สะเทือนใจ... ตัวอักษรร่ำไห้จากเด็กน้อยทั้งสอง กำลังร้องเรียกหาพ่อ..พ่อผู้เคยส่งเสียเลี้ยงดูแม้กายพิการ พ่อผู้เคยหลังขดหลังแข็งยืนขายขนมปังสู้เพื่อลูก... “พ่อสมเกียรติ” กลายเป็นเพียงภาพอดีตเมื่อถูก “แก๊งลูกตำรวจ” รุมแทงจนหมดลมหายใจ...
ถึงวันนี้ที่กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไป แต่ข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" ที่เคยเรียกร้องเอาไว้กลับหายไป..หายไปพร้อมพ่อของหนูๆ ใช่หรือไม่? ยังไม่มีใครตอบได้ ได้แต่ภาวนาขออย่าให้หายไปพร้อม “ความยุติธรรม” กับ “ความฝัน” ในวันข้างหน้าของเด็กๆ เลย...
เทวดาจะช่วยพ่อได้ไหมครับ?
[ขอบคุณภาพ: หนังสือ "พ่อผมหายไปไหน" รายได้จากยอดขาย เป็นทุนการศึกษาให้น้องทั้งสองคน]
“4 พ.ค.59 งานวันสุดท้าย วันนี้ ผมก็ยังเสียใจอยู่ แต่วันนี้ เป็นวันที่จะเผาพ่อของผม แต่ก็ไม่ได้เผาเพราะว่ากลัวคดีไม่คืบหน้า เลยเอาศพไปเก็บไว้โลงเย็น ย่าเอาแต่ร้องไห้ โตขึ้น ผมจะเป็นตัวแทนของพ่อดูแลย่านะครับ”
“5 พ.ค.59 ผมอยู่บ้าน ผมคิดถึงพ่อ ผมอยากให้พ่อกลับมาหาผม ผมแอบร้องไห้อยู่คนเดียว ผมรักพ่อมากครับ ไม่มีวันไหนที่ไม่รักพ่อ เทวดาจะช่วยให้พ่อกลับมาได้ไหมครับ”
“6 พ.ค.59 ทำบุญเจ็ดวัน ผมเศร้าและร้องไห้เมื่อเห็นรูปของพ่อ ได้นิมนต์พระมาสวดแล้วก็เลี้ยงพระเพล ผมคิดถึงพ่อมาก ผมไม่อยากให้พ่อตาย ผมรักพ่อครับ ผมสวดมนต์ให้พ่อทุกคืนเลย พ่อได้ยินผมไหมครับ”
เด็กชายปองธรรมและเด็กชายวรายุส ศรีจันทร์ ฝากเสียงสะอื้นของพวกเขาเอาไว้ผ่านตัวอักษร ตีพิมพ์ความเจ็บปวดออกมาเป็นหน้ากระดาษ เพื่อนำรายได้จากการขายทั้งหมด ไปเป็นทุนการศึกษาให้กับตัวเอง หลังไร้ร่มเงาของ “คุณพ่อสมเกียรติ ศรีจันทร์” เอาไว้ให้พึ่งพิงแล้ว...
[ขอบคุณภาพ: หนังสือ "พ่อผมหายไปไหน" รายได้จากยอดขาย เป็นทุนการศึกษาให้น้องทั้งสองคน]
หนังสือเล่มนี้คือผลจากความร่วมมือของฝั่งผู้สูญเสีย จากกรณี “แก๊งลูกตำรวจรุมฆ่าชายพิการ” เพราะบันดาลโทสะจากคำพูดถากถาง จนกลายเป็นคดีที่ถูกจับตามองมากที่สุดคดีหนึ่งมาจนถึงตอนนี้ ถึงแม้ล่าสุดผู้ต้องหาทั้ง 7 จะถูกจับกุมและส่งตัวเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว แต่ข้อสงสัยเรื่องอภิสิทธิ์ความเป็น “ลูกตำรวจ” ก็ยังคงค้างคาใจหลายๆ คนอยู่
เมื่อผลออกมาว่า ผู้ต้องหาทั้ง 7 ถูกยื่นฟ้องไปทั้งหมด 3 ข้อหา แต่ไม่มีข้อหาหนักอย่าง "ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" อย่างที่โลกโซเชียลฯ คาดหวังไว้ เหลือเพียงข้อหา 1.ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 2.ร่วมกันพกพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร และ 3.ร่วมกันบุกรุก โดยมีอาวุธมีด โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดย 2 ข้อหาแรกนั้น ถูกจัดหนักให้ครบทั้ง 7 คน ส่วนข้อหาที่ 3 มีเพียง 4 คนในแก๊งลูกตำรวจแก๊งนี้เท่านั้นที่ต้องถูกไต่สวนกันต่อไป
[อาวุธที่ใช้ก่อเหตุ]
