xs
xsm
sm
md
lg

เตือนหนุ่มบึ้กติดส่องกระจก หมกมุ่นไซส์ “เล็ก” เข้าข่ายโรค “ไบกอร์เร็กเซีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตแพทย์เตือนหนุ่มนักกล้าม ชอบส่องกระจกบ่อยๆ หมกมุ่นเรื่องรูปร่างคิดว่า “เล็ก” เกินไป เข้าข่าย “โรคไบกอร์เร็กเซีย” หรือการประเมินภาพลักษณ์ตนเองผิดปกติ ชี้อาการหนักเสี่ยงซึมเศร้า แยกตัวจากสังคม แนะคนรอบข้างสังเกตชอบถามเรื่องรูปร่างบ่อยๆ ทั้งที่คอนเฟิร์มหลายรอบว่าหุ่นดี แสดงว่ามีปัญหา คาดเกิดจากสารเคมีในสมอง หรือเคยถูกล้อเลียน ถูกละเมิดทางกายตอนเด็ก

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รอง ผอ.สำนักยุทธศาสตร์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรคไบกอร์เร็กเซีย (Bigorexia) หรือโรคที่คิดว่าตัวเองเล็กเกินไป โดยมักชอบส่องกระจกบ่อยๆ แล้วคิดว่าร่างกายไม่กำยำล่ำสัน ทั้งที่ตัวเองอาจมีร่างกายที่กำยำอยู่แล้ว จนต้องเข้าฟิตเนสเล่นยกน้ำหนักบ่อยๆ หากไม่ได้เล่นจะเกิดอาการเครียดและซึมเศร้า ซึ่งมักเกิดกับผู้ชายวัยรุ่นหรือวัยกลางคน ว่า โรคนี้อยู่ในกลุ่มของโรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ (Body Dsymophic Diorder : BDD) มีความผิดปกติต่อการประเมินภาพลักษณ์ของตนเอง จะมีอาการย้ำคิด หมกมุ่นกับเรื่องรูปลักษณ์ของตนเอง ทั้งที่รูปร่างตนเองก็ปกติแต่มักมองว่าบกพร่อง หาจุดตำหนิได้ตลอดเวลา จนเกิดความเศร้า ความทุกข์ ความเครียด กระทั่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น

นพ.วรตม์กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตของกลุ่มโรค BDD คือ 1. จะมีพฤติกรรมส่องกระจกนานๆ ย้ำคิดกับภาพลักษณ์ของตัวเองต่อหน้ากระจกจนเสียงาน และเป็นทุกข์มาก 2. มักถามคนอื่นบ่อยๆ ว่าตนเองรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แม้จะได้รับการยืนยันกี่รอบว่าปกติ ก็มักไม่เชื่อและจะย้ำถามเสมอๆ 3. กลัวการเข้าสังคม อาการนี้บ่งบอกว่าเป็นโรคดังกล่าวค่อนข้างมากแล้ว เพราะเริ่มหมดความมั่นใจในตัวเอง จนต้องแยกตัวออกมาจากผู้คน ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นได้ สุดท้ายก็เกิดอาการของโรคซึมเศร้า

“โรคนี้การศึกษาในไทยยังไม่มี แต่พบว่าสหรัฐอเมริกาในชุมชนจะมีความชุกของโรคประมาณ 1-2% ส่วนมากคนที่พบโรคนี้ไม่ใช่จิตแพทย์ แต่เป็นแพทย์ผิวหนัง แพทย์ศัลยกรรม เพราะมีการไปพบแพทย์บ่อยๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรูปร่างของตัวเอง ซึ่งโรคนี้จะคล้ายการเสพติดศัลยกรรม แต่อาจจะมีความสนใจในตำแหน่งหรืออวัยวะที่ต่างออกไป บางคนสนใจแต่จมูก ปาก หรือกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อแพทย์ผิวหนังหรือศัลยกรรมค้นพบก็จะส่งประวัติไปยังจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา ที่น่าห่วงคือหากแพทย์ทั้งสองทางทราบว่าป่วย แต่ไม่ส่งไปรักษากับจิตแพทย์ แล้วปฏิเสธการทำศัลยกรรมให้ บางคนอาจแอบไปทำเองจนเป็นอันตรายได้” นพ.วรตม์กล่าว

นพ.วรตม์กล่าวด้วยว่า สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง และเกิดจากปัญหาในวัยเด็กคือ เคยถูกล้อเลียน รังแก ต่อว่าในเรื่องของรูปลักษณ์ หรืออาจเคยถูกละเมิดทางกาย ทางอารมณ์ เป็นต้น ส่วนการแก้ไขโรคนี้ต้องพบจิตแพทย์ในการพูดคุยประเมินเรื่องภาพลักษณ์ เพื่อทำจิตบำบัด ซึ่งในสหรัฐฯ พบว่าได้ผลถึง 80% บางรายอาจให้ยาเพื่อเปลี่ยนสารเคมีในสมองควบคู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อรักษาหายแล้วอาจเป็นอีกได้ หากมีความคิดเรื่องรูปร่างหรือพฤติกรรมเดิมๆ กลับมาอีก ให้ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่จิตแพทย์สอนมาจัดการความคิดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง แต่ต้องมารักษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วย

เมื่อถามว่าคนที่ชอบเล่นฟิตเนส ยกน้ำหนัก แล้วมักส่องกระจกดูตัวเองบ่อยๆ หรือชอบถ่ายรูปตัวเองบ่อยๆ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ นพ.วรตม์ กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ เพราะคนเราอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่น เช่น คำชม การกดไลก์ ยังไม่ถือว่าผิดปกติ แต่ถ้าหากทำแล้วมีอาการหมกมุ่นต้องระวัง ซึ่งโรค BDD คนรอบข้างสามารถช่วยสังเกตได้ ซึ่งเมื่อพบแล้วควรแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ เพื่อแก้ไขความคิดในเรื่องของรูปร่าง


กำลังโหลดความคิดเห็น