xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตื่นตูม! เสพติด “โซเชียล” เป็นโรคจิต ยังขาดงานวิจัยรองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์ ชี้ WHO ยังไม่ประกาศ “ภาวะติดโซเชียล” เป็นโรคทางจิตเวชในเร็ววัน เหตุขาดงานวิจัยรองรับอีกมาก ซ้ำเทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้ารวดเร็วกว่างานวิจัย อาจต้องปรับการวินิจฉัยอีก ย้ำเสพโซเชียลมีสติ พิจารณาถี่ถ้วน

จากกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมที่จะบรรจุเรื่องของการเสพติดสื่อออนไลน์ให้เป็น 1 ในคำวินิจฉัยทางจิตเวช คาดว่า จะประกาศอยู่ในระบบการวินิจฉัยใหม่ที่เป็นเกณฑ์ให้แต่ละประเทศใช้ได้ภายใน 1 - 2 ปี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่เชื่อว่าการติดโซเชียลมีเดียจะถึงขั้นเข้าข่ายโรคทางจิตเวช และหากกำหนดให้เป็นโรคทางจิตเวชก็ต้องมีเกณฑ์หรือนิยามให้ชัด

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและสื่อ กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ปัจจุบันนี้ได้มีการจัดให้ภาวะติดเกมออนไลน์ (Internet gaming disorder) อยู่ในกลุ่มวินิจฉัยระดับที่ 3 เท่านั้น คือยังต้องรองานวิจัยมารองรับอีก เพื่อปรับไปเป็นเกณ์การวินิจฉัยระดับที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มโรคและการวินิจฉัยที่แพทย์ใช้โดยทั่วไปในปัจจุบัน ส่วนภาวะการติดโซเชียลมีเดีย ยังคาดว่าไม่น่ามีการประกาศในเร็ววัน ซึ่งตนนั้นได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาภาวะการติดโซเชียลมีเดียเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งจัดโดย WHO เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้สรุปความเห็นว่า ยังคงต้องการงานวิจัยเพื่อรับรองความรู้ด้านนี้อีกสักระยะ เพื่อสรุปว่าเป็นโรคทางจิตเวชได้ เนื่องจากการติดโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นมีอาการ ลักษณะจำเพาะ และสาเหตุที่แตกต่างออกไปจากการติดสารเสพติดแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนการวินิจฉัยในอนาคตอีก เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสารต่าง ๆ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนงานวิจัยตามทันได้ยาก

นพ.วรตม์ กล่าวว่า แม้จะไม่มีการวินิจฉัยที่ชัดเจน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างชัดเจนแล้ว เราจึงต้องระมัดระวังในการใช้สื่อโซเชียลเป็นพิเศษ ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าเหรียญมีสองด้าน สิ่งที่เราดูอยู่นั้นอาจเป็นได้ทั้งเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกลวง สิ่งที่เราเสพอาจเป็นการนำเสนอเพียงด้านเดียวของผู้สื่อสารเท่านั้นก็ได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงทั้งหมดก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งว่ามันเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสม เราก็ไม่ควรสนับสนุนและควรป้องกันอันตรายต่อคนรอบข้างที่รับสื่อนั้นด้วย เพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังควรดูแลและให้คำแนะนำในการรับสื่อต่าง ๆ แก่ลูกหลานที่ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น