บ. ตัวนี้ที่กดทับและเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 18 - 20 ฉบับ ซึ่งมัดประเทศไว้หมดด้วยระบบกฎหมาย ข้อบังคับ กฎกระทรวง ทั้งโครงสร้างทั้งระบบ วัฒนธรรมองค์กร พวกนี้มันถูกสร้างฟอร์มขึ้นมากับ 14 กรม การกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งไม่ใช่กระจายระบบกฎหมายโดยไปสู่โครงสร้างระบบ ผมผ่านงานรัฐมนตรีมา 2 - 3 คนแล้ว ที่บอกอย่าไปทำเรื่องโครงสร้างเรื่องระบบเรื่องกฎหมาย ไปทำเรื่องปฏิรูปการเรียนรู้กัน 2 รอบแล้ว เฟลทั้งสองรอบ แล้วก็กลับมาสูระบบเดิม

สอง ระบบหลักสูตรการเรียนรู้ จะทำอย่างไรโครงสร้าง 8 กลุ่มสาระ วัดตัวมาตรฐานบ่งชี้ ทำอย่างไรให้เหลือ 5 กลุ่มสาระ เน้นเรื่องโครงงาน การลงมือปฏิบัติ เน้นเรื่องการสร้างคุณลักษณะ สมรรถภาพ หลักสูตรขณะนี้ตั้งกรรมการมา 2 ปีแล้วไม่เดินหน้าเลย ถ้าคุณไม่เปลี่ยนหลักสูตร เครื่องมือของการสร้างมนุษย์ คุณก็จะพบเด็กไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม เครื่องมือการเรียนรู้เราพิการ ตัวหลักสูตรเราไม่เคยพยายามแก้มัน

สาม ครูระบบปิด เราผลิตครูละเกือบแสน แต่ด้อยคุณภาพ ระบบหลักสูตรครู 5 ปี กับผู้บริหาร เป็นธุรกิจล้วนๆ พูดตรงไปตรงมา คนเรียนบริหารเยอะแยะเรียนครูกัน 5 ปี ผลิตครูลวกๆ ได้ไง ระบบปิดหมายความว่าเราต้องจำกัดจำนวนรับ ปีนึงครูเกษียณเท่าไหร่ เราจะรับครูเท่าไหร่ เราผลิตแบบให้ทุนให้ตำแหน่ง สร้างทัศนคติที่ดี ฝึกให้ดี ฝึกให้หนัก มีทัศนคติที่ดี ดูแลเด็กได้ดี ทำอย่างไรให้ทยอยส่งคนเขาระบบ แล้ว 10 ปี เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

สี่ การวัดและประเมินผล คุณวัดปรนัยมาโดยตลอด เน้นเรื่อง ONET แต่คุณบอกจะสอบอัตนัตสอบหรือยัง ระบบถ้าประเมินแล้วไม่ได้เรื่องทำไมไม่จัดการมัน เป็นปัญหาทุกปี ทำไมคุณไม่จัดการ คุณจะปฏิรูปหรือยุบก็ว่ากันไปสิ ทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกับการทำงานของครูและผู้บริหาร โดยยึดผลพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงของเด็กเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปยึดบ้าเอกสาร

ห้า การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรามีเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส สารพัดเลยประมาณ 3 - 5 ล้านคนที่ตกขอบ ถูกผลักออกจากระบบการศึกษามากมาย เราจะช่วยกลุ่มนี้ได้อย่างไร เราจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไรให้เขามีโอกาสมากขึ้น ได้เรียนกับครูดีๆ ไม่ใช่กระจุกอยู่ โรงเรียนดีเด่นดังไม่กี่ร้อยโรงเรียน ทำไมถ้าเราจะอัปประเทศอัปคน คนที่มีโอกาสและเรียนดีไม่ต้องไม่ช่วยเขา แต่คุณต้องช่วยคนที่ด้อยโอกาส เด็กยากจน ระบบการศึกษาต่อไปเราต้องไม่มองเป็นเรื่องสังคมสงเคราะห์ ต้องมองเรื่องการช่วยเหลือ การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ต้องมี ที่ไม่ใช่ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) เด็กพวกนี้ต้องให้เรียนฟรี หรือเหมือนกับเด็กแรกเกิดให้ไปเลย 600 บาท เด็กกลุ่มนี้เราต้องหาให้เจอส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่พวกเขา

หก รัฐจัดการการศึกษาตามลำพังถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ไปไม่รอดแล้ว มีงานวิจัยสำคัญมากชิ้นนึง ที่แล้วมาระบบการศึกษาของเราระบบความล้มเหลว หมายความว่าเรามีแผนมีนโยบายการศึกษาจากส่วนกลาง แล้วทำนโยบายจากบนลงสู่ล่าง งานวิจัยสภาวิจัยแห่งชาติ บอกล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น ทำนโยบายทำแผน แล้วประชุมสัมมนาอบรมทำเอกสารคู่มือนำร่องแล้วบอกแต่ละเอาอิมพลีเมนต์ สิ่งที่เกิดขึ้นคนรับรู้มีความเข้าใจพื้นฐานแตกต่างกันไป ฉะนั้น ก็ทำไปคนละทิศคนละทาง แต่พอเริ่มเข้าใจข้างบนเปลี่ยนอีกแล้ว สาเหตุที่เกิดขึ้น นโยบายแผนการศึกษาจากบนลงสู่ล่างแล้วลงไปที่สุดท้าย สถานศึกษา ครู และเด็ก เราล้มเหลวมายาวนาน และเรากำลังจะเข้าไปสู่กรณีเดิมอีก นโยบายบนลงสู่ล่างคนที่รับกรรมหนักคือครู ครูไม่สิทธิโต้แย้งปฏิเสธนโยบาย สั่งอะไรก็ต้องทำ มันไม่ได้สร้างสรรค์หมด มันทำให้ครูสูญเสียชีวิตความเป็นวิชาชีพอย่างมากเพราะถูกระทำ ถูกรังแกจากนโยบายไฟไหม้ฟางพวกนี้

เรื่องสุดท้าย เจ็ด เรื่องงบประมาณจะทำอย่างไรให้มันลงไปสู่ตัวเด็ก แต่เรื่องระบบงบประมาณบ้านเราปฏิเสธมาตลอด ถ้าไม่ปฏิรูประบบการเงิน คุณก็เป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดแต่ได้คุณภาพต่ำที่สุดในโลกเหมือนเดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น