xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะหัวใจล้มเหลว กับการทานยา/Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสิ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน เพราะหัวใจนั้นถือเป็นอวัยวะสำคัญต่อระบบร่างกาย หากหัวใจไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการ ภาวะหัวใจล้มเหลวก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้

นพ.ปกรณ์ โล่ห์เลขา อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ รพ.ลาดพร้าวและคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ให้ข้อมูลว่า อาการของคนที่อาจจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้นั้น สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้ คือ มักจะมีภาวะเหนื่อยง่ายหรือไอเมื่ออกแรงหรือออกกำลังหรือขณะพัก หายใจลำบาก แน่น หรือหายใจเหนื่อยหอบเมื่อนอนราบ และอาการอาจดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่ง

“นอกจากนี้แล้ว ยังมีการตื่นขึ้นมาแม้จะนอนหลับไปแล้วเพราะเหนื่อย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าแข้งหรือข้อเท้าบวม แน่นในท้องเหมือนมีน้ำในท้อง รวมไปจนถึงมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้รับประทานอาหารมากขึ้นแต่อย่างใด”

สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถเกิดได้จากสภาวะทางโรคหัวใจหลายชนิด นพ.ปกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ตั้งแต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือขาดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคการอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจหรือของลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือแม้กระทั่งการได้รับสารพิษต่างๆ เช่น ยาบ้า การดื่มสุราและแอลกอฮอล์ ก็นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องตระหนักรู้และแนะนำอย่างเคร่งครัดสำหรับแพทย์ก็คือการทานยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ การทานยาไม่ตรงเวลาหรือทานยาไม่สม่ำเสมอ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายคาดไม่ถึง

“การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นมีหลายแบบ ถ้าหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะนานเกินไป ก็อาจจะทำให้หัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน และเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจด้วย เพราะว่าหัวใจจะเต้นสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เลือดบีบตัวออกไปเลี้ยงร่างกายได้ดี”

นพ.ปกรณ์ กล่าวเสริมว่า ถ้าหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหรือผิดจังหวะ เลือดจะไหลวนอยู่ข้างใน แล้วเกิดการตกตะกอน ตะกอนพวกนี้จะหลุดไปที่สมอง ซึ่งทำให้เป็นอัมพาตได้ เพราะฉะนั้น ยาที่จำเป็นก็อาจจะต้องทานยาละลายลิ่มเลือดไว้ กันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดไว้ตั้งแต่แรก

“การกินยาละลายลิ่มเลือดก็จึงต้องกินให้สม่ำเสมอ เพราะถ้ากินบ้างไม่กินบ้าง มันก็จะเหมือนไม่ได้กิน ขณะเดียวกัน ยาที่ควบคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็ว ก็ต้องกินสม่ำเสมอ ถ้าลืมกินยาตอนเช้า ก็อาจจะไปกินตอนเที่ยงหรือเย็นได้ ขอให้กินภายในวันนั้น” นพ.ปกรณ์ กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น