xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย!! เสพติดข่าวมากไปอาจนำโรคภัยมาถึงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ
จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวท

สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ ทำให้ประชาชนให้ความสนใจและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่เสพติดข่าวการเมืองจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์อินเทอร์เน็ต หรือจากโลกสังคมออนไลน์ โดยบางคนถึงกับดูออนไลน์ผ่านมือถือตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือแม้กระทั่งเดินทางกลับบ้านนอนก็ยังเปิดมือถือทิ้งไว้ตลอดเวลาเลยทีเดียว โดยที่หารู้ไม่ว่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยมาเยือนโดยไม่รู้ตัว

พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวท ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เสพข่าวการเมืองมากเช่นนี้ว่าอาจเป็นการทำให้สมองทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา นำพาไปสู่ภาวะความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ในที่สุด บางคนการเสพข่าวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ บางคนอาจถึงขั้นซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิตได้ ในขณะที่บางคนภาวะความเครียดอาจแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง เวียนศีรษะ ปั่นป่วนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ หรือฝันร้าย ในคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะความเครียดสามารถส่งผลให้อาการของโรคประจำตัวแย่ลงหรือควบคุมโรคประจำตัวลำบาก
เรามาดูกันดีกว่าว่าแนวทางการรับมือกับโรคเครียด 7 วิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ มีวิธีอะไรบ้าง

1. ใช้วิจารณญาณเลือกรับฟังข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้และเสพข่าวอย่างมีสติ รู้จักปล่อยวาง
2. จำกัดช่วงเวลาที่ใช้ในการรับฟังข่าวสาร ปิดทีวี ปิดมือถือและเครื่องมือสื่อสารเมื่ออยู่กับคนในครอบครัว
3. ทำจิตใจให้ผ่อนคลายอาจใช้วิธีนั่งสมาธิ สวดมนต์
4. หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียดเช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง
5. รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ งดเว้นการใช้สุราหรือสารเสพติด
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กำหนดเวลานอน และเวลาตื่นอย่างเป็นเป็นเวลา
7. หากมีปัญหาที่ค้างคาใจควรหาคนปรึกษาไม่ควรเก็บไว้คนเดียว

อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้บริโภคสื่อก็ควรเลือกที่จะเปิดรับข่าวสารอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป หากไม่รับรู้ข่าวสารเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ารับรู้มากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากเกิดปัญหาจากการเสพข่าวที่มากเกินไปแล้ว อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เท่านี้ก็จะสามารถช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้แล้วค่ะ
พญ.ญดา  พงษ์กาญจนะ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น