xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งดูแลเข้มผู้ป่วยจิต “เคยก่อคดี-ดื่มเหล้า-ไร้ญาติ” หวั่นอาการกำเริบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.สั่งติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เคยก่อคดี-ดื่มเหล้า-ไร้ญาติ เป็นพิเศษ หวั่นอาการกำเริบ ก่อเหตุซ้ำง่าย แนะวิธีสังเกตสัญญาณอาการกำเริบ เตือนพบคนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช ให้แจ้งเจ้าหน้าที่

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเพื่อสร้างความปลอดภัยชุมชนและสังคม หลังเหตุการณ์ชายเร่ร่อนซึ่งมีประวัติรักษาทางจิตเวชและขาดการติดต่อกับ รพ.จิตเวช ได้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นบริเวณถนนลาดพร้าวว่า ขณะนี้ สธ.ได้จัดระบบติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยง 2 กลุ่มเป็นกรณีพิเศษ คือ 1. กลุ่มผู้ที่มีประวัติเคยก่อคดี เคยทำร้ายคนอื่น หลงผิด หวาดระแวง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอาการร้ายแรงพบน้อยประมาณร้อยละ 1 ของผู้ป่วยทั้งหมด และ 2. กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ผู้ที่ดื่มสุรา หรือไม่มีญาติดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงอาการกำเริบได้ง่าย โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อสม. และเครือข่ายในพื้นที่ติดตามผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ให้ถี่ขึ้น เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ป้องกันการขาดยา จะสามารถควบคุมอาการและพฤติกรรมได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั่วไป โดยผู้เชี่ยวชาญได้จัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศแล้ว คาดว่าจะขยายผลใช้ในเขตสุขภาพทุกเขตกลางปีนี้

คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 5 แสนราย ในจำนวนนี้ 3 แสนรายอยู่ในระบบการดูแลรักษาแล้ว หากผู้ป่วยที่มีอาการได้กินยาตามแผนการรักษาในช่วง 2-3 ปีแรกจะได้ผลดีที่สุด มีโอกาสหายขาด แต่หากมีอาการเกิน 5 ปีจะกลายเป็นเรื้อรัง ปัญหาใหญ่คือการรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยมักมีปัญหาขาดยา อาการป่วยจะค่อยๆ กลับมา จึงต้องขอความร่วมมือญาติช่วยกันดูแล และสังเกตสัญญาณว่าอาการป่วยจะกลับมาอีกคือ ผู้ป่วยเริ่มไม่กินยา พูดไม่รู้เรื่อง ไม่ดูแลตัวเอง พฤติกรรมแปลกจากเดิม ขอให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่รักษา เพื่อนำผู้ป่วยกลับมาดูแลรักษาก่อนที่ขาดยานานเกินไป หรือโทร. 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.พรรณพิมลกล่าว

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไป หากพบผู้มีอาการน่าสงสัยในสถานที่สาธารณะ ไม่มั่นใจว่าเป็นคนเร่ร่อน หรือมีอาการทางจิตหรือไม่ ข้อสังเกตเบื้องต้นหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชจะมีความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถสังเกตได้จากลักษณะท่าทาง สีหน้า แววตาที่แตกต่างจากคนทั่วไป หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าวขอให้หยุดนิ่งเพื่อไม่ให้เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการหรือเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงได้ และหาโอกาสหลบเลี่ยงออกมาขอให้โทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือศูนย์ประชาบดี 1300 เพื่อนำตัวเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในที่ชุมชน ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตอยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรอบรมอาสาสมัครในการนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลในโรงพยาบาล ซึ่งต้องใช้ทักษะพิเศษต่างจากหน่วยกู้ชีพทั่วไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น