กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง เมื่อน้องกอหญ้าที่เป็นข่าวกอดศพผู้เป็นแม่กลับเป็นข่าวอีกครั้งว่าถูกป้าเลี้ยงทำร้ายทรมานถึงขั้นให้กินอ้วก! โดยมีข้อมูลอีกด้านระบุว่าป้าเลี้ยงดีแล้วแต่เด็กดื้อมาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนหลายประเด็นทางสังคม ตั้งแต่ความคิดความเชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกจนถึงการลงโทษเด็กในปัจจุบันที่ท้ายที่สุดก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สังคมยากจะตัดสิน
เด็กดื้อหรือป้าโหด
เมื่อราว 2 ปีก่อน เด็กหญิงกอหญ้าเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นข่าวนอนกอดศพแม่นาน 3 วัน พร้อมให้การว่าแม่เลี้ยงดูตนเองในช่วงที่เสียชีวิตไปแล้วจุดประเด็นเรื่องลี้ลับจนสังคมให้ความสนใจ มาถึงวันนี้เด็กหญิงคนดังกล่าวกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งว่าได้รับการเลี้ยงดูอย่างโหดร้ายทารุณจากป้าของเธอเอง
โดยต้นเรื่องดังกล่าวนั้นมาจากโลกออนไลน์และปากคำจากเพื่อนบ้านซึ่งบอกว่า เด็กหญิงกอหญ้านั้นถูกทำร้ายร่างกาย และบังคับให้กินอ้วกของตัวเอง บางปากคำบอกว่า รุนแรงถึงขั้นให้กินนอนร่วมกับสุนัข! ในเวลาต่อมาป้าของน้องกอหญ้าเผยว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นการลงโทษเพื่อให้เด็กมีวินัย และไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ แน่นอนว่า หลังจากนั้นก็มีกระแสสังคมทวงถามถึงความยุติธรรมและต่อต้านการลงโทษที่ดูจะรุนแรงเกินกว่าเหตุ
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งได้มีข่าวจากผู้อ้างตัวว่าเป็นญาติโพสต์ข้อความให้ข้อมูลว่า เด็กหญิงกอหญ้าเป็นเด็กดื้อมาก มีนิสัยชอบโกหกและยังมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อยอยู่บ่อยครั้ง ก่อนแจกแจงเรื่องให้กินอ้วกว่า มาจากการที่น้องกอหญ้ามักจะกินข้าวแล้วคายออกมาบ่อยๆ ซึ่งข้าวที่ให้กินกลับเข้าไปนั้นก็ยังมีลักษณะเป็นเม็ดอยู่ พร้อมทั้งให้กำลังใจเพราะที่ผ่านมาป้าของน้องกอหญ้าเลี้ยงดูเด็กมาได้ดี ก่อนเตือนว่าน้องกอหญ้าเป็นเด็กไม่ธรรมดา
ล่าสุด ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE ได้ติดต่อไปทางป้าของน้องกอหญ้า ก็ได้รับการปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้มีการจุดไฟต่อประเด็นอีกพร้อมเผยว่า ตอนนี้ก็ถูกกระแสสังคมโจมตีจากข่าวที่ออกไปซึ่งส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานอีกด้วย
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี...ดีจริงหรือ?
คติความเชื่อในการเลี้ยงเด็กของคนไทยนั้นการลงโทษถือเป็นหนทางหนึ่งดั่งสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” และการลงโทษที่คุ้นชินที่สุดคงหนีไม่พ้นการตีสะท้อนให้เห็นผ่านความคิดของใครหลายคนที่มองว่า ตัวเองได้ดีก็เพราะไม้เรียว แม้แต่การเลี้ยงดูของครอบครัวยุคใหม่ก็หนีไม่พ้นคติความเชื่อที่ถือเป็นประเพณีแบบดั่งเดิมนี้ เพราะผลในทางปฏิบัติหลายครั้งก็ดูเหมือนว่าจะช่วยทำให้เด็กหลายคนกลับเนื้อกลับตัวเป็นผู้เป็นคนและมีระเบียบวินัยขึ้นมาได้
ทว่าสำหรับความคิดในการเลี้ยงดูของโลกยุคสมัยใหม่อาจไม่เป็นแบบนั้น หากกลับจะยิ่งมองว่า การลงไม้ลงมือ กระทั่งการดุด่าว่ากล่าวให้เจ็บใจยิ่งจะทำให้เด็กมีความประพฤติที่แย่ลงมากกว่า
พญ.สุธีรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์กลุ่มงานจิตเวช สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าฯ เผยว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีบ่อยๆ อาจทำให้เด็กดื้อไม้ ดื้อมือ กลายเป็นเด็กต่อต้าน และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ไปเลยก็ได้ ทั้งยังเป็นการหล่อหลอมให้เด็กซึมซับความรุนแรงและนำไปใช้กับผู้อื่นอีกด้วย
