xs
xsm
sm
md
lg

ความดันสูงฆาตกรเงียบ ตายปีละ 4,000 คน ครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวว่าป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เผย “ความดันสูง” ฆาตกรเงียบ ระบุคนไทยป่วยแล้ว 11 ล้านคน ตายปีละเกือบ 4,000 คน พบป่วยรายใหม่ปี 56 เพิ่มเกือบ 1 แสนคน ครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวเพราะไม่เคยตรวจสุขภาพ อึ้ง! แค่ 1 ใน 4 ที่ควบคุมความดันได้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 17 พฤษภาคมทุกปี สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตื่นตัวในการดูแลและป้องกันโรคนี้ เนื่องจากโรคดังกล่าว มีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแข็งขึ้น เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆโดยได้น้อยลง จะเป็นสาเหตุการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตซึ่งเกิดจากเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวาย ตามมาได้อีก โดยในปีนี้ กำหนดคำขวัญว่า ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่ (Know Your Blood Pressure) เพื่อให้รู้ความผิดปกติของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนอายุสั้น ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1,000 ล้านคน เสียชีวิตปีละเกือบ 8 ล้านคน เฉลี่ยประมาณนาทีละ 15 คน โดย 1 ใน 3 พบในวัยผู้ใหญ่ และคาดว่าในปี พ.ศ. 2568 ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งโลกจะป่วยเป็นโรคนี้เพิ่ม 1,560 ล้านคน ส่วนในไทยแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผลการสำรวจสุขภาพโดยตรวจร่างกายครั้งล่าสุดในปี 2551-2552 พบประชาชนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูงเกือบ 11 ล้านคน สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือผู้ที่เป็นประมาณร้อยละ 50 ไม่เคยรู้ตัว เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน พบในผู้ชายมากถึงร้อยละ 60 และยังพบด้วยว่าผู้ที่เป็นโรคร้อยละ 8-9 ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรง ส่วนในกลุ่มที่ได้รับการรักษามีเพียง 1 ใน 4 ที่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดี

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายควบคุมโรคนี้ โดยให้ทุกพื้นที่รณรงค์ตรวจวัดความดันโลหิตให้แก่ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 23 ล้านกว่าคนทุกปี และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี ในปี 2556 พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 90,564 คน ซึ่งพบทั้งคนที่มีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติในปี 2555 และคนปกติ โดยวางแผนให้ความรู้ในการควบคุมป้องกันโรค แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนปกติ กลุ่มที่มีความเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วยแล้วเพื่อดูแลให้เหมาะสม หัวใจสำคัญคือ 1. ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เน้นการปรับพฤติกรรมออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้สด และ 2. ดูแลไม่ให้ผู้ที่ป่วยแล้วมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไตตามมา โดยในปี 2557 นี้ ได้ขยายบริการผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงลงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เข้าถึงง่าย ใกล้บ้าน ตั้งเป้าจำนวนผู้ป่วยที่ควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 หากทำได้ดีก็จะลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนลงได้

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยมีสัญญาณอาการเตือน เช่น ปวดมึนที่บริเวณท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบตุบ หากเป็นมานานหรือระดับความดันสูงมากๆ จะมีเลือดกำเดาไหล ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน มือสั่น หรือมือเท้าชา หากมีอาการปวด วิงเวียนศีรษะ ตามัว เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบากในตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หรือปัสสาวะเป็นเลือด ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในปี 2553 พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 52 ตรวจวัดความดันโลหิตทุกเดือน ร้อยละ 16 ไม่ลดการกินอาหารเค็มและกินอาหารที่มีไขมันสูง ร้อยละ 18 ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ร้อยละ 23 ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ที่สำคัญยังพบว่ามีผู้ป่วยร้อยละ 37 ยังสูบบุหรี่เหมือนเดิม และร้อยละ 39 ไม่เลิกดื่มเหล้า นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 8 กินยาควบคุมความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมากกว่า 20 กินยาแผนจีน แผนไทย สมุนไพรควบคุมความดันโลหิตด้วย ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำในการสร้างวินัยการควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย ควรจะตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จดบันทึกทุกครั้ง ควรวัดในช่วงเช้าหรือช่วงค่ำก่อนนอน และวัดในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลแก่แพทย์ผู้รักษาในการปรับลดการจ่ายยาควบคุมความดันให้เหมาะสม รวมทั้งต้องควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ลดอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วนซึ่งมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ที่สำคัญผู้ป่วยจะต้องกินยาควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งยาจะมีผลในการลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต




กำลังโหลดความคิดเห็น