ส่ง “สถานีอนามัย” ลุยดูแลประชาชนแบบถึงบ้าน รู้ลึก รู้จริงทุกปัญหาสุขภาพ หวังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลับมาครองใจชาวบ้านเหมือนในอดีต เป็นหัวหอกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ลดการเกิดโรคเรื้อรัง พร้อมเข้มกฎหมายสุขภาพกว่า 40 ฉบับ ตั้ง สสอ. เป็นผู้ควบคุมกำกับการใช้ กม.
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปี 2556-2560 สธ. ได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการหลัก 2 ด้าน คือ 1. การจัดเขตบริการสุขภาพ และ 2. การพัฒนาการสาธารณสุขในระดับอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งจะดูแลในระดับตำบลลงไปถึงหมู่บ้านชุมชน ในลักษณะเครือข่ายเพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน ซึ่งสาเหตุการป่วยขณะนี้ร้อยละ 65 เป็นโรคจากพฤติกรรม และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง รวมถึงปัญหาด้านสังคมจิตวิทยา เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ยาเสพติด อุบัติเหตุจราจร
“ตามยุทธศาสตร์นี้จะปรับการทำงานของสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นปฏิบัติการระดับทัพหน้าของ สธ. โดยฟื้นฟูวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม คือภารกิจหลักจะเน้นออกเยี่ยมดูแลทุกคนที่บ้าน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึงผู้สูงอายุ สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านแบบญาติสนิท รู้ทุกปัญหา ดูแลทุกข์สุข ซึ่งทำให้ในอดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นบุคลากรที่อยู่ในหัวใจของชาวบ้านสูงเป็นอันดับ 1 ส่วนงานรักษาพยาบาล เป็นภารกิจรอง นอกจากนี้ จะเพิ่มการตรวจรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องพบแพทย์ประจำ คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อให้ประชาชนรับบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ในอำเภอ” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุข ซึ่งขณะมีประมาณ 40 ฉบับ เช่น ขยะ สิ่งแวดล้อม เหล้า บุหรี่ อาหาร เป็นต้น ให้จริงจังทุกจังหวัด รวมทั้งงานที่ขาดหน่วยงานดูแล เช่น การควบคุมเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ โดยเฉพาะคลอรีนตกค้างในน้ำประปาทุกประเภท โดยปรับบทบาทของสาธารณสุขอำเภอ ให้เป็นผู้ควบคุมกำกับการใช้กฎหมาย และเป็นผู้ตรวจสอบเฝ้าระวังสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน เสมือนนักระวังภัย ชี้ประเด็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข โดยจะประชุมเครือข่ายหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ในเร็วๆ นี้ เพื่อชี้แจงและวางมาตรการในทางปฏิบัติให้เป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ สอดรับกับ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่