แพทย์หญิงกล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีลงโทษเด็กที่ได้ผลดีโดยไม่ต้องตีมีอยู่หลายวิธี เช่น การงดการให้ของรางวัล หรืออาจฝึกให้รับผิดชอบในสิ่งที่ทำผิด เช่น ทำน้ำหกก็ต้องเช็ดเอง หรือลงโทษด้วยการให้ไปคัดลายมือ เป็นต้น
“ถ้าลงท้ายด้วยการตี อะไรก็ตี สักวันลูกอาจจะแบมือมาหาเรา โอเคหนูผิด ตีหนูสิ แต่ถามว่าเข้าไปในจิตใจลูกไหม หมอเชื่อว่าไม่ค่ะ ลูกจะไม่เข้าใจเลยว่า พ่อแม่ตีไปเพื่ออะไร ทางที่ดี พ่อแม่ควรมีกฎกติกาชัดเจน ไม่ควรลงโทษลูกด้วยคำพูดที่ทำลายคุณค่าของเด็ก เช่น แม่ไม่รักเด็กเกเร ทำแบบนี้ไม่ใช่ลูกแม่ เพราะเด็กอาจรู้สึกแย่ และน้อยใจพ่อแม่ได้”
สำหรับครอบครัวที่เห็นว่า “การตี” คือวิธีการลงโทษที่ได้ผล และสามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูกได้นั้น เธอเผยในรายละเอียดว่า ไม่ได้ห้ามการตีหากแต่ควรมีการตกลงและทำความเข้าใจกับเด็กก่อนว่า เขาจะถูกตีก็ต่อเมื่อทำผิดในเรื่องใด ไม่ใช่ตีสุ่มสี่สุ่มห้า
“ตีได้ค่ะ แต่อาจจะตีที่มือเบาๆ เพื่อให้รู้ ไม่ใช่ตีแบบใส่อารมณ์ แต่สำหรับบางบ้านที่ใช้รูปแบบการตีแล้วเห็นว่ามันได้ผล โอเค ไม่ว่ากัน แต่ควรมีการคุยและตกลงกับลูกก่อนว่า ถ้าหนูทำผิดในลักษณะนี้ต้องถูกตีในลักษณะนี้ ที่สำคัญ ต้องคุยให้ลูกเกิดการยอมรับ อย่างเช่น เวลาลูกดื้อหรือทำผิด เราอาจบอกลูกว่า เราตกลงกันว่าอย่างไรจ๊ะ? ลูกออกจากบ้านและกลับบ้านดึก ต้องถูกตีใช่ไหม?
“ซึ่งเด็กจะปฏิเสธแน่นอน แต่คุณพ่อคุณแม่ควรทำหน้าที่ชี้แจงให้ลูกฟังต่อไปว่า ไม่ได้ลูก แม่อยากให้ลูกเป็นคนที่ตรงต่อเวลา และซื่อสัตย์กับคำพูด ซึ่งแม่เชื่อว่าลูกทำได้ แต่ถึงอย่างไร ลูกก็จะต้องถูกลงโทษตามที่เราตกลงกันไว้ การพูดในลักษณะนี้ก็เพื่อให้เขากลับไปคิด และรู้ด้วยตัวเขาเอง ไม่จำเป็นต้องฟาดกันตอนนั้น ถ้าเขาพร้อมที่จะรับผิดก็โอเค แต่ถ้าไม่ยอมก็ควรใจเย็นๆ ไม่ใช่โมโหและลงไม้ลงมือกับลูก”
เรื่องในครอบครัว...อย่ายุ่ง!
สามีภรรยาทะเลาะกัน พ่อแม่ทำโทษลูก ประเด็นเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่คนภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทว่าความเชื่อนี้กลับเป็นความเชื่อความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง ด้วยพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีการระบุในรายละเอียดไว้ว่า หากใครพบเห็นเหตุกระทำความรุนแรงภายในครอบครัวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่พนักงานที่เกี่ยวข้อง
สมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนายการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงดูนั้นถือว่ามีน้อยลง และมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะไม่ดีเหมือนสมัยก่อนซึ่งอาจมาจากการไม่มีเวลาในการเลี้ยงดูลูกมากนัก แต่พ่อแม่ยุคใหม่ก็มีความเข้าใจการเลี้ยงลูกสมัยใหม่และเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวมีปรากฏให้เห็นน้อยลง
“อาจจะเพราะว่าเวลาด้วยนะ ทำให้เราเลี้ยงดูเด็กไม่ได้ใกล้ชิดอย่างเมื่อก่อน การอบรมสั่งสอนก็ไม่ได้ลึกซึ้งเท่าที่ควร ครอบครัวในไทยก็มีปัญหาอย่างนี้อยู่เนืองๆ แต่ผมว่ามันน้อยลงนะ เพราะพ่อแม่คนไทยเข้าใจเรื่องวิธีการเลี้ยงดูสมัยใหม่มากขึ้น แม้ภาพโดยรวมจะไม่ดีเท่าเมื่อก่อนสมัยโบราณ แต่ว่าการเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กก็ยังมีความเข้าใจกันมากขึ้นและยังมีการลงโทษแบบเดิมๆ อยู่”
โดยเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่เป็นข่าวว่า อาจมาจากพฤติกรรมของเด็กอายุระหว่าง 4 - 6 ขวบ มักจะเรียนรู้จากการสังเกตและเลียนแบบ และด้วยความเป็นเด็กการพูดโกหกเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการพูดไปตามจินตนาการและความรู้สึกในแบบเด็กๆเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่ควรถือเป็นอารมณ์
