เกาะช้างพบผู้ป่วยจมน้ำบ่อย รพ.เกาะช้าง เร่งพัฒนาระบบบริการ ตั้งแต่การป้องกัน ถึงการส่งต่อผู้ป่วย ช่วยลดอุบัติการณ์ลงได้ เผยการดูแลโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองแตก เพิ่มความคล่องตัว ดูแลได้ทันภายใน 10 นาที ช่วยลดพิการ ตาย
วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ โรงพยาบาลเกาะช้าง จ.ตราด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังดูงานการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนบนพื้นที่เกาะช้าง ว่า สธ. มีนโยบายพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อดูแลผู้เจ็บป่วยกะทันหัน ให้ได้รับความปลอดภัย ลดความพิการแทรกซ้อน หรือเสียชีวิต ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหรือการลงทุนในประเทศได้ สำหรับเกาะช้าง จังหวัดตราด มีประชากรประมาณ 5,000 คน เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะมีสถานพยาบาลภาครัฐ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.เกาะช้าง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 5 แห่ง และคลินิกอินเตอร์ฯของเอกชน 1 แห่ง ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยต่อปีมีนักท่องเที่ยวที่เกาะช้างประมาณ 960,000 คน
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สธ. ได้พัฒนาให้ รพ.เกาะช้าง เป็นสถานพยาบาลหลักในการดูแลสุขภาพประชาชน มีบริการทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย ทั้งในภาวะปกติ และภาวะฉุกเฉิน โดยพัฒนาห้องฉุกเฉินและเครื่องมือแพทย์สอดคล้องกับสภาพปัญหาพื้นที่รวมทั้งเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานไร้รอยต่อ รวดเร็วเช่นเดียวกับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทั่วไป ตามนโยบายการจัดบริการรายเขตบริการสุขภาพ ซึ่งได้เชื่อมต่อบริการของโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดและระหว่างจังหวัดเป็นเนื้อเดียวกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ระบบจะมีความสมบูรณ์แบบในปี 2560 นี้
ด้าน นพ.ฤชุพงศ์ ผู้ภักดี ผอ.รพ.เกาะช้าง กล่าวว่า การพัฒนาบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เน้นหนัก 2 เรื่องที่พบบ่อย คือ 1. ผู้ป่วยจากโรคประจำตัวกำเริบพบปีละประมาณ 7-10 ราย คือโรคโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมองแตก และ 2. ปัญหาจมน้ำทะเลจากปัญหากระแสน้ำดูดออก (Rip currents) มักเกิดในช่วงฤดูฝน พ.ค.-ต.ค. ซึ่งคลื่นน้ำทะเลจะมีความปั่นป่วนสูง แรงน้ำจะพัดตัวคนออกจากฝั่ง ในปี 2556 พบ 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งการจัดระบบบริการดังกล่าว โรงพยาบาลได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ ให้สามารถสังเกตลักษณะของอาการสำคัญของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเส้นเลือดในสมองแตก สัญญาณเตือนของอาการที่ต้องช่วยดูแลเบื้องต้นก่อนโทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพ ทาง 1669 และะจัดทำบัตรสมาชิก (EMS MEMBER CLUB) ให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และโรคเบาหวาน ซึ่งอาจมีอาการกำเริบได้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิก 50 ราย ทำให้เมื่อมีการแจ้งใช้บริการ เจ้าหน้าที่จะรู้ประวัติของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วพร้อมทั้งแผนที่บ้าน ทีมกู้ชีพสามารถเดินทางถึงบ้านผู้ป่วยภายใน 10 นาที รักษาได้ทันท่วงที รวมทั้งรณรงค์ติดโปสเตอร์วิธีการสังเกตอาการเส้นเลือดสมองแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ หมายเลขโทรฉุกเฉิน 1669 ซึ่งจะติดไว้ในแหล่งชุมชน บ้านผู้ป่วยทุกราย สถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นได้เด่นชัด
นพ.ฤชุพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือคนจมน้ำทะเล ได้วางระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เทศบาล กองทัพเรือ ทีมกู้กู้ภัยขององค์การบริหารท้องถิ่น อาสาสมัครสมาคมกู้ภัยบุญช่วยเหลือตราด หน่วยพิทักษ์ความปลอดภัยชายฝั่ง (Beach guard) ซึ่งมีประมาณ 30 คน โรงแรมที่อยู่หน้าหาด โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 5 แห่ง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบและระบบการส่งต่อผู้ป่วย กรณีมีผู้ประสบภัยจำนวนมาก ได้กำหนดจุดรวมพลทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลเกาะช้าง และที่คลินิกอินเตอร์ ซึ่งเป็นภาคเอกชน ฝึกอบรมการช่วยเหลือคนจมน้ำ การช่วยฟื้นคืนชีพ โดยจะทีมกู้ชีพชั้นสูงที่ รพ.เกาะช้าง ทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้ครอบคลุมการช่วยเหลือได้รวดเร็ว และมีเรือเจ็ตสกี 3 ลำ พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น เช่นเชือก ห่วงยาง ทุนเกาะ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำด้วย
นพ.ฤชุพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้อบรมผู้ประกอบการและลูกเรือเรือท่องเที่ยว ที่จะพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูปะการังตามเกาะต่างๆ ประมาณ 40 เกาะ ให้เป็นพี่เลี้ยงสุขภาพประจำเรือ ในการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยฟื้นคืนชีพคนจมน้ำ และติดโปสเตอร์และซีดี ขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพในเรือ 3 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย อังกฤษและรัสเซีย โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมหลังจากลงเรือทุกครั้ง และยังมีบริการตรวจวัดความดันโลหิตให้นักท่องเที่ยว เพื่อตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนลงน้ำ เนื่องจากเคยมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากโรคประจำตัว ระหว่างดำน้ำ ซึ่งพบในปีที่ผ่านมา 2 ราย ซึ่งเป็นเรือทัวร์ดำน้ำที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ “เที่ยวสนุก สุขภาพดี” (Good trip good health) และฟื้นฟูความรู้ทุก 4 เดือน ระบบนี้สร้างความประทