xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “นักการเมือง-กลุ่มหนุนม็อบ-ปชช.” เสี่ยงโรคเครียดการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนนักการเมือง กลุ่มสนับสนุน 2 ฝ่าย จนถึงคนติดตามข่าวสาร เสี่ยงโรคพีเอสเอส หรือ “เครียดจากการเมือง” ระบุสัญญาณโรคคือปวดหัว เมื่อยต้นคอ ตึงขมับ หงุดหงิดง่าย โต้เถียงเอาชนะคนอื่น แนะ 6 วิธีคลายเครียด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (23 ม.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทำให้ประชาชนตื่นตัว สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และอยู่ภายใต้สภาวะกดดัน ทำให้มีผลกระทบต่ออารมณ์และเกิดความเครียดโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดให้หายไปได้ หรือไม่หายไปตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น และสะสมความไม่สบายใจไปเรื่อยๆ อาจพัฒนาไปสู่กลุ่มอาการที่เรียกว่า เครียดจากการเมือง หรือ พีเอสเอส (PSS: Political Stress Syndrome) ซึ่งไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือติดตามสนใจปัญหาการเมืองอย่างใกล้ชิด หรือมีความเอนเอียงไปกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้เกิดอาการทางจิตใจ ทางกายและกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น ที่สำคัญอาจมีความคิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต เช่น กลัวว่าจะเกิดความรุนแรงเช่นในอดีต ซึ่งเป็นความหวั่นวิตกที่แฝงอยู่ในใจคนส่วนหนึ่ง

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการพีเอสเอส ได้แก่ 1.นักการเมือง 2.กลุ่มที่สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย 3.กลุ่มผู้ติดตาม 4.กลุ่มผู้ที่สนใจข่าวสารการเมือง และ 5.กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ลักษณะกลุ่มอาการพีเอสเอส จะปรากฏออกมา 3 อาการ คือ 1.อาการทางกาย จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอ แขน ขา นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่อิ่ม แน่นหรือปวดท้อง และชาตามร่างกาย 2.อาการทางใจ จะมีความวิตกกังวล ครุ่นคิดตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก ไม่มีสมาธิ ฟุ้งซ่าน หมกมุ่นมากเกินไป และ 3.มีปัญหาพฤติกรรมสัมพันธภาพกับผู้อื่น โดยมีการโต้เถียงกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว ใช้อารมณ์ปานกลางถึงรุนแรง ยับยั้งตนเองไม่ได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ หรือเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยสนิทกัน เป็นต้น

หากมีอาการดังกล่าว แนะนำให้ปฏิบัติ 6 วิธี เพื่อช่วยในการผ่อนคลาย คือ 1.หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นๆ แทน 2.ลดความสำคัญของปัญหาการเมืองลงมาชั่วขณะ ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ 3.พูดคุยกับผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เพื่อระบายปัญหาออกไป 4.ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที และพักผ่อนให้เพียงพอ 5.ฝึกผ่อนคลายด้วยตนเอง เช่น การฝึกสติ ฝึกการทำสมาธิ ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และ 6.หันมาหาวิธีการทำให้จิตใจสงบ อาจใช้ศาสนาช่วยในการขัดเกลาจิตใจ เพื่อปล่อยวาง” รองปลัด สธ.กล่าวและว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย หรือเมื่อละความสนใจ ไปสนใจเรื่องอื่น อาการต่างๆ จะหายได้เอง แต่หากยังมีอาการเกิน 1 สัปดาห์ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น