xs
xsm
sm
md
lg

เตือนหนุ่มๆ “เล่นเวต-ตีกอล์ฟ” เสี่ยงนิ้วล็อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์เตือนหนุ่มๆ “เล่นเวต-ตีกอล์ฟ” แบบจัดเต็ม หักโหม เสี่ยงนิ้วล็อก เหตุเกิดการกระแทกที่มือซ้ำๆ เป็นประจำ เผยโรคนิ้วล็อกเกิดในผู้ชายแค่ 20% แต่เกือบทั้งหมดมาจาก 2 สาเหตุดังกล่าว แนะใส่ถุงมือป้องกัน แช่มือในน้ำอุ่ม ฝึกกำแบมือ

นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเชี่ยวชาญด้านนิ้วล็อก กล่าวว่า แม้อัตราส่วนการเกิดนิ้วล็อกจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายคือ ผู้หญิงร้อยละ 80 และผู้ชายร้อยละ 20 โดยมักเกิดกับผู้ที่มีช่วงอายุ 50-60 ปี มากที่สุดก็ตาม แต่จากการให้บริการรักษาโรคนิ้วล็อกในผู้ชายที่ผ่านมานั้นพบว่า มักเป็นคนหนุ่มอายุไม่มากนัก สาเหตุของโรคเกือบทั้งหมดมาจากการเล่นยกน้ำหนัก หรือเล่นเวต และการตีกอล์ฟ เนื่องจากโรคนิ้วล็อกเกิดจากใช้มืออย่างรุนแรง มีการกระแทก การบด และกระทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ซึ่งหนุ่มที่มีการเล่นเวตเยอะ จะทำให้ปลอกฐานนิ้วแต่ละนิ้วแข็ง เกิดอาการเจ็บ กำมือไม่ลง ซึ่งต่อมาเมื่อกำนิ้วลงจะเกิดอาการนิ้วล็อกเหยียดยืดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกับการตีกอล์ฟ เพราะการตีแต่ละครั้งจะเกิดแรงกระแทกกับนิ้วมือ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มช่างที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ตัดต้นไม้ ใช้เลื่อย ค้อน เป็นต้น

หากตีกอล์ฟแบบเรื่อยๆ ไม่หักโหมก็มักไม่ค่อยมีปัญหา แต่สำหรับคนที่เริ่มตีกอล์ฟใหม่ๆ และอยากตีได้ดี ได้เก่ง ก็มักจะมีการกระแทกตีมากๆ ก็ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อกขึ้นได้ เพราะแม้แต่โปรกอล์ฟเองก็มีหลายรายที่มาเข้ารับการรักษาโรคนิ้วล็อก ซึ่งรักษาไปแล้วสองนิ้วล่าสุดกลับมารักษาเพราะเป็นนิ้วล็อกนิ้วที่สามก็มี” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับคนที่เล่นเวตจะอยู่ที่ความต้องการว่าอยากได้กล้ามเนื้อเพิ่มหรือความทนของกล้ามเนื้อ อย่างกลุ่มที่อยากได้ความทนของกล้ามเนื้อก็จะยกน้ำหนักที่ไม่มาก อาศัยยกนานๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดความคงทนกลุ่มนี้ความเสี่ยงการเกิดนิ้วล็อกจะน้อยกว่ากลุ่มที่เล่นแบบหนักๆ อยากได้กล้ามเนื้อ เพราะโอกาสเกิดแรงกระแทกต่อมือมีมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตีกอล์ฟ หรือการเล่นเวตแบบใดก็ตาม ต้องมีการสวมถุงมือป้องกัน เพื่อลดแรงกระแทก แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% ที่แนะนำคือต้องไม่หักโหม รบกวนการใช้มือให้น้อยลง การแช่น้ำอุ่นและฝึกกำแบมือก็พอช่วยได้ สำหรับการรักษาหากเป็นในระยะแรกสามารถแช่น้ำอุ่ม ประคบร้อนได้ หากเป็นระยะที่ 2 มีความรุนแรงของโรคมากขึ้นต้องฉีดยารักษา แต่หากเป็นระยะที่ 3-4 ที่นิ้วล็อกจนต้องง้างออกนั้น ต้องใช้วิธีการผ่าตัดรักษา


กำลังโหลดความคิดเห็น