xs
xsm
sm
md
lg

เตือนผู้เสพข่าวพึงระวัง! มันมากับการเสพติดข่าวมากเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสข่าวการเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ สร้างความตระหนกตกใจให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เสพติดข่าวการเมืองจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต หรือโลกสังคมออนไลน์ บางคนถึงกับดูออนไลน์ผ่านมือถือตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือแม้แต่เดินทางกลับบ้านไปจนถึงตอนนอนก็ยังเปิดมือถือทิ้งไว้ตลอดเวลา พฤติกรรมเสพข่าวมากเกินไปแบบนี้ พึงระวังเอาไว้ให้ดี เพราะนอกจากโรคที่อาจมาเยือนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตีจากอาชญากรไซเบอร์ได้ด้วย

เริ่มกันที่ "โรค" จากการเสพข่าวมากเกินไป พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวท เตือนด้วยความเป็นห่วงว่า การเสพข่าวมากเกินไป ทำให้สมองทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา นำไปสู่ภาวะความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้

"บางคนการเสพข่าวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ บางคนอาจถึงขั้นซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิตได้ ในขณะที่บางคนภาวะความเครียดอาจแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง เวียนศีรษะ ปั่นป่วนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับหรือฝันร้าย ในคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะความเครียด สามารถส่งผลให้อาการของโรคประจำตัวแย่ลงหรือควบคุมโรคประจำตัวลำบาก" จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวทบอก

สำหรับแนวทางการรับมือกับโรคเครียด คุณหมอท่านนี้ให้คำแนะนำไว้ 7 วิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกัน

1. ใช้วิจารณญาณเลือกรับฟังข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้และเสพข่าวอย่างมีสติ รู้จักปล่อยวาง
2. จำกัดช่วงเวลาที่ใช้ในการรับฟังข่าวสาร ปิดทีวี ปิดมือถือและเครื่องมือสื่อสารเมื่ออยู่กับคนในครอบครัว
3. ทำจิตใจให้ผ่อนคลายอาจใช้วิธีนั่งสมาธิ สวดมนต์
4. หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียดเช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง
5. รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ งดเว้นการใช้สุราหรือสารเสพติด
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กำหนดเวลานอน และเวลาตื่นอย่างเป็นเป็นเวลา
7. หากมีปัญหาที่ค้างคาใจควรหาคนปรึกษาไม่ควรเก็บไว้คนเดียว

"เราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้บริโภคสื่อควรเลือกเปิดรับข่าวสารอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป หากไม่รับรู้ข่าวสารเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ารับรู้มากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากเกิดปัญหาจากการเสพข่าวที่มากเกินไปแล้ว อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เท่านี้ก็จะสามารถช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้แล้วค่ะ" คุณหมอญดาฝาก

ระวังตกเป็นเหยื่ออาชญากรไซเบอร์!

ไม่เพียงแต่เรื่องสุขภาพเท่านั้น ล่าสุดทางซอร์สไฟร์ ในฐานะผู้นำด้านระบบรักษาความปลอดภัย ยังได้ออกมาเตือนผู้เสพข่าวในโลกออนไลน์ให้ระวังอาชญากรไซเบอร์ยุคใหม่ที่เล็งใช้ข่าวสถานการณ์ร้อนทั่วโลกเป็นพาหนะใหม่ในการเจาะข้อมูล ปล่อยมัลแวร์ หรือส่งลิงค์อันตรายไปยังกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ชอบเสพข่าวสารตามกระแสฮอตฮิต หากไม่มีการตรวจสอบต้นทางของอีเมล์ หรือความน่าเชื่อถือของลิงค์ หรือไฟล์ที่แนบมา เพียงแค่คลิกเดียวก็อาจทำให้ผู้โจมตีสามารถเข้ายึดที่มั่นในระบบงานของกลุ่มเป้าหมายที่เปิดอ่านข้อมูลข่าวได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน สุธี อัศวสุนทรางกูร ผู้จัดการประจำประเทศไทย และอินโดจีน ซอร์สไฟร์ ให้คำแนะนำไว้ว่า เมื่อได้รับอีเมล์ที่มีลิงค์ประกอบ ผู้ใช้สามารถประเมินความปลอดภัยของลิงค์เบื้องต้นได้ เช่น การวางเคอเซอร์ (เครื่องหมายลูกศร)ไปเหนือลิงค์โดยไม่ต้องคลิก เพื่อดู URL หรือไม่เปิดไฟล์ที่ผู้ส่งแนบมาโดยที่เราไม่ได้ขอ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการต่อกรกับการโจมตีบนโลกไซเบอร์

อย่างไรก็ดี แม้จะหาทางป้องกันอย่างดีแล้ว มัลแวร์จะยังคงหาทางเข้ามาที่เครือข่ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้จัดการประจำประเทศไทย และอินโดจีน ซอร์สไฟร์ แนะนำว่า องค์กรควรต้องมีโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยที่ให้ความสามารถในการมองเห็นทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายพร้อมทั้งสามารถควบคุมได้ เพื่อช่วยป้องกันภัยคุกคามที่ยากแก่การหลีกเลี่ยงได้

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!


พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น