xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบล้มระบอบทักษิณไร้เครียดกังวล เหตุพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้าน “แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดผลสำรวจสภาพจิตใจผู้ชุมนุมล้มระบอบทักษิณ พบไร้ความเครียด ไม่วิตกกังวลต่อสถานการณ์รุนแรง เหตุได้มาพบเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้าน “แม้ว” ด้วยกัน อยากเห็นประเทศไทยพัฒนา ด้านคนนอกพื้นที่ชุมนุมระดับเครียดสูงกว่า เหตุเสพข่าวสาร แนะอย่าเร้าอารมณ์นำไปสู่ความรุนแรง
แฟ้มภาพ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนแบบโฟกัสกรุ๊ป ต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งในพื้นที่ชุมนุม กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และครอบครัวที่นำบุตรหลานเข้าร่วมชุมนุม จำนวน 160 คน เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกับประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุม หรือต่างจังหวัด พบว่า ประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมจะเครียดและวิตกกังวลกลัวความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมมากกว่าประชาชนในพื้นที่ชุมนุม ทั้งนี้ วิเคราะห์ได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ชุมนุมนั้นได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกับคนในอุดมการณ์เดียวกัน เป็นเหมือนการมาพบเพื่อน ได้พูด ได้ระบาย ได้รับฟังปัญหาร่วมกัน ขณะที่ประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมหรือต่างจังหวัดส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อหรือสังคมออนไลน์ที่อาจรับแบบซ้ำไปซ้ำมา เห็นทั้งภาพและเสียงที่อาจถูกตัดต่อที่กระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกให้เกิดความเครียด หรือความวิตกกังวลขึ้นได้

นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ซึ่งในเชิงจิตวิทยาสังคม ประชาชนมีต้นทุนความสนใจทางการเมืองสูงอยู่แล้วจากสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากนักเพราะมีการปรับตัวและอดทนกับความเครียดจากสถานการณ์บ้านเมืองได้ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยปกติ เมื่อคนต้องเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤต ระดับความเครียดย่อมถูกยกระดับให้สูงขึ้น แต่เมื่อสามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ปรากฏการณ์การรวมตัวที่เกิดขึ้นนี้มีความเห็นพ้องต้องกันของสังคม ที่คนตรงกลางไม่อยู่ฝ่ายใด เกิดความรู้สึกว่าจะต้องร่วมกันทำอย่างใดอย่างหนึ่ง สังคมต้องเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ ต้องระวังไม่ให้เป็นความเกลียดชัง ทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง นำไปสู่ความรุนแรง

ขอแนะนำให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทุกฝ่าย ควรชุมนุมเพื่อแสดงสิทธิและเสียง ไม่เร้าอารมณ์นำไปสู่ความรุนแรง และถือโอกาสในการชุมนุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนพูดคุย เรียนรู้ รับฟังกันในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ ตลอดจนใช้สติในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง รวมทั้งใช้โอกาสที่มีความเห็นพ้องต้องกันของสังคมให้เกิดการรับฟังและหาทางออกอย่างสันติและสร้างสรรค์ระหว่างความคิดเห็นต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ทำเพื่อประเทศชาติโดยแท้จริง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมหรือประชาชนที่ติดตามข่าวสาร แนะนำให้ แบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม ควรติดตามข่าวสารรอบด้าน โดยเฉพาะจากสื่อหลักที่เสนอข้อมูลจากทุกฝ่ายและมุ่งเน้นการหาทางออก โดยไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมง ที่สำคัญรู้จักจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้างที่ได้ผล อาทิ การออกกำลังกาย สวดมนต์ ทำสมาธิ หายใจคลายเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ส่วนบุคคลในครอบครัวและเพื่อนที่มีความขัดแย้งกัน ควรมองความขัดแย้งเป็นเรื่องความเห็นที่ต่างฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ถือเป็นเรื่องที่จะต้องรู้สึกโกรธหรือเกลียดชังกัน โดยเฉพาะครอบครัวควรหาโอกาสชักชวนสมาชิกทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอื่นๆ ร่วมกัน นอกเหนือจากการติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเพียงอย่างเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น