กรณีหญิงชราป่วยซึมเศร้า ดิ่งบ่อจระเข้ดับสยองที่เป็นข่าวเมื่อหลายวันก่อน ไม่เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดแก่บรรดาญาติและผู้ติดตามข่าว ยังเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมได้ตระหนักถึง 'โรคซึมเศร้า' ปัจจัยภายในที่แฝงเร้นในร่างกายคนเราที่อาจนำไปสู่หนทางมรณะของการฆ่าตัวตายโดยไม่รู้ตัว
นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ช่วงนี้กระแสสังคมมีความตื่นตัวให้ความสำคัญกับ 'โรคซึมเศร้า' มากขึ้น บางข้อมูลฟังดูแล้วน่าตกใจ ฟังดูน่ากลัว จนบางคนเริ่มสงสัยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า "โรคซึมเศร้านั้นคืออะไร" "มีใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า" "ถ้าฉันเป็นโรคซึมเศร้าแล้วจะต้องทำอย่างไร"
จิตแพทย์ ให้ความรู้ว่า อารมณ์เศร้านั้น เป็นอารมณ์พื้นฐานของทุกๆ คนอยู่แล้ว ทุกคนเกิดมาต้องเคยเศร้า เคยเสียใจ ส่วนใหญ่อารมณ์เศร้ามักเกิดตามหลังการสูญเสีย หรือเมื่อบุคคลนั้นต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ แล้วหาทางแก้ไขไม่ได้ ในคนปกตินั้นอารมณ์เศร้าจะเป็นอยู่ไม่นาน จะค่อยๆ ดีขึ้นเองและในที่สุดก็ปรับตัวได้ ทำใจได้ หลายคนสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส กลับมาฮึดสู้แก้ไขในสิ่งที่ทำให้เศร้าได้สำเร็จ
ส่วน 'โรคซึมเศร้า' นั้น จะมีลักษณะที่ชัดเจนและเป็นยาวนานกว่า คือ มีอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์หงุดหงิดที่เป็นมากและเป็นอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเอง ทำให้บกพร่องในเรื่องการคิด การตัดสินใจ ไม่สามารถทำหน้าที่การงานหรือการเรียนได้เหมาะสมดังเดิม บ่อยครั้งคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะไม่มีความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว เรียกง่ายๆว่า "ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น" "เบื่อหน่ายไปหมด"
รวมทั้งมีอาการต่างๆ เหล่านี้ตามมาด้วย เช่น กินเปลี่ยนไปจากเดิม เบื่ออาหาร กินข้าวไม่อร่อย หรือบางคนเป็นตรงกันข้าม คือ กินมากขึ้น ทั้งๆที่ไม่หิว ทำให้มีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลง เกินกว่าร้อยละ 5 ใน 1 เดือน หรือการนอนเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น นอนไม่หลับ นอนได้สั้นกว่าเดิมมาก มักตื่นก่อนเวลาตื่นประจำของตน หรือ บางคนจะนอนทั้งวันโดยไม่อยากลุกไปทำอะไร
นอกจากนี้ บางคนยังมีท่าทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เชื่องช้า ซึม เก็บตัว หรือบางคนเป็นตรงกันข้าม คือ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย รู้สึกอึดอัด รู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไร หลายคนจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดศีรษะ สมาธิ ความจำไม่ดี ทำให้ทำงานผิดพลาดมากกว่าที่เคย ทำอะไรก็ไม่มั่นใจทั้งๆ ที่เป็นงานที่ตนเคยทำอยู่เป็นประจำ มีความคิดเชิงลบต่อตัวเองและโลกภายนอก เชื่อว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ คิดว่าไม่มีทางหรือคงไม่มีใครจะมาแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีความคิดเช่นนี้มาก่อน มีความคิดเรื่องการตายหรือการฆ่าตัวตายอยู่ซ้ำๆ
"หลายครั้งที่บุคคลที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้นต้องเผชิญศึก 2 ด้าน ทั้งเจอกับอารมณ์เศร้าที่มาจากตัวโรคเองและยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวและคนใกล้ชิด บางคนมักจะมองว่า โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่เกิดจากความอ่อนแอ ความขี้เกียจจนเผลอไปวิพากษ์วิจารณ์หรือเอาความคิดของตัวเองไปตัดสินผู้ป่วย บางคนอาจจะมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ จึงมองข้ามไปและไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล บางคนอาจจะแนะนำให้อย่าคิดมาก ทำไมถึงยังไม่หายสักที ปัญหาแค่นี้เอง หรือรีบๆ ให้คำแนะนำไปในสิ่งที่ผู้ป่วยทำไม่ได้จริงในขณะนั้น ท่าทีต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้จะไม่เป็นผลดีต่อคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า" จิตแพทย์เผย
ด้าน นพ.พิชัย อิฏฐสกุล จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ ได้แนะนำข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยมีหลัก 9 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน และปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป
2. แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อน-หลัง และลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้
3. อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง
4. พยายามทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งดีกว่าอยู่เพียงลำพัง
5. เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไปเช่นการออกกำลังเบาๆ การชมภาพยนตร์ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม
6. อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือการหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี และต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่างเที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบัง ถ้าเป็นไปได้ และดีที่สุด คือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรคซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมากแล้ว
7.ไม่ควรตำหนิ หรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ เพราะ ไมใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้
8. อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะซึมเศร้าว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเอง เพราะโดยแท้จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของโรค หรือความเจ็บป่วย และสามารถหายไปได้เมื่อรักษา
9. ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นแต่ก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ ที่ไม่เข้าใจในความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และอาจสนองตอบในทางตรงกันข้าม และกลายเป็น การซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ
ปัจจุบันนี้โรคซึมเศร้ามีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย หากเราสังเกตเห็นคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และเข้าข่ายของภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว อย่ามองว่าเป็นความคิดแง่ลบที่สร้างขึ้นมาเอง มองโลกในแง่ร้ายเอง แต่ควรเปิดใจรับฟังและพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ เพราะโรคนี้ส่งผลรุนแรงแต่อาการอาจจะดูเหมือนคนมีอารมณ์วิตกกังวลเพียงเท่านั้น
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือศึกษาความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เพื่อสังเกตคนใกล้ชิดรอบข้างหรือสามารถดูแล และอยู่ร่วมกับผู้ป่วยหรือคนซึมเศร้าได้อย่างมีความสุข สามารถเข้ารับฟังการบรรยายในหัวข้อ “โรคซึมเศร้า : จะซึม จะเศร้า ยังไงก็เอาอยู่” ในวันเสาร์ที่ 20 กันยายน เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ สุขุมวิท 70/3 ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS บางนา (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) สนใจสำรองที่นั่ง และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 02-725-9595 หรือ www.manarom.com
ข่าว ASTVผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754