xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองแค่น่ารัก! ถ่าย-โพสต์-แชร์คลิปเด็ก เข้าข่ายละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


องค์กรปกป้องสิทธิเด็ก เรียกร้องสังคม ถ่าย - โพสต์ - แชร์ คลิปเด็ก และผู้ถูกกระทำในโลกออนไลน์ เข้าข่ายละเมิดสิทธิ ฟ้องเอาผิดตามกฎหมายได้ แพทย์ระบุส่งผลเสีย เด็กรู้สึกแย่ เครียด อับอาย นับถือตัวเองน้อยลง กระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว  

วันนี้ (7 ก.ค.) เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมไอเรซิเดนท์ สีลม ในงานเสวนา “คลิปเด็ก” ถ่าย โพสต์ แชร์...มองให้ลึกกว่าความน่ารัก? จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ถ่ายคลิปเด็ก โพสต์ และแชร์ในโลกออนไลน์ ที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว ผู้ปกครอง ญาติ เพื่อน แม้จะมองเป็นเรื่องขำขัน ตลก น่ารัก แต่ลืมไปหรือไม่ ว่า จะกลายเป็นดาบสองคม ส่งผลร้ายแรงต่อเด็ก เพราะไม่ต่างอะไรจากการประจานเด็ก เช่น กรณีคลิปครูให้นักเรียนขอโทษเพื่อน คลิปครูให้เด็กสะกดคำว่าผีแต่ออกเสียงเพี้ยน คลิปแม่กราบลูก ผู้ปกครองโพสต์รูปเด็กไม่ใส่เสื้อผ้า และอีกหลาย ๆ คลิปที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ ล่าสุด เหตุการณ์เสียชีวิตของครูสาวที่สังคมกำลังแชร์ภาพการเสียชีวิต และเพื่อนสนิทได้นำภาพถ่ายอิริยบถต่าง ๆ ของผู้ตายมาโพสต์ไว้อาลัย ยิ่งแชร์มากยิ่งกระพือ เท่ากับเป็นดาบสองคม ปลุกเร้าให้คนร่วมโกรธแค้น ไม่พอใจ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้น กระทบต่อสภาพจิตใจของครอบครัวผู้ตาย

“ขอเรียกร้องให้สังคมทบทวนการถ่ายคลิป โพสต์ แชร์ ที่ละเมิดสิทธิ ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะนอกจากให้คนไม่ประสงค์ดีได้รับรู้ข้อมูล ยังทำร้ายเด็กสร้างความอับอายในระยะยาว ยิ่งถ้าเด็กไม่เข้มแข็งพอจะนำมาสู่ความสูญเสียได้ เช่น ในต่างประเทศที่มีการถ่ายคลิปท้าทาย กดดันให้ฆ่าตัวตายจนนำมาสู่ความสูญเสียในที่สุด ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรมองถึงอนาคตเด็ก เพราะเป็นทรัพยากรที่มีค่า ควรปกป้องรักษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ควรนำสถานการณ์เหล่านี้ออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน” นางอัญญาอร กล่าว 

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผู้ใหญ่ควรเข้าใจสิทธิเคารพในตัวตนของเด็ก ไม่ทำร้ายเด็ก อย่ามองว่าเด็กคือคนที่มีอำนาจต่ำกว่า เราจะทำอย่างไรก็ได้ เด็กทุกคนมีสิทธิ ไม่ใช่ตัวตลก หรือของสร้างความบันเทิงให้กับผู้ใหญ่ จนผู้ใหญ่กลายเป็นรังแกเด็กในโลกออนไลน์ ซึ่งการนำภาพ หรือคลิปการกระทำในทางไม่ดีไปเปิดเผย จะส่งผลทำให้เกิดความเครียด อับอาย รู้สึกไม่ดีกับตัวเองความนับถือในตัวเองลดลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจเกิดความรู้สึกแย่ ถูกล้อเลียนจากกลุ่มเพื่อน ถูกมองเป็นเรื่องตลกขำขัน ต้องกลายเป็นคนที่รู้จักของสังคม ไม่มีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ คลิปที่โพสต์ประจานการกระทำของลูกหลานจะส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งสถานการณ์ทุกกลุ่มอายุถือว่าน่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องมีความคิดที่รอบคอบ หากรักลูกก็อย่าละเมิดสิทธิ มองถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นให้มาก 

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การโพสต์คลิปเด็ก เราไม่รู้ว่าคนที่เข้ามาดูเป็นใครบ้าง มีวัตถุประสงค์อะไร และเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะรู้สึกแย่ รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นตัวตลก ยกตัวอย่างคลิปที่ประเทศแคนาดา เด็กถือไม้กอลฟ์เล่นเป็นยอดมนุษย์ถูกเพื่อนแอบนำมาโพสต์ และเกิดการแชร์กว่า 50 ล้านวิว จนเด็กเกิดความเครียด เพราะถูกเพื่อนล้อเลียน สุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้าและต้องออกจากโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การโพสต์ หรือแชร์ภาพเด็กต้องใช้วิจารณญาณ พึงระมัดระวัง รู้เท่าทันสื่อ อย่ามองเป็นเรื่องตลกขำขัน ที่สำคัญ อย่ามองว่าเด็กเป็นสมบัติของตัวเองจะทำอะไรก็ได้     

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เน้นปกป้องคุ้มครอง และเคารพสิทธิของเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งดูแลให้เติบโตตามพัฒนาการ ปกป้องคุ้มครองเด็กจากภาวะต่าง ๆ ทั้งจากการถูกทำร้าย การละเมิดในทุกรูปแบบ อีกทั้งการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องรับฟังเสียงของเด็ก โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และสำหรับประเทศไทย มีกฎหมายตาม พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากกว่า200 ฉบับ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ใช้มามากกว่า10 ปี และนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 22 การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก มาตรา 23 ที่บัญญัติถึงบทบาทของผู้ดูแลเด็กในการพัฒนาและการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ มาตรา 26 ที่บัญญัติถึงการห้ามมิให้บุคคลต่าง ๆ กระทำต่อเด็ก ทั้งการทำร้ายร่างกาย การไม่ดูแลจนเด็กมีความประพฤติไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดที่มีโทษ เช่นเดียวกับมาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็ก นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย ดังนั้น กฎหมายถือว่าบัญญัติไว้ครอบคลุม แต่ยังขาดการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมหรือกระบวนการดำต่าง ๆ ยังมีความล่าช้า   

“สังคมยังขาดความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณค่าของความเป็นคน เช่น การเปิดเผยใบหน้า ชื่อผู้ปกครอง นำเสนอภาพบ้านและที่อยู่ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรง สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างสังคมที่ดีขอให้คิดว่าเด็กเสมือนผ้าขาว การแชร์ภาพต่าง ๆ ต้องระมัดระวัง ขอให้เห็นใจญาติผู้เสียหาย หรือผู้ที่ถูกกระทำ เพราะนั่นเป็นการซ้ำเติม ผลักให้เขาไม่มีที่ยืนในสังคม ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เขาชัดเจนมากว่าห้ามละเมิดสิทธิ และดำเนินการเอาผิดอย่างเฉียบพลันทันที แม้บางอย่างเป็นการทำผิดในประเทศอื่น เช่น การละเมิดทางเพศต่อเด็ก นอกจากจะรับโทษในประเทศนั้น ๆ แล้ว จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาในประเทศเขาด้วย ดังนั้น ภาครัฐควรมีกระบวนการยกระดับจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น