xs
xsm
sm
md
lg

"ซึมเศร้า" มัน (อาจ) ซ่อนอยู่ในตัวคุณ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทำเอาแฟนๆ ทั่วโลกช็อกไปตามๆ กัน หลังดาราฮอลลีวูดชื่อดังก้องโลก "โรบิน วิลเลียมส์" ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองลงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน โดยมีการวิเคราะห์ว่าเขาเป็น "โรคซึมเศร้า" โรคที่ใครหลายคนอาจไม่เข้าใจหรือไม่ก็กำลังเผชิญอยู่แต่ยังไม่รู้ตัว

อารมณ์หดหู่ ไม่อยากทำกิจกรรมที่ปกติเคยชอบทำ หมกมุ่น มีความคิดหรือรู้สึกถึงการไม่มีคุณค่า เสียใจหรือรู้สึกผิดอย่างไม่มีเหตุผล ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หมดหวัง เกลียดตัวเอง...เป็นอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย "ซึมเศร้า" ที่ แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกให้ฟัง ก่อนจะเผยข้อมูลต่อไปด้วยว่า ทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นจนน่าตกใจ

ที่น่ากลัวกว่านั้น ผู้ป่วยบางรายมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ซึ่งหลายคนไม่ปรากฏอาการใดๆ คือ ภายนอกดูปกติเหมือนคนทั่วไป บางคนดูอารมณ์ดี ร่าเริง แต่กลับมีภาวะโรคซึมเศร้าซ่อนอยู่โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เลย โดยภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อครอบครัวผู้ป่วย ความสัมพันธ์ส่วนตัว การทำงานหรือการเรียน การนอนหลับและการรับประทานอาหาร และสุขภาพทั่วไป

"ซึมเศร้า เป็นโรคที่แอบซ่อนอยู่ค่ะ คนกลุ่มนี้เขาก็จะเดินได้ พูดได้ ขับรถได้ ยังไปทำงานได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเศร้าอย่างเดียว พวกเขาจะอึมครึม พะอืดพะอม ใครทำอะไรก็ขัดหูขัดตา ขวางหูขวางตาไปหมด อีกลักษณะอาการคือ การกินเปลี่ยนแปลง บางคนกินไม่ลงผอมไปหลายกิโลกรัม บางคนอ้วนขึ้นเพราะเหลือสิ่งเดียวในชีวิตฉันที่เป็นความสุขคือ การกิน" แพทย์หญิงอภิสมัยขยายความ

คุณหมอ บอกอีกว่า คนไข้โรคซึมเศร้า มีอาการสำคัญอย่างหนึ่งคือ ตำหนิตัวเอง หรือตัวฉันเองคือต้นเหตุของความหายนะทั้งปวง รวมไปถึงอาการนอนไม่หลับซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการซึมเศร้าด้วยเหมือนกัน ส่วนในรายที่รุนแรง ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ บอกว่า จะแสดงอาการของภาวะทางจิตอย่างชัดเจน เช่น เห็นภาพหลอน หรือหลงผิด ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่ สมาธิแย่ลง และความจำสั้นในผู้ป่วยที่มีภาวะใจลอยร่วมด้วย ชอบแยกตัวออกจากสังคมและกิจกรรมต่างๆ ความต้องการทางเพศลดลง และมีความคิดเกี่ยวกับความตาย หรือการฆ่าตัวตาย

"บางคนยังมีความคิด หรือพฤติกรรมที่อันตราย เช่น ติดเหล้า เสพติดการพนัน หรือบางคนชอบขับรถเร็ว เพราะรู้สึกว่า ตายไปก็ไม่รู้สึกเสียดาย รวมไปถึงกลุ่มคนที่สามวันดีสี่วันไข้ เดี๋ยวก็ลา เดี๋ยวก็สาย" คุณหมอเสริม

อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนกลับมาให้ความสนใจกับโรคภาวะซึมเศร้านั่นคือส่วนมากโรคนี้มักเกิดกับดารา คนดัง คนมีชื่อเสียง ตัวอย่างดาราใกล้ตัว "แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์" รวมถึงฟากสาวฮอลลีวูด "แคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์" ก็เคยออกมาเผยว่าเคยตกเป็นผู้ป่วยโรคนี้ด้วยเช่นกัน

"ดาราไม่ได้เป็นกันเยอะขึ้นหรอกค่ะ เพียงแต่เปิดเผยกันมากขึ้น โรคซึมเศร้า พบอยู่ประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 100 คนจะต้องมี 4 คนที่เป็น อย่างกรณี โรบิน วิลเลียมส์ ก่อนตายเขาเข้าสู่กระบวนการบำบัดอยู่นะ แต่หมอตั้งข้อสังเกตเองว่า ซึมเศร้าแล้วพาตัวเองไปสู่การติดเหล้า ติดยา เพราะเวลาซึมเศร้าแล้วนอนไม่หลับก็ต้องดื่มเพื่อช่วยให้หลับ หรือเครียดก็อาจมีการใช้ยาเสพติดกระตุ้นให้มีแรง มีความสุข" พญ.อภิสมัยเผย พร้อมกับเน้นย้ำว่า

"เราต้องการให้สังคมรู้ว่า ซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ รักษาแล้วกลับมาเป็นคนเก่งได้เหมือนเดิม โรคนี้ไม่มีพิการหลงเหลือนะคะ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย ส่วนคนรอบข้างก็สำคัญ หมั่นสังเกตอาการของคนรักหรือเพื่อนก่อนที่จะสายเกินไป"

ปรับรพ.ให้เป็น "บ้าน"

ในอดีตแผนกจิตเวชจะให้ผู้ป่วยมาอยู่รวมกันเป็นนิคมผู้ป่วยจิตเวช ไม่มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีการเคารพความเป็นมนุษย์กัน แน่นอนว่าผู้ป่วยที่มีความทุกข์ใจอยู่แล้วต้องการสิ่งที่สวยงาม ต้องการความสงบ ต้องการสถานที่ที่ทำให้เขาสบายใจ และต้องการการฟื้นฟูตัวเอง

ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชแนวคิดใหม่ คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก ใส่ใจตั้งแต่การเลือกใช้โทนสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ภายในศูนย์จะตกแต่งให้อารมณ์เหมือนบ้าน มีมุมพักผ่อน แสงธรรมชาติส่องถึง เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นออกแบบโดยเน้นความปลอดภัยไม่มีเหลี่ยมหรือตะขอที่สุ่มเสี่ยงให้คนไข้ทำร้ายร่างกาย เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำเน้นความปลอดภัยระดับสูง

"เราสนับสนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช และให้ความสำคัญกับครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยผ่านโปรแกรม Consumer and Carer Consultation และ Community and Family Reintegration ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถฟื้นคืนสู่ศักยภาพเดิมให้มากที่สุด กลับคืนสู่ครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข" พญ.อภิสมัย ทิ้งท้าย

เรื่องโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์
กำลังโหลดความคิดเห็น