xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชนบทจวก “หมอณรงค์” ผลไม้พิษ สธ.ชี้เขตสุขภาพเปลืองทรัพยากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ชนบทจวก “หมอณรงค์” ผลไม้พิษระบบสาธารณสุข สร้างผลงานเสื่อมเสีย หวั่นกระทรวงอื่นเดินตามเขตบริการสุขภาพ เปลืองคนเปลืองทรัพยากร เป็นการถอยหลังเข้าคลอง วอน คสช. พิจารณาคนเปลี่ยนสีเสื้อการเมือง ด้านปลัด สธ. ยันเขตบริการสุขภาพช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการคุณภาพ ลดค่าใช้จ่าย

วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์เรื่อง “เขตสุขภาพประชาชน” ไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูป แต่เป็นผลไม้พิษที่ตกค้างจากการสมคบคิดและผลักดันของปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับอดีต รมว.สาธารณสุข พรรคเพื่อไทย เพื่อทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน โดยส่งถึงหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีใจความโดยสรุปว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามารับตำแหน่งโดยการสนับสนุนของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยตลอดการทำงาน 2 ปี ได้สร้างชื่อเสียไว้ในวงการสาธารณสุข เริ่มจากระบบ พีฟอร์พี ที่ผลักดันจนเกิดการต่อต้านจากโรงพยาบาลชุมชน แต่กลับระดมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ออกมาชน จนเกิดการแตกแยก ซึ่งสุดท้ายเมื่อเกิดวิกฤตการเมือง นพ.ประดิษฐ ก็ถูก นพ.ณรงค์ หักหลังไปเข้ากับ กปปส.

นอกจากนี้ ยังดึงอำนาจการบริหารงบประมาณจาก สปสช. มาบริหารเอง ซึ่งเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะชัดเจนว่าช่วง สธ. บริหารงบประมาณ 3 ปี ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำโรงพยาบาล 200 กว่าแห่งขาดทุน รวมถึงการสร้างระบบเขตบริการสุขภาพ เพื่อรวบอำนาจการบริหารระบบสาธารณสุขที่เคยมอบอำนาจให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลกว่า 1,000 แห่ง กลับเข้าเขตตรวจราชการ 12 เขต เพื่อง่ายกับการเข้าแทรกแซงจัดซื้อจัดจ้างของนักการเมือง และเพื่อต่อรองให้ สปสช. จัดงบประมาณแบบเหมาเข่งซื้อบริการระดับเขต

การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาคือ 1. ต้องแก้กฎหมายเพื่อสร้างกลไกบริหารระดับเขต เพราะระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย มีแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น 2. เป็นการเพิ่มช่วงชั้นการบริหารขึ้นมา แทนที่บทบาทส่วนกลางลดลง และบทบาทท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 3. การสร้าง เขตสุขภาพเท่ากับเพิ่มกรมขึ้นอีก 12 กรม เพิ่ม “อธิบดี” อีก 12 คน ต้องหาคน หาที่ทำการ ฯลฯ มารองรับ เป็นการดึงคนออกจากระบบบริการ ซึ่งขาดแคลนอยู่แล้ว 4. หากตั้งเขตสุขภาพสำเร็จ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะถูกเรียกประชุมจนเสียเวลาทำงานบริการ หรือแก้ปัญหาให้ประชาชน และ 5. อาจเป็นตัวอย่างให้อีก 19 กระทรวงเดินตาม สร้างปัญหาไปทั่วประเทศ

โดยสรุป เขตสุขภาพจะเพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มงาน เพิ่มภาระ เพิ่มขั้นตอนไม่ยึดโยงกับระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เขตสุขภาพ จึงไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูปอย่างแน่นอน ชมรมแพทย์ชนบทและภาคีปฏิรูประบบสาธารณสุข คาดหวังว่า คสช. จะเข้าใจสถานการณ์ โดยเฉพาะ นพ.ณรงค์ ที่เปลี่ยนสีแปรธาตุหลอก คสช. และประชาชน ซึ่งหากหลงเชื่อก็จะปฏิรูปอะไรไม่ได้ ระบบสาธารณสุขไทยต้องถอยหลังเข้าคลอง

ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. นายแพทย์ สสจ. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ และ 12 เขตบริการสุขภาพ ว่า การจัดระบบบริการเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ขจัดสภาพการแข่งขันการขยายบริการและแย่งชิงทรัพยากร เชื่อมโยงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ทั่วถึง เป็นธรรม ลดความแออัดในสถานบริการระดับสูง และสร้างระบบบริหารจัดการที่มีเอกภาพ โดยช่วงปี 2557 - 2560 กำหนดให้ทุกเขตจัดบริการรองรับปัญหาสุขภาพสำคัญของไทย ที่มีอัตราการป่วย ตาย และค่าใช้จ่ายสูง 10 สาขา ได้แก่ 1. หัวใจและหลอดเลือด 2. มะเร็ง 5 สาขาหลัก (สูติ, ศัลย์, อายุรกรรม, เด็ก, ออร์โธปิดิกส์) 3. อุบัติเหตุ 4. ทารกแรกเกิด 5. สุขภาพจิตและจิตเวช 6. ตา 7. ไต 8. ทันตกรรม 9. บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และสุขภาพองค์รวม และ 10. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า หน่วยบริการในพื้นที่มีการทำงานเป็นเครือข่าย การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น กระจายบริการคุณภาพไปสู่ประชาชนทั่วถึงมากขึ้น ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงมือหมอเร็วขึ้น ดังนั้น สธ. จะเร่งกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยจัดทำเป็นโครงสร้างการบริหารงานของเขตบริการสุขภาพให้มีกฎหมายและระเบียบต่างๆ เข้ามารองรับ เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารจัดการภายในเขตได้เบ็ดเสร็จ ทั้งคน เงิน และวัสดุ

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ. กล่าวว่า การประชุมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 8 ส.ค. 2557 มีการนำเสนอภาพความสำเร็จของแต่ละเขตบริการสุขภาพ และจัดประกวดผลงานทั้งหมด 35 เรื่อง เพื่อเป็นแรงจูงใจ ให้ผู้บริหารได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ปัญหาอุปสรรค ความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพในแต่ละเขตบริการสุขภาพ และนำมาปรับใช้กับการบริการในแต่ละเขตสุขภาพให้บรรลุผลสำเร็จ โดยจะตัดสินและมอบรางวัลในวันที่ 8 ส.ค.

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น