โลกออนไลน์นับวันยิ่งน่ากลัว หลายคนส่งต่อคำด่า คำเกลียดชัง สาดกระสุนถ้อยคำโดยไร้ซึ่งความอดกลั้น และความรับผิดชอบบนเสรีภาพที่ตัวเองมี ทั้งดูถูก เหยียดหยาม ย่ำยีหัวใจผู้อื่นจนลืมคิดไปว่า สิ่งเหล่านี้อาจฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น หรือคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ ล่าสุดกับความเศร้าใจกรณีเด็กสาวโพสต์กินยาฆ่าตัวตายโดยมีคนกลุ่มใหญ่เข้าไปรุมสับ ขับไล่ให้ไปตาย แบบนี้ เข้าข่าย "ร่วมด้วยช่วยกันฆ่า" หรือเปล่า
ถ้อยคำ = กระสุน ฆ่าคนได้
ท่ามกลางสังคมที่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทุกกลุ่มทุกคนจึงมีโอกาสถูกวิจารณ์ ถูกล้อเลียนเท่าๆ กัน ซึ่งหลายต่อหลายครั้งมักจะเห็นการใช้ถ้อยคำบนเสรีภาพที่เกินความเหมาะสม สั่งสอนผู้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วยวิธีการเอากันถึงตาย แต่ที่น่าเศร้าหนักไปกว่านั้น หลายคนตกอยู่ในหลุมของ "Hate speech" ด้วยการส่งต่อคำด่าโดยที่ไม่รู้สึกรู้สา หรือแคร์ว่าอาจมีผลกระทบต่อชีวิตใครชีวิตหนึ่งไปตลอดกาล
ล่าสุดกับกรณีเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งโพสต์ภาพ และข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นภาพกรีดข้อมือตัวเองเป็นแผลมีรอยยาว และมียาเม็ดจำนวนหนึ่งกำอยู่ในมือ พร้อมกับเขียนข้อความ "ขอโทษนะทุกคน อโหสิให้เราด้วย ดูแลตากับยายแทนเราด้วย ผิดที่รักมากไปไม่คิดเผื่อใจสักนิดเลย"
ทั้งนี้ ในภาพที่เด็กสาวโพสต์นั้น ยังมีจดหมายที่เขียนด้วยลายมือมีข้อความว่า "ขอให้มีความสุขกับคนที่เธอรักมากๆนะ เราคงไม่ใช่คนที่เธอรัก เราขอโทษที่เราเป็นแบบนี้ เพราะเรารักนายมาก เราขอโทษจริงนะ ไม่รักเราแล้วจะอยู่ทำไม เราไม่เหลือใครแล้วนิ"
ทันทีที่ภาพ และข้อความถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ ผู้เข้าไปโพสต์แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก แม้จะมีบางส่วนเข้ามาให้กำลังใจ แต่ส่วนใหญ่ก็เข้ามาตำหนิ ไปจนถึงรุมด่า และยุยง ขับไล่ให้ไปตาย ชวนให้ตั้งคำถามขึ้นมาในสังคมว่าอะไรทำให้คนเราโกรธ เกลียด หรืออยากวิจารณ์โดยไม่สนใจว่าถ้อยคำเหล่านั้นจะทำร้าย และฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น หรือคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ขนาดนี้
ที่หนักไปกว่านั้น มีคนนำภาพของเด็กหญิงไปทำเป็นมุกล้อเลียน ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ และตำหนิถึงการกระทำดังกล่าวว่าไม่สมควร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การเอามาทำเป็นมุกล้อเลียนขำขันอาจส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้ในอนาคตได้
กี่ครั้งแล้ว ทำไมไม่จำ
ไม่เพียงแต่กรณีนี้เท่านั้น หากใครยังจำกันได้เคยมีข่าวเด็กหญิงโพสต์ภาพตนเองพร้อมเชือกผูกคอ มีข้อความตัดพ้อในเรื่องความรัก หลังจากนั้นมีข้อความเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย ทั้งไล่ให้ไปตาย และสมน้ำหน้า รวมทั้งการนำไปแชร์ต่อจนเกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ถึงการโพสต์ภาพเตรียมลาไปผูกคอตาย กระทั่งเวลาต่อมามีผู้เข้ามาโพสต์ต่อว่า เด็กคนดังกล่าวผูกคอตายเสียชีวิตที่บ้าน พร้อมกับลงภาพของเด็กถูกผ้าห่มสีแดงคลุมร่างไว้ทั้งหมด หลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก็พบว่ามีนักเรียนที่ตกเป็นข่าวในโพสต์ผูกคอตายเสียชีวิตในบ้านจริง
แม้จะไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย แต่การยุให้ไปตาย หรือรุมสมเพชด้วยถ้อยคำต่างๆ นานา อาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมจนเขาหรือเธอหวนกลับมาลงมือตามแผนเดิมที่วางไว้ เช่นเดียวกับเหตุ "ฆาตกรรมออนไลน์" ในต่างประเทศที่มีให้เห็นอยู่หลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะกรณีเด็กนักเรียนทะเลาะกับเพื่อนทางเฟซบุ๊กแล้วเกิดอาการน้อยใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย อย่างในประเทศอังกฤษเคยมีข่าวการรังแกในหมู่เด็กโดยโพสต์ด่าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กจนทำให้เด็กฆ่าตัวตายมาแล้ว
นี่คือบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นว่า คำพูด หรือคอมเมนต์เพียงไม่กี่คำ อาจส่งผลต่อชีวิตใครคนหนึ่งได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังท้อแท้ สิ้นหวัง หรือเริ่มหมดคุณค่าในตัวเอง ทำให้ประเด็นการสมน้ำหน้าจากนักเลงคีย์บอร์ดถูกพูดถึงมาโดยตลอด รวมไปถึงกระแสรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ลบ Hate Speech หรือถ้อยคำทำร้ายคนบนโลกออนไลน์ด้วยความเกลียดชังออกไป
หยุด! ฆาตกรรมออนไลน์
กรณีวัยรุ่น หรือใครก็ตามที่โพสต์ภาพ และข้อความฆ่าตัวตายตัดพ้อชีวิต จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น "นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์" ได้เคยเขียนบทความไว้น่าสนใจจนเพจเฟซบุ๊ก "สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย" ต้องนำมาเสนอต่อเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
นพ.วรตม์ ได้เขียนถึงคำถามที่มักจะถูกถามบ่อยๆ ว่า "โพสต์ข้อความฆ่าตัวตายบนโลกโซเชียลฯ จะแยกได้อย่างไรว่าแบบไหน เรียกร้องความสนใจหรือต้องการความช่วยเหลือ" ซึ่งคำถามนี้ คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องแยก เพราะสุดท้ายแล้วคนเหล่านี้ก็คือคนที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งหมด ก่อนจะเผยว่า กลุ่มที่ถูกตราหน้าว่าชอบเรียกร้องความสนใจ (Attention-seeker) มักจะถูกมองด้วยความเหยียดหยามจากคนรอบข้าง แต่กลับไม่ค่อยมีคนตั้งคำถามว่าบุคลิกภาพแบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร มีปมอะไรถูกซ่อนอยู่ หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการที่รุนแรงในอนาคตก็เป็นได้
"เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเด็กวัยรุ่นที่เอาลิปสติกขีดแขนเป็นปื้นแล้วเขียนสเตตัสว่าอยากตาย ท้ายที่สุดจะไม่พัฒนาเป็นเด็กที่หยิบคัตเตอร์มากรีดข้อมืออย่างเงียบๆ จนต้องเข้าไอซียู ปัญหาทางสุขภาพจิตระยะแรกๆ มักเป็นแบบนี้แหละครับ ถูกแสดงออกอย่างไม่ตรงไปตรงมาและมักถูกมองข้าม สุดท้ายถูกปัดไว้ไปใต้พรมหรือฝังกลบไว้อยู่ใต้ดิน รอสะสมพลังจนกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ และจะแยกไปทำไม ในเมื่อคนที่ต้องการความช่วยเหลือ คือคนที่สังคมตัดสินว่าเขาน่าจะทำจริงๆ
ส่วนคนที่เรียกร้องความสนใจก็คือคนที่สังคมตัดสินว่าเขาไม่ทำจริงๆ หรอก เส้นบาง ๆ ตรงกลางที่ถูกขีดขึ้นมาโดยคนอื่นในสังคม เราชอบตัดสินเรื่องของคนอื่น บนพื้นฐานชีวิตของตัวเอง ประสบการณ์ของตัวเอง และความเชื่อของตัวเอง ทั้งที่เป็นคนนอกแท้ ๆ ไม่ได้อยู่กับเขา 24 ชั่วโมง ไม่ได้อยู่กับเขามาตั้งแต่เกิดซักหน่อยเลย จะทำจริง หรือ ไม่ทำจริง เจ้าตัวต่างหากที่รู้ดีที่สุด"
ทั้งนี้ ในฐานะแพทย์ที่อยู่ในสังคมยุคโซเชียลฯ เขายอมรับว่า โลกเปลี่ยนไปมาก ผู้ใหญ่ยุคก่อนอาจมองว่าการเขียนหรือโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเด็กสมัยนี้ คือ การโชว์ออฟ การเรียกร้องความสนใจ การเรียกไลค์ การระบายอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการอยากเป็นคนโด่งดังแบบเน็ตไอดอล นั่นเพราะคนเหล่านั้นขาดความเข้าใจในความสัมพันธ์ของสังคมโซเชียลฯ กับชีวิตเด็กยุคดิจิตอลในปัจจุบัน
"เด็กรุ่น Generation Me เป็นต้นมา ได้หลอมรวมการสื่อสารในชีวิตประจำวันของตัวเอง ทั้งการรับสื่อมาและการสื่อสารออกไป เข้ากับโลกโซเชียลมีเดียไปหมดแล้ว โซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือสื่อสารอีกต่อไป แต่มันผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น การแสดงออกถึงเจตจำนงแห่งความตายผ่านทางโลกโซเชียลในยุคปัจจุบันนี้ จึงมักจะสะท้อนบางอย่างภายใต้จิตใจของคนๆ หนึ่งได้เสมอ ไม่ว่าจะตั้งใจทำจริงๆ หรือไม่ก็ตาม
เอาเป็นว่า ถ้าเรื่องแบบนี้ผ่านตาเรามา เข้าไปช่วยเหลือเขาเถอะครับ ตั้งสติให้ดี ลดอคติที่อยู่ในใจ สุดท้ายจะให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง หรือ พิมพ์แค่ 'สู้ๆ' 'เอาใจช่วยนะ' ก็ดีมากแล้ว ส่วนนักเลงคีย์บอร์ดรุมกันแกล้ง รุมกันสับ รุมกันยุ นี่ผมขอเลยครับ นี่มันร่วมด้วย ช่วยกันฆ่าชัดๆ" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นเผยวิธีรับมือกรณีวัยรุ่นขู่ฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลฯ โดยชี้ให้เห็นว่าการยุยงไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ขอบคุณภาพประกอบจากคลิป Hate Speech ของโครงการ #forceForGood
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754