“ต้องดูด้วยว่าเด็กวัยไหน ที่บอกว่าเขาชอบโกหก ผมว่ามันเป็นเพราะวัยเด็กด้วย เขายังเด็กมากอาจจะพูดจาตามจินตนาการ ตามสิ่งที่เห็น อาจจะพูดไม่จริงตามอารมณ์ความรู้สึกของเด็กๆ เราไม่ควรเอามาเป็นอารมณ์ ซึ่งเด็กอาจจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมการสั่งสอนของผู้ใหญ่ การสั่งสอนที่ดีผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ลงโทษแต่เด็ก ถ้าเด็กชอบโกหกตอนอยู่กับเรา แสดงว่า ครอบครัวมีปัญหาแน่ เพราะเด็กช่วงนี้เป็นเด็กที่มองดูแล้วจำมาทำตาม การลงโทษเด็กโดยใช้วิธีการรุนแรงจริงๆ มันผิดอยู่แล้ว ไม่ควรลงโทษให้เด็กได้รับอันตรายแก่กาย”
นอกจากนี้ เขายังเผยว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ใครที่พบเห็นกระทำความรุนแรงต่อกันในครอบครัว ไม่ว่าต่อเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย เขาเห็นว่า การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ควรเป็นในลักษณะของการแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับพบเห็นในลักษณะของการถ่ายคลิปแล้วนำไปโพสต์เผยแพร่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
“ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เข้าไปดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาแล้วก็ไม่ยุ่งซึ่งเป็นความเชื่อและความเข้าใจที่ผิด คือต้องเข้าไปยุ่ง แต่ไม่ใช่ยุ่งโดยการเอาภาพเขาไปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียอย่างที่เป็นปัญหา แต่ต้องแจ้งคนที่มีหน้าที่ให้ไปดูแลจัดการ”
ในส่วนของมาตรการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาเผยว่า อันดับแรกคือต้องให้ผู้ถูกกระทำนั้นปลอดภัยก่อน อาจส่งให้ไปอยู่ในความดูแลของญาติที่รักและเข้าใจ สามารถให้ความปลอดภัยแก่เด็กได้ ก่อนจะเริ่มมาตรการช่วยเหลือระยะยาวในการแก้ไขปัญหา โดยต้องเข้าไปดูสภาพครอบครัวว่าเกิดปัญหาที่จุดไหน เช่น ครอบครัวติดเหล้า ติดยาเสพติด หรือติดการพนัน ก็ต้องได้รับการบำบัดซึ่งต้องมีคำสั่งศาล สรุปได้ว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบ 2 ส่วนพร้อมกันคือ ส่วนของผู้ถูกกระทำที่ต้องได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัย และส่วนของครอบครัวที่ต้องมีการบำบัดให้ไม่กระทำผิดซ้ำ
“แต่ปัจจุบันที่เป็นปัญหาคือ คนไม่เข้าใจและไม่รู้ว่ามีปัญหาเหล่านี้อยู่ ถึงรู้ก็กลัวว่ามันจะยุ่งยากมีปัญหา อีกส่วนสำคัญก็คือผู้รู้ ผู้รักษากฎหมายอย่างตำรวจก็ลืมว่า มีกฎหมายมาช่วยจัดการในภาพรวมได้ ก็เลยไปดำเนินการแต่เฉพาะหน้าซึ่งอาจจะทำให้ความรุนแรงมันยิ่งเพิ่มขึ้นอีก
“เรื่องการลงโทษผู้กระทำผิดไม่ใช่ทางออกของปัญหา ดังนั้น เรื่องคุกเรื่องตะรางตัดออกไปก่อน เราเชื่อว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เกิดจากสันดานเป็นผู้ร้าย แต่เกิดจากสาเหตุปัจจัยอื่นๆ มากระทบแล้วเราต้องไปป้องกันปัญหาอื่นๆ เพื่อทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลดลง”
วิธีลงโทษโดยไม่ต้องตี
Time outเป็นการแยกเด็กไปอยู่ตามลำพังโดยไม่ได้รับความสนใจ และไม่มีกิจกรรมใดๆ ประมาณ 1-2 นาที แต่ยังคงต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ซึ่งไม่ใช่การขังเดี่ยว สามารถใช้วิธีนี้กับเด็กที่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้ หรือในช่วงประมาณ 4-5 ขวบ ส่วนในเด็กโตมักใช้ไม่ค่อยได้ผล
งดกิจกรรมที่ต้องการหรือชื่นชอบ เช่น ทำการบ้านไม่เสร็จอดไปเตะฟุตบอล สามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็ก 6 ขวบเป็นต้นไป เนื่องจากเริ่มเข้าใจเงื่อนไขง่ายๆ ได้แล้ว
ฝึกให้ลูกรับผิดชอบ และชดเชยในสิ่งที่ทำผิด เช่น ให้คัดลายมือ หรือทำน้ำหกก็ต้องเช็ดเอง เป็นต้น
เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754