xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจหนูด้วย! หนูเป็น "เด็กสมาธิสั้น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จริงอยู่ โรคสมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่งและวู่วาม หุนหันพลันแล่น ที่อาจมีสาเหตุมาจากการได้รับการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม หรือเกิดจากภาวะที่มีผลต่อสมองนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาขาดสารอาหารหรือได้รับสารพิษ การคลอดมีปัญหา เด็กเป็นโรคลมชักหรือสมองอักเสบ ส่งผลให้สารโดปามีนและนอร์เอปิเนฟริน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่คุมสมาธิมีปริมาณน้อยกว่าเด็กปกติเด็กจึงมีสมาธิสั้น

แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูที่ดีและถูกต้องก็สามารถช่วยทำให้เด็กจำนวนมากมีอาการดีขึ้นได้

บอกเล่าได้จาก นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลายครอบครัวอาจมองข้ามไปว่าการที่เด็กดื้อ ซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่าย หุนหันพลันแล่น หรือ เหม่อลอย หลงลืมบ่อย ทำการบ้านไม่เสร็จ ไม่เป็นระเบียบ มักเป็นธรรมชาติของเด็กที่กำลังโต มีพัฒนาการ จนเกิดความชะล่าใจ เมื่อปล่อยนานไปก็ยิ่งมีอาการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้น และหากไม่ได้รับการรักษาและดูแลที่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบด้านการเรียนและพฤติกรรมของเด็ก เช่น สอบตก เกเร หนีเรียน และก้าวร้าวได้

จิตแพทย์ขยายความถึงความสำคัญของการเลี้ยงดูที่มีผลต่อเด็กสมาธิสั้นว่า จริงๆ แล้ว เรื่องโรคสมาธิสั้น เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพันธุกรรม กรรมพันธุ์ด้วย อย่างไรมันก็อาจถูกถ่ายทอดมา อาจจะไม่สามารถที่จะป้องกันได้ เพียงแต่ว่า พฤติกรรมหรืออาการที่มันเป็นปัญหาอาจจะดีขึ้นได้ หรือแตกต่างกันได้ด้วยเรื่องของการเลี้ยงดู

"บางทีถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ แม้ว่าเด็กจะดื้อ ซน แต่เราก็หนักแน่น การที่จะให้เด็กมีระเบียบวินัย หรือทำอะไรต่างๆ หรือช่วยเหลือเขาให้จัดตารางสอน จัดตารางการทำงานต่างๆ ก็ทำให้เด็กมีระเบียบวินัยมากขึ้น ตรงนี้จะช่วยให้อาการสมาธิสั้นที่มันจะดูรบกวนเวลาเรียน รบกวนคุณพ่อคุณแม่น้อยลงไปได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือการเอาใจใส่ดูแล สร้างความผูกพันกับลูก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าการที่คุณพ่อคุณแม่รักและเป็นห่วงมันก็ทำให้เขาอยากจะเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นก็ทำให้การดูแลเด็กสมาธิสั้นง่ายขึ้น" จิตแพทย์เผย

อย่างไรก็ดี การดูแลเด็กที่เป็นสมาธิสั้น นอกเหนือจากพ่อแม่แล้ว ครูมีส่วนสำคัญและสามารถช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นได้

"คุณครูจะเป็นคนที่เห็นเด็กเยอะ หลายคน แล้วจะเห็นว่าเด็กคนไหนที่แตกต่าง เด็กคนนี้อาจจะดูซนกว่าคนอื่น บางทีงานต่างๆ ก็ไม่ค่อยเรียบร้อย ลืมส่งงาน ลืมทำงานบ้าง ถ้าคุณครูมีโอกาสที่จะได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้บ่อยๆ หรือเด็กคนไหนที่ครูสงสัยว่าเขามีอาการสมาธิสั้นหรือเปล่า มีปัญหาการเรียน การพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หรือบอก ก็จะช่วยให้เขาได้เข้าสู่การรักษาที่เร็วขึ้น เพื่อที่จะดูแลกันให้ง่ายขึ้น แล้วคุณครูก็เหนื่อยน้อยลง" จิตแพทย์เผย ก่อนจะบอกต่อไปอีกว่า เพื่อนๆ ของเด็กก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน

