xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! โรค PTSD เครียดหลังแผ่นดินไหว แนะสังเกตสัญญาณเตือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิตเผยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เสี่ยงเกิดโรค PTSD หรือเครียดหลังเกิดเหตุวิกฤต ระบุส่งทีมช่วยเยียวยาจิตใจแล้ว แนะสัญญาณเตือนโรค PTSD หลังเกิดเหตุ 1 เดือน หากมีอาการเครียดค่อนข้างรุนแรง ฝันร้ายบ่อย กระสับกระส่าย ซึมเศร้า น่าเป็นห่วงต้องรีบรักษาโดยด่วน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต รพ.สวนปรุง ประเมินผลกระทบและเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวพบว่า ผู้ประสบภัยมีความเครียด ไม่กล้าอยู่ในบ้าน มีภาวะหวาดกลัวมาก และตื่นตระหนกกับข่าวลือเรื่องแผ่นดินแยก เขื่อนแม่สรวยแตก ทำให้อดนอน หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำและใช้เทคนิคปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น ประเมินภาวะความเครียดและวิตกกังวล เพื่อป้องกันการเกิดโรคเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD : Post-Traumatic Stress Disorder) และแนะนำการใช้เทคนิคคลายเครียด

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ซึ่งถือเป็นอาการปกติ โดยหลังเหตุการณ์วิกฤตหรือภัยพิบัติช่วง 3 วันแรกถึง 2 สัปดาห์ ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะด้านจิตใจ จะมีอาการช็อก ตื่นตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล สับสน ไม่มีสมาธิ เครียด บางรายมีภาวะซึมเศร้า โกรธ ส่วนด้านร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น ไม่มีแรง ปวดศีรษะ นอน ไม่หลับ กินอาหารได้น้อย ซึ่งอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากรักษาทันจะค่อยๆ หายและดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ - 1 เดือน ส่วนวัยที่น่าห่วงคือวัยเด็ก เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเด็กแต่ละช่วงวัยจะแสดงออกต่างกัน ต้องแนะนำให้เจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด

ภายหลัง 1 เดือน หากมีอาการเครียดค่อนข้างรุนแรง ฝันร้ายบ่อยๆ สะดุ้ง หวาดผวา รู้สึกเหมือนตนเองตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอดเวลา ไร้อารมณ์ มึนชา ตกใจง่าย หงุดหงิดโมโหง่าย กระสับกระส่าย หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความทรงจำที่ปวดร้าว วิตกกังวล ซึมเศร้าอย่างรุนแรง รู้สึกไร้ค่า มีความคิดอยากตาย ความจำไม่ดี การรับรู้ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป หากมีอาการดังกล่าวแสดงว่าเป็นโรค PTSD ต้องได้รับการบำบัดโดยด่วน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า การปรับสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยภายหลังเกิดภัยพิบัติ คือปล่อยให้ผู้ประสบภัยได้ระบายถึงความเครียด ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันเยียวยาโดยการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ที่ประสบภัย หลีกเลี่ยงไม่ให้รับข่าวสารและภาพข่าวภัยพิบัติมากเกินไปเพื่อลดความตึงเครียด และให้หลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ประสบภัยเองต้องพยายามพบปะพูดคุยกับคนอื่นตามปกติ ไม่หลีกเลี่ยงการพูดคุยถึงเหตุการณ์ร้ายที่ประสบมา ไม่ปลีกตัวเองออกจากสังคมหรืองดเว้นกิจกรรมที่เคยชอบเคยปฏิบัติ หากพยายามแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบจิตแพทย์

เมื่อถามถึงความวิตกกังวลจากข่าวลือหรือคำทำนายต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานี้ นพ.เจษฎา กล่าวว่า ขอให้ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัว ต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏนั้นย่อมมีทั้งจริงและลือ ขอให้กลั่นกรอง อย่ารีบร้อน เพราะจะยิ่งวิตกกังวล มองโลกในแง่ลบมากขึ้น ดังนั้น จึงควรเสพข้อมูลจากคนที่ไว้ใจได้ หรือตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง อาจใช้การสื่อสารของชุมชน เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ช่วยเฝ้าระวังและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น