ลองย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ วันที่ 1 พ.ค.59 ในซอยโชคชัย 4 แยก 69 คือสถานที่ที่ต้องนองไปด้วยเลือด หลังมีกลุ่มวัยรุ่นขี่รถมอเตอร์ไซค์มาละแวกนั้น แล้วส่งเสียงเย้ยหยันถากถางชายพิการ เจ้าของร้านขนมปัง เกี่ยวกับเรื่องขาที่ลีบและแขวะเรื่องชื่อร้านของเขา เมื่อระงับอารมณ์ไว้ไม่อยู่ ผู้เสียหายจึงด่าทอกลับไป เป็นเหตุให้แก๊งโจ๋บันดาลโทสะ โทร.เรียกกลุ่มเพื่อนพร้อมอาวุธมาสมทบ ก่อนลงมือรุมฟันไม่ยั้ง ทั้งยังเกทับให้ยำเกรงเพิ่มอีกว่าพวกเขาเป็นลูกตำรวจ
แม้ภายหลังจะมีตำรวจเข้ามาระงับเหตุด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า และนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล แต่ด้วยร่างกายที่บอบช้ำ บาดแผลฉกรรจ์ที่ถูกฟันตรงจุดสำคัญและทุบด้วยของแข็งหลายแห่ง จึงไม่อาจยื้อชีวิตเหยื่อเอาไว้ได้ สุดท้าย เด็กน้อยทั้งสองคนจึงกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อ และได้แต่ร้องขอให้เทวดาที่อยู่เบื้องบนช่วยส่งคนที่เขารักที่สุดกลับคืนมาเท่านั้นเอง...
“คงยังไม่ลืมเรื่องราวของชายพิการที่ถูกแก๊งลูกตำรวจรุมฆ่าอย่างเหี้ยมโหดได้นะครับ เรื่องกระบวนการทางกฏหมายก็รอดูกันไป แต่ที่สำคัญคือครอบครัวของเขา ที่ขาดหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของครอบครัวไป เหลือแต่ลูกเล็กๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน เขาจะทำยังไงต่อจากนี้ไป
[จบลงที่ความสูญเสีย]
ในภาพนี้เป็นหนังสือ "พ่อผมหายไปไหน" ที่สำนักพิมพ์แห่งนึงสร้างหนังสือเล่มนี้ โดยข้างในเล่มมีทั้งความคิดเห็น ความรู้สึกของคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่แม่ ภรรยา ลูกๆ ของผู้ตาย ทนาย เพื่อนบ้าน รวมไปถึงพ่อแม่พี่น้องชาวเน็ตหลายๆ คนที่มีส่วนร่วมในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ตาย
รายได้ทั้งหมดจากการขายหนังสือเล่มนี้ จะเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กทั้งสองคนครับ ใครสนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่...
นางธันยชนก ศรีจันทร์ (พี่สาวผู้ตาย) ธนาคารกสิกรไทย บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 012-8-83823-6 สาขาลาดพร้าว 71 โทร 08-1668-6965 , 08-3188-4427 , 08-2484-2440, Line ID0831884427 ค่าจัดส่งฟรีทั่วประเทศครับ ฝากแชร์อันนี้กันเยอะๆ หน่อยเพื่ออนาคตของเด็กทั้งสองคนครับ”
[ขอบคุณภาพ: หนังสือ "พ่อผมหายไปไหน" รายได้จากยอดขาย เป็นทุนการศึกษาให้น้องทั้งสองคน]
แฟนเพจ Drama-addict ผู้นำเสนอประเด็นร้อนในสังคมและติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้มาตลอด ขอเป็นอีกหนึ่งแรง ช่วยฝากฝังอนาคตของน้องๆ เอาไว้ เพื่อไม่ให้ครอบครัวนี้ต้องสูญเสียอะไรเพิ่มอีก ในขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าจะได้ความยุติธรรมมาครอบครองหรือเปล่า
"แม่เสียใจยิ่งกว่าตอนที่พ่อพวกนี้ขายเสียอีก แม่สงสารที่ลูกคงทรมานเจ็บปวดน่าดู มันโหดร้ายจังเลย หัวอกคนเป็นแม่นี่มันเจ็บไปหมด" ยายทอง แม่ของเหยื่อ ฝากเสียงเศร้าๆ ผ่านตัวอักษรเอาไว้ในหนังสือชื่อซื่อๆ ที่มีชื่อว่า "พ่อผมหายไปไหน"
นี่หรือคือผลของ #ลูกตำรวจแล้วไง?
[โฉมหน้า "แก๊งลูกตำรวจ"]
“พี่สมเกียรติครับ ผมขอโทษ ผมทำได้เท่านี้ ผมทำได้แค่นี้จริงๆ ครับ ผมทำไม่มากพอ ผมทำไม่เต็มที่ ผมทำช้าไป เพราะผมคิดเอาเองว่า การที่ผมไปยืนข้างถนนถือป้ายกระดาษจะทำให้คนที่ใช้ชีวิตในสังคมสนใจ และร่วมตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบของความยุติธรรม”
ธกร อำพันธ์เปรม พ่อค้าขายซาลาเปา ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี แต่ทนเห็นความอยุติธรรมไม่ได้ จึงตั้งตัวเป็นแกนหลักสำคัญ ช่วยจุดกระแสถือป้ายรณรงค์ "คนพิการถูกทำร้าย คนดีๆ ทำอะไรอยู่? #ลูกตำรวจแล้วไง" จนทำให้คนในสังคมหันมาร่วมส่งเสียงในคดีนี้อย่างกว้างขวางได้สำเร็จในวันวาน แต่ในวันนี้ เขากลับมาพร้อมถ้อยคำไว้อาลัย ขอโทษผู้ตายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ด้วยความรันทดใจที่ข้อหา "ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" หายไปจากลิสต์ ที่หวังว่าอัยการจะช่วยยื่นฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรม
[ธกร อำพันธ์เปรม ผู้จุดกระแสป้ายรณรงค์]
“เพราะผมคิดเอาเองว่า ประชาชนคนทั่วไปที่เห็นข้อความบนป้ายที่ผมถือในที่ต่างๆ จะสนใจและให้ความสำคัญต่อตัวบทกฎหมายมากขึ้น และร่วมผลักดันให้กรณีของพี่เป็นตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานของความยุติธรรม
เพราะผมคิดเอาเองว่า การทำเสื้อที่มีข้อความเดียวกันกับข้อความบนป้าย จะทำให้คนเห็นมากขึ้น เห็นการแสดงออกของผู้ที่ใส่เสื้อข้อความ ที่มีความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์นี้มากขึ้น และนั่นอาจจะทำให้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สุดท้ายของความล้มเหลวในเรื่องของความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม
เพราะผมคิดเอาเองว่า การที่มีคนเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมทำเกินหนึ่งแสนคน การที่คนหนึ่งแสนกว่าคนนั้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามในวงกว้างมากขึ้น จะทำให้เกิดการจุติใหม่การกำเนิดใหม่ของความยุติธรรม
[ยื่นชื่อ แจ้งข้อหา "ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" จำนวน 5 หมื่นคน ซึ่งตอนหลังเพิ่มเป็น 1 แสน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ...]
ผิดครับ ผมคิดผิด สิ่งที่ผมคิด ผิดหมดเลยครับ พี่สมเกียรติครับ ผมคิดผิด ผมขอโทษ ผมทั้งคิดผิด และ และคิดไม่รอบคอบ
ผมลืมครับ ผมลืม ผมลืมไปเสียสนิทเลยครับ ว่าบุคคลที่ลงมือก่อเหตุและทำร้ายคนพิการคนนึง (พี่สมเกียรติ) จนถึงแก่ความ 'ตาย' เหล่านั้น มีบิดามารดาทำและประกอบ 'อาชีพ' อะไรในสังคม
ผมลืมครับ ที่ผมลืม ก็เพราะผมคิดว่า 'ตำรวจ' ไม่ใช่ 'อาชีพ' แต่ 'ตำรวจ' คือ 'ข้าราชการ' ผมจึงให้เกียรติ และไม่เคยหมิ่นเกียรติ ข้าราชการฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย
คำถามครับ???? ผมมีคำถาม ผมขออนุญาตถามไปยัง ข้าราชการข้าราชการตำรวจทุกๆ ท่าน ว่า พวกท่านได้รักษาและดูแล รวมถึงได้ทบทวนเกียรติและศักดิ์ศรีของพวกท่าน แล้วหรือยัง???
ถ้าหากสมมติฐานว่า ลูกของท่าน ฆ่าคนพิการตายท่านจะแสดงออกและรับผิดชอบ ต่อ "หน้าที่" ข้าราชการ อย่างไร??
#ขีดเส้นใต้เอาไว้ พี่สมเกียรติครับ ผมและพี่ไม่เคยเจอและพบกันมาก่อน การจากไปของพี่ จะเป็น ตำนาน ตำนานที่สร้างความเปลี่ยน ตำนานที่สร้างคำถาม พี่สมเกียรติครับ ผมขอโทษครับ ผมทำได้เท่านี้ จริงๆ ขอโทษครับพี่...”
แม้จะต้องสร้างความผิดหวังให้แก่คนในสังคมเท่าใด แต่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ให้สัมภาษณ์เอาไว้ชัดเจนตั้งแต่วันแถลงข่าวคดีนี้แล้วว่า กรณีนี้ยังไม่เข้าข่ายข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" เพราะถึงแม้ว่าแก๊งก่อเหตุจะนำอาวุธติดตัวมาด้วย แต่ก็เป็นการนำมาใช้ป้องกันตัว และมาช่วยเพื่อน ไม่ได้ตั้งใจเอาอาวุธมาเพื่อฆ่าผู้ตายแต่อย่างใด จึงเหลือเพียงข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” ที่ถูกยื่นฟ้องและต้องรอผลการพิพากษาจากชั้นศาล
ทั้งนี้ ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ป.อาญา ม.288 แล้ว ระบุไว้ว่า ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี ขณะที่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อาญา ม.289 นั้น ต้องระวางโทษประหารชีวิต และหากทางฝั่งผู้สูญเสียรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการยื่นฟ้องของอัยการ ก็สามารถให้ทนายไปร้องต่อศาลได้โดยตรง หรือให้ญาติผู้ตายมาเป็นโจทก์ร่วมในชั้นศาลได้
แต่ดูเหมือนว่า อนันตชัย ไชยเดช ทนายความฝั่งชายพิการที่ถูกลูกตำรวจรุมฆ่า รวมถึงฝั่งผู้สูญเสีย จะยอมก้มหน้ารับผลการตัดสินทุกอย่างจากกระบวนการยุติธรรม ตามที่ได้เตรียมใจเอาไว้แล้ว และนี่คือคำอธิบายที่ทนายมากประสบการณ์ได้ฝากไว้ในรายการ “ถามตรงๆ” เป็นที่สุดท้าย ก่อนสำนวนทุกอย่างจะเข้าสู่ชั้นศาล
“ถ้าทางเราจะมาฟ้องใหม่เอง ก็มีแต่ผมกับคุณเมธัส และถ้าจะเรียกเอกสารจากทางอัยการมา เขาไม่ให้หรอกครับ ยกตัวอย่างเช่น สมมติผมจะเรียกผลการตรวจจากนิติเวช แล้วเอามาเพื่อจะอ้างในสำนวนที่ผมไต่สวนมูลฟ้อง ไปขออัยการเขาจะไม่ให้หรอกครับ เขาจะแทงมาเลยว่าเนื่องจากว่าสำนวนนี้ จะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นอัยการด้วย เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถให้ได้
สรุปคือ ถ้าทางอัยการไม่ส่งฟ้องเรื่องฆ่าโดยไตร่ตรอง เราก็จะยอมรับแค่นั้นครับ คุยกับทางครอบครัวผู้เสียหายแล้ว เพราะมันไม่เป็นประโยชน์กับรูปคดี และทำให้คดีล่าช้ามากครับ เพราะถ้าจะฟ้องเอง กว่าจะไต่สวนมูลฟ้องเสร็จ คดีก็สืบไปแล้ว
ทีแรก ผมก็คิดแล้วว่าความยากที่สุด มันอยู่ที่แรงเสียดทานของพนักงานสอบสวน แต่ตอนหลัง มาเจอแรงเสียดทานของอัยการ นี่แหละครับที่ถือว่ายากที่สุด”
...
..
.
[เด็กน้อยทั้งสอง ร่ำร้องหาพ่อ]
“...ผมคิดถึงพ่อ ผมอยากให้พ่อกลับมาหาผม เทวดาจะช่วยให้พ่อกลับมาได้ไหมครับ ผมสวดมนต์ให้พ่อทุกคืนเลย พ่อได้ยินผมไหมครับ...”
ได้แต่หวังว่าคุณพ่อสมเกียรติจะได้ยินเสียงจากแก้วตาดวงใจของเขา ได้แต่หวังว่า “เทวดาบนโลกสวรรค์” จะช่วยรับพรที่ลูกๆ ส่งไปให้ และช่วยส่งต่อๆ ไปจนถึงฝั่ง และได้แต่หวังว่า “เทวดาบนโลกมนุษย์” จะยังไม่หายไป
นอกจากต้องปล่อยให้เด็กน้อยทั้งสองเฝ้าคอยถามว่า "พ่อผมหายไปไหน" ขอได้ไหม อย่าให้เด็กๆ ต้องถามเพิ่มอีกข้อเลยว่า “ความยุติธรรมหายไปไหน” จากบ้านเมืองของเรา
[ครูหยุย ฝากไว้ให้เป็นกรณีศึกษา]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: onenews, fb.com/joy.loveking.98
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754