"บางทีเด็กที่ต้องกินยารักษาเรื่องของสมาธิสั้น อาจรู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจอยู่บ้าง แม้ความคิดว่าจะเป็นโรคจิตหรือเปล่ามันจะน้อยลง แต่บางทีก็ยังน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ดี การที่ไม่ล้อ ช่วนทำให้เด็กมีความรู้สึกดีกับสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น หรือในกรณีที่เด็กสมาธิสั้นอาจจะมีจดการบ้านหรือสิ่งที่ครูสอนไม่ทันบ้าง หรือจดผิดๆ บ้าง ท้ายชั่วโมงก็อาจเอามาให้ดู ก็ทำให้เขาจดงาน ตามงานได้ทัน หรือบางทีดูเพื่อนเริ่มเหม่อๆ ก็ตักเตือนธรรมดา นิดๆ หน่อยๆ ก็ทำให้เขากลับมาเรียนได้"

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังสงสัยว่าลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่ จิตแพทย์แนะนำว่า ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์ และคนที่เกี่ยวข้องต้องหารือทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกัน ปรับเปลี่ยน โดยพ่อแม่ควรตื่นตัวหมั่นสังเกตอาการของลูก และตระหนักก่อนว่ามันมีโรคนี้อยู่จริงๆ แล้วเด็กก็ไม่ได้อยากจะเป็น เพียงแต่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้ว่าอาการอะไรที่เราควรจะต้องสงสัย

"เดี๋ยวนี้เรื่องของแบบประเมินที่เป็นออนไลน์ก็มีค่อนข้างเยอะ อาจจะลองหามาทำดู ทั้งทำด้วยตัวเอง หรืออาจจะให้คุณครูช่วยประเมิน หรืออีกส่วนหนึ่งก็คือไปพุดคุยกับคุณครูอยู่บ่อยๆ ว่าเขามีลักษณะอะไรที่รบกวนคุณครูบ้างหรือไม่ หรืออาจเป็นปัญหาในห้องเรียน จะได้นำสู่การรักษาได้เร็วขึ้น" จิตแพทย์แนะ

ส่วนวิธีการสังเกตอาการของเด็กสมาธิสั้นลักษณะไหนที่อาจจะต้องพาไปพบจิตแพทย์หรือกุมารแพทย์ นพ.คมสันต์ บอกว่า มีกลุ่มอาการอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ
1.กลุ่มอาการสมาธิสั้น สามารถสังเกตได้โดยเด็กจะมีความวอกแวกง่าย เหม่อลอย ขี้หลงขี้ลืม อาจจะจัดเรื่องของระบบระเบียบงานไม่ได้ว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง สั่ง 3 อย่างได้ 2 อย่าง สั่ง 3 อย่างได้อย่างเดียวบ้าง หรืออาจะเป็นในลักษณะของงานหรือการบ้านที่ทำออกมาแล้วไม่เรียบร้อย ไม่รอบคอบ อันนี้เป็นอาการในกลุ่มของ ขาดสมาธิ หรือแม้แต่สิ่งเร้าเล็กๆน้อยๆ ก็สามารถทำให้เด็กเสียสมาธิได้แล้ว เช่น นั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนพอมีคนเดินผ่านก็จะหันไปดูโดยทันที เป็นลักษณะเป็นความไวต่อสิ่งเร้าภายนอกโดยผ่านทางตาและหู

2.กลุ่มอาการซนมากกว่าปกติ และหุนหันพลันแล่น คือลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่วๆไป ซนแบบไม่อยู่นิ่ง มักอยู่ไม่เป็นสุข ลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา และชอบปีนป่ายขึ้นไปบนโต๊ะเก้าอี้บ่อยๆ เล่นเลอะเทอะ หรือเล่นอะไรแล้วรุนแรง

ถามต่อไปว่า ในเด็กสมาธิสั้นเมื่อไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกวิธีแล้ว จิตแพทย์บอกว่า จะเกิดผลกระทบต่อตัวเด็กค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการเรียน

"ถ้าหากว่าเขามีปัญหาการเรียนมาตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยประสบความสำเร็จ อาจจะถูกครูตำหนิ ถูกว่าบ่อยๆ สุดท้ายบางทีเด็กก็อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว บางคนที่เป็นเด็กสมาธิสั้น เขาจะมีปัญหาของพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าวร่วมด้วย ซึ่งเด็กที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ร่วมด้วยเมื่อโตขึ้น เขาก็อาจจะเป็นเด็กในลักษณะที่เกเร เพราะเขาไม่ได้มีเรื่องที่เขาภาคภูมิใจ สุดท้ายเขาอาจจะไปพบกับเพื่อนที่เกเร ไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียนเหมือนกัน ชวนกันหนีเรียน หนีเที่ยว หรือเป็นเด็กเกเร อันธพาล ไปเลยก็ได้" จิตแพทย์เผย

ไม่เพียงแต่เรื่องการเรียนเท่านั้น หากพ่อแม่รู้ช้าว่าลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น โดยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เด็กมีผลกระทบด้านพฤติกรรมตามมา เช่น เด็กที่มารักษาช้าพบว่าเป็นช่วงวัยรุ่นแล้ว ไม่ได้มาในเรื่องของสมาธิสั้น แต่มีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ เช่น ชอบออกจากบ้านดึกๆ ดื่นๆ ออกไปเที่ยวกับเพื่อนข้างนอกไม่ยอมกลับบ้าน หรือบางทีก็มีปัญหาเรื่องของยาเสพติด เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

"บางทีถ้าซักประวิติย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ เราพบว่าเขามีเรื่องของสมาธิสั้นมาก่อน ที่ไม่ได้รับการรักษา บางที่เขาต้องเบี่ยงเบนออกจากวิถีการเรียนไป เพราะเหมือนกับถูกคุณครูดุ ว่า หรือตำหนิอยู่บ่อยๆ แล้วก็ไปคบกับเพื่อนที่เกเรเหมือนกัน แล้วเขาก็ชวนกันไปมีปัญหาพฤติกรรมเกเรต่างๆ ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะถ้าเราสามารถทราบได้เร็ว รักษาเร็วมันก็จะดีขึ้น" จิตแพทย์ขยายความให้เห็นภาพ

สำหรับการรักษาโรคสมาธิสั้นนั้น นพ.คมสันต์ ให้ข้อมูลว่า การรักษาในปัจจุบันก็จะรักษาโดยการใช้ยา เป็นแค่การประคับประครอง ควบคุมอาการ ส่วนการจะหายขาดได้จริงๆ ตอนนี้ยังไม่มียาที่จะรักษาให้หายขาด แต่เด็กที่เป็นสมาธิสั้นประมาณสัก 30-40 % เมื่อโตขึ้นในวัยผู้ใหญ่ อาการพวกนี้ก็จะดีขึ้น หายไป แล้วก็หยุดยาได้ ในส่วนของวัยรุ่น เรื่องของซนอยู่ไม่นิ่ง ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ก็อาจจะคงเหลือเป็นเรื่องของสมาธิสั้นอย่างเดียว

เห็นได้ว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และความเข้าใจของคุณครู และกำลังใจการช่วยเหลือของคนรอบข้าง อาจจะเป็นญาติ หรือเพื่อนนั้นมีความสำคัญต่อเด็กสมาธิสั้นจริงๆ ที่สามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นดีขึ้น ซึ่งมีหลายกรณีพิสูจน์ว่า เด็กสมาธิสั้นไม่เพียงไม่เป็นปัญหาของสังคม แต่ยังสามารถเติบโต เป็นคนดีคนเก่งของสังคม เป็นที่พึ่งของตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งการทำความเข้าใจและหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กำลังใจในการรับมือช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นอย่างถูกทางนั้น นับเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจในเรื่อง "เด็กสมาธิสั้น" เข้าร่วมฟังการบรรยายให้ความรู้ได้ในหัวข้อ “ใครๆ ก็บอกว่าหนูเป็นเด็กสมาธิสั้น” ในวันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ สุขุมวิท 70/3 บางนา ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS บางนา (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) สนใจสำรองที่นั่ง และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 02-725-9595 หรือ www.manarom.com



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น