xs
xsm
sm
md
lg

เด็กอุ้มบุญเสี่ยงซึมเศร้า ชี้พ่อแม่ต้องบอกความจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิตเผย ในต่างประเทศพบเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญเป็นโรคซึมเศร้า ชี้พ่อแม่ต้องอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องอุ้มบุญ เหตุเด็กอาจสงสัยความรัก และเกิดพฤติกรรมการต่อรอง

วันนี้ (21 ส.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงภาวะอารมณ์ของเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ อุ้มบุญ ว่า แม่อุ้มบุญอาจไม่มีผลต่อภาวะอารมณ์ของเด็กโดยตรง แต่พฤติกรรมของแม่ที่อุ้มบุญอาจมีผลกับเด็ก เช่น ขณะตั้งครรภ์เกิดภาวะเครียด การกินอาหาร ซึ่งภาวะเหล่านี้ต้องระวังในการอุ้มบุญ ด้วยเหตุนี้ การทำอุ้มบุญจึงควรต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของแพทย์โดยหลักๆ คือ ต้องเป็นเครือญาติกัน เพื่อที่ก่อนตั้งครรภ์จะได้มีการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงผู้เป็นพ่อแม่ต้องมีการดูแลหญิงที่ตั้งครรภ์อย่างดีเสมือนเป็นการตั้งท้องร่วมเพื่อให้เกิดความผูกพันกับลูกที่จะเกิดมา

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า พ่อแม่ต้องอธิบายกับลูกเพื่อให้ลูกเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องให้คนอื่นอุ้มท้องแทนด้วย เพราะหากไม่อธิบาย เด็กก็จะมีปัญหาและภาวะอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การแสดงการต่อต้านในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีการแสดงอาการต่อรองเพื่อพิสูจน์ความรัก ซึ่งเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ สำหรับความรุนแรงของอาการนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อย่างเด็กอุ้มบุญในต่างประเทศมีภาวะซึมเศร้า แต่ในไทยยังไม่เคยพบ เนื่องจากส่วนใหญ่ครอบครัวของคนไทยจะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์น้อย

“แม้ส่วนใหญ่แล้วภาวะอารมณ์ของเด็กจะขึ้นอยู่กับผู้ดูแลเด็ก ถ้าเป็นการเลี้ยงดูแบบครอบครัวผู้ปกครองดูแลอย่างดีก็ไม่มีปัญหา แต่โดยส่วนใหญ่เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ เด็กมักจะมีคำถามถึงสาเหตุทีต้องใช้การอุ้มบุญ แต่ถ้าแม่เข้าใจตอบถึงสาเหตุที่ต้องใช้เทคโนโลยี เช่น เพื่อต้องการให้ลูกเกิดมา แต่ในเรื่องความรักแม่ก็จะรักเขาเหมือนเดิม เด็กก็จะปกติดี แต่หากพ่อแม่ไม่รู้จักวิธีอธิบาย พื้นฐานเด็กจะสงสัยเรื่องความรักของพ่อแม่ เนื่องจากเด็กไม่เข้าใจถึงเรื่องการถือกำเนิดของเด็ก เนื่องจากหากเป็นการเกิดตามปกติเด็กก็จะไม่มีความถามเหล่านี้ แต่ในการให้อุ้มท้องแทนไม่มีความชัดเจนเรื่องการเกิดเด็กก็จะมีปัญหา หรือฝั่งพ่อแม่เองก็ต้องระมัดระวังตั้งคำถามกรณีลูกมีปัญหาพ่อแม่ก็ไปตั้งคำถามกับเด็กว่าเป็นเพราะช่วงที่ไปอยู่ในท้องคนอื่นจึงทำให้เด็กมีปัญหาแบบนี้ใช่หรือไม่ ดังนั้น หากเลือกวิธีนี้แล้วพ่อแม่จะต้องไม่กินแหนงแคลงใจ เรื่องที่ลูกเกิดในผู้หญิงอีกคนต้องรับเด็กได้โดยสมบูรณ์ต้องยอมรับถึงการเกิดและพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะตามมา” พญ.พรรณพิมล กล่าว
 
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ความคืบหน้าในการสอบสวน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. คณะอนุกรรมการจริยธรรมเฉพาะกิจ ที่มี พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร เป็นประธาน ได้เรียกแพทย์ 3 ราย ที่ถูกกล่าวโทษมารายงานตัวและรับทราบกระบวนการสอบสวน ซึ่งทั้งหมดได้มาให้รายงานแล้ว แต่ต้องให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการในการดำเนินการไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แพทยสภาได้เร่งรัดในการแก้ประกาศเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ทันในเดือนหน้า โดยจะเข้มงวดในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และบังคับให้มีคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อพิจารณาสำหรับกรณีที่ต้องอุ้มบุญ รวมทั้งเพิ่มให้มีจิตแพทย์ มาอยู่ในกระบวนการเพื่อวิเคราะห์สุขภาพจิตของคู่พ่อแม่ และผู้อุ้มบุญ ว่ามีความพร้อมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากกรณีพ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น ถือว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและจะนำไปสู่การสอบสวนในหลายๆ เรื่อง และถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ปกติ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น