xs
xsm
sm
md
lg

ฉันคิดมากเกินไปหรือเปล่านะ, Am I overthinking?  /  ดร. แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อเราหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเองมากเกินไปชนิดที่ไม่สามารถหยุดมันได้ ย้ำคิดย้ำทำ คิดวนเวียนซ้ำซากในเรื่องเดิม คิดจนไม่เป็นอันกินอันนอน คิดกระวนกระวายจนจิตใจเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา นั่นคงถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องหยุดความคิดนั้นเสีย วันนี้ผู้เขียนมีวิธีการหยุดความคิดมาก ดังนี้

1. ยอมรับว่า เรากำลังคิดมากเกินไปแล้ว เช่นเดียวกับเมื่อเราอ้วนขึ้นเราต้องยอมรับว่าเรารับประทานอาหารมากเกินไป การคิดมากก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราคิดมากจนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น มีสัญญาณเตือนที่บอกว่าเรากำลังเป็นคนที่คิดมากเกินไปแล้ว ดังนี้

1.1 พิจารณาตัวเอง ว่าเรากำลังหมกมุ่นกับความคิดบางสิ่งบางอย่างโดยคิดถึงเรื่องนั้นวนเวียนกลับไปกลับมาหรือไม่ เราจมอยู่กับเรื่องนั้นมากจนเกินไปหรือเปล่า

1.2 วิเคราะห์สถานการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งละเอียดจนเกินไปหรือเปล่า ถ้าเรากำลังคิดถึงวิธีการบางอย่างที่จะแก้ปัญหานั้นอย่างมากมายทุกแง่ทุกมุมและไม่สามารถจะละออกจากเรื่องนั้นได้เลย นั่นคือเรากำลังเป็นคนคิดมากอยู่นะ

1.3 คนใกล้ตัวพากันบอกว่าเราเป็นคนที่คิดมาก และแนะนำว่าเราควรเลิกคิดมาก และไปหาอย่างอื่นทำดีกว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่าเรากำลังเป็นคนคิดมากซะแล้ว

เมื่อรู้ตัวว่าคิดมากเกินไปแล้ว ควรทำอย่างไร

1. ทำสมาธิ เมื่อเรามีความรู้สึกว่าเราไม่สามารถหยุดความคิดได้ เราต้องเริ่มฝึกตัวเองที่จะปล่อยวางความคิดเพื่อที่เราจะเป็นอิสระ เมื่อเราเริ่มคิดวนเวียนกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้เราสูดลมหายใจลึก ๆ การทำสมาธิจะช่วยให้เราสงบและรู้จักการควบคุมความคิดตัวเองได้

1.1 ใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาที ในการทำสมาธิทุก ๆ เช้า จะช่วยให้เราสงบ ผ่อนคลาย และสามารถปล่อยวางความคิดที่ไม่ถูกต้องได้ นอกจากนี้การทำสมาธิก่อนนอนจะช่วยให้เราหลับสบาย

2. ออกกำลังกาย เช่น การเล่นโยคะ การวิ่ง การเดิน การว่ายน้ำเป็นประจำจะช่วยให้เรามีจุดสนใจนิ่งอยู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยให้จิตใจของเราออกจากเรื่องที่คิดมากกังวลใจได้ 

3. ใกล้ชิดกับธรรมชาติ สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าจะช่วยทำให้เราคลายเครียดและมีอารมณ์สดชื่นแจ่มใส

4. พูดความคิดนั้นออกมาดังๆ เมื่อเราพูดทุกสิ่งทุกอย่างออกมาดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับตัวเองนั่นเป็นการเริ่มกระบวนการของการปล่อยความคิดนั้นออกไป เราอาจจะเดินไปรอบๆห้องและเมื่อเราพูดความคิดนั้นออกไปเรากำลังเริ่มกระบวนการของการปล่อยความคิดนั้นออกสู่โลกภายนอกคือออกจากความคิดของตัวเราเอง

5. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความคิดของเรา และไม่สามารถออกจากความนึกคิดนั้นได้เลยจนทำให้มีปัญหาในการดำเนินชีวิตนั่นคือเวลาที่เราต้องหาผู้ช่วยที่มีประสบการณ์มาช่วยให้ความคิดของเรานั้นปลอดโปร่งโล่งมากขึ้น เช่น นักจิตบำบัด จิตแพทย์ 

วิธีควบคุมความคิดมากด้วยตนเอง มีดังนี้

1. จดบันทึก ถึงเรื่องที่รบกวนความคิดจิตใจ ซึ่งเราอาจใช้วิธีการเขียนลงบนกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ เพราะเมื่อเรากลับมาอ่านจะทำให้เรามองเห็นปัญหาซึ่งจะช่วยให้เราหยุดความคิดที่วนเวียนเป็นวงกลมในสมองได้

2. จัดเวลาให้ความคิด เช่น เราจัดเวลาว่าเราอนุญาตให้ตัวเองคิดหมกมุ่นกับปัญหานั่นนู่นนี่ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า - 7โมงเช้า เท่านั้น เวลาอื่นเราจะทำในเรื่องอื่น ต่อมาก็ค่อย ๆ ลดเวลาลงในการคิดหมกมุ่นถึงปัญหา เช่น จาก 6 โมง - 6 โมงครึ่งแล้ว ก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหายจากอาการความคิดมากนั้นได้

หลายคนพูดว่าเราไม่สามารถจะหยุดความคิดได้ โดยเฉพาะความคิดในเรื่องร้าย ๆ แต่แท้จริงแล้วเราสามารถที่จะควบคุมมันได้ด้วยตัวเราเอง เพราะหากเราควบคุมและกำจัดความหมกมุ่นทางความคิดได้แล้ว เราก็จะมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ที่บรรเจิดสวยงาม จำไว้ว่าการคิดมากหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ร้อนต่าง ๆ ที่มากจนเกินไปนั้นเป็นผลร้ายโดยตรงต่อจิตใจที่ส่งผลเสียกระทบในเรื่องของการงาน การเรียน ความสัมพันธ์ และสุขภาพของเรา 

จิตใจก็เป็นตัวล่อลวงเหนือกว่าสิ่งใดทั้งหมด มันเสื่อมทรามอย่างร้ายทีเดียว ผู้ใดจะรู้จักใจนั้นเล่า (เยเรมีย์ 17:9) ดังนั้น “จงรักษาใจของเจ้าด้วยความระวังระไวรอบด้าน เพราะชีวิตเริ่มต้นออกมาจากใจ” (สุภาษิต 4:23)

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น