xs
xsm
sm
md
lg

กะเทยเด็กกินยาคุมพุ่ง เชื่อสวยก่อนเฉาะ หมอรามาฯชี้เสี่ยงมะเร็ง เร่งตั้งคลินิกช่วยเด็กเพศที่ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.รามาธิบดี สำรวจพบเด็กหลากหลายทางเพศ “ตุ๊ด กะเทย ทอม ดี้” ครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว กระทบการเรียน เครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง ขณะที่การซื้อฮอร์โมน ยาคุมกินเองยังฮิตในหมู่กะเทยรุ่นเยาว์ เชื่อทำให้นมตั้งเต้า สวยก่อนเฉาะ อึ้ง! กินสูงกว่าแพทย์สั่งจ่ายถึง 5 เท่า เสี่ยงมะเร็ง โรคกระดูก ตับผิดปกติ เตรียมเปิดคลินิก Gen-V ช่วยเหลือ ก.ย. นี้

วันนี้ (18 ส.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวการเปิดให้บริการ “คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น” ว่า จากการสำรวจวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนมัธยมในเขต กทม. จำนวนประมาณ 2,400 คน เมื่อปี 2556 พบว่า มีความชุกของความหลากหลายทางเพศ อาทิ ตุ๊ด กะเทย ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล เป็นต้น ถึงร้อยละ 11 ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยในสังคม โดยจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกปฏิเสธจากครอบครัวและสังคม ส่งผลให้มีการศักยภาพด้านการเรียนที่ด้อยกว่าคนที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงมีอัตราเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงกว่า

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า ในการสัมภาษณ์เชิงลึกพบอีกว่า เด็กที่ต้องการข้ามเพศไปเป็เนพศที่ตัวเองต้องการ ทั้งเพศชายที่ต้องการกลายเป็นหญิง และเพศหญิงที่ต้องการเป็นชาย มีการใช้ฮอร์โมนในปริมาณที่สูงมาก โดยสั่งซื้อฮอร์โมนเพศมากินเอง โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ตที่มีการโฆษณาขายอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากความไม่เข้าใจที่ถูกต้อง จากปัญหาดังกล่าวเห็นชัดว่าการเข้าใจในเรื่องเพศในสังคม เพื่อนำไปสู่การยอมรับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงจัดตั้งคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gender Variation Clinic หรือ Gen-V Clinic) ขึ้นเพื่อดูแลเด็กหลากหลายทางเพศเหล่านี้แบบองค์รวม และช่วยสร้างความเข้าใจให้ครอบครัวทราบถึงบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ควรมีต่อบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทางการแพทย์ไม่ได้เชื่อว่าเพศจะแบ่งเป็นเพียงแค่ชายและหญิง แต่เพศมีความแตกต่างหลากหลาย จึงต้องมีคลินิกที่ให้การดูแลโดยเฉพาะ ทั้งนี้ คลินิก Gen-V จะมีทีมสหวิชาชีพคอยดูแล ประกอบด้วย กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาล และนักจิตวิทยา ให้บริการดูแลวัยรุ่นอายุ 10-24 ปี ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยจะเปิดให้บริการทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ คลินิกวัยรุ่น รพ.รามาธิบดี และทุกวันพุธ เวลา 17.00 - 02.00 น. นอกเวลาราชการ ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 รพ.รามาธิบดี เริ่มเปิดให้บริการวันแรกในวันที่ 12 ก.ย.” พญ.จิราภรณ์ กล่าว

ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายล้วนมีฮอร์โมนทั้งสองเพศในร่างกาย แต่จะมีความสมดุล การที่เด็กข้ามเพศไปซื้อฮอร์โมนจากอินเทอร์เน็ต หรือร้านขายยา มากินเองถือว่าอันตรายมาก เพราะเด็กเหล่านี้มักจะกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งบางครั้งสูงกว่าการที่แพทย์สั่งจ่ายฮอร์โมนถึง 5 เท่า อย่างผู้ชายที่ต้องการเป็นผู้หญิง ก็จะซื้อฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดมากินเพื่อให้นมตั้งเต้า หากหยุดกินหน้าอกก็จะกลับไปเป็นเช่นเดิม จึงมีการกินตลอด ซึ่งการการกินเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายจะเกิดผลข้างเคียงในระยะยาว ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก การทำงานของตับผิดปกติ ไขมันในร่างกายผิดปกติ รวมถึงอาจเป็นโรคเบาหวาน และโรคกระดูก

“การกินฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ว่ากินภายใน 1 - 2 สัปดาห์ หรือ 6 เดือนแล้วจะเกิดผลกระทบทันที แต่อาจเกิดผลกระทบในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ที่สำคัญคือเด็กเหล่านี้เมื่อกินฮอร์โมนเข้าไปแล้วไม่มีการตรวจเช็กสภาพร่างกายของตัวเองเลยว่าการทำงานของร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่ คลินิก Gen-V ก็จะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องเหล่านี้ด้วย”ศ.นพ.พัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งคลินิกดังกล่าวขึ้นมา จะทำให้คนเข้าใจผิดว่าเพศหลากหลายเป็นโรคที่ต้องรักษาหรือไม่ พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่แน่นอน การเป็นเพศหลากหลายไม่ใช่ความผิดปกติที่จะต้องรักษาให้กลับสู่เพศเดิม ซึ่งมีการศึกษาชัดเจนแล้วว่า การพยายามทำให้เด็กข้ามเพศกลับไปสู่เพศเดิมในช่วงวัยรุ่นจะก่อผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เด็กเกิดความทุกข์มากยิ่งขึ้น การตั้งคลินิกนี้จึงเป็นลักษณะการดูแลเด็กที่มีปัญหามากกว่า เช่น การไม่เข้าใจของครอบครัว สังคม การปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียมของครู และเพื่อน ซึ่งตัวพ่อแม่เองก็ไม่แน่ใจบทบาทของตนเอง สับสนว่าควรปฏิบัติตัวต่อลูกอย่างไร การให้บริการจึงเป็นลักษณะให้การปรึกษาดูแล เพื่อก้าวข้ามความสับสน ผลสุดท้ายคือเด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ พ่อแม่มีคำตอบในการปฏิบัติตัวกับลูก เพิ่มบรรยากาศความสัมพันธ์ครอบครัวให้ดีขึ้น

พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เพศหลากหลายไม่ใช่โรค แต่ที่เด็กเหล่านี้มีปัญหาเพราะไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ส่วนใหญ่ที่พบก็คือเกิดความเครียดและซึมเศร้า เนื่องจากมีการทะเลาะกันในครอบครัว

นายภานุพงษ์ บุญเปี่ยม นักเรียนโรงเรียนใน กทม. แห่งหนึ่ง ซึ่งมีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศไปซื้อฮอร์โมนมากินเองเพื่อให้นมตั้งเต้ามีสูงมาก เรียกว่าเป็นค่านิยมในหมู่กะเทยก็ว่าได้ เพราะมีความเชื่อและมักบอกต่อๆ กันว่ากินแล้วจะสวย มีหน้าอก พอโตขึ้นเมื่อพร้อมก็จะไปศัลยกรรมเพื่อเป็นผู้หญิงได้เลยทันที ส่วนตนก็เคยซื้อมากินเช่นกัน ก็รู้สึกว่านมตั้งเต้าขึ้น เอวคอดลง รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้หญิง แต่กินได้ประมาณ 2 เดือนกว่าก็หยุด ตอนนี้ก็ไม่ได้กินแล้ว เพราะรู้ว่ามีโทษโดยเฉพาะเรื่องมะเร็ง จึงคิดว่ารอให้ตัวเองพร้อมแล้วค่อยไปทำศัลยกรรมทีเดียวดีกว่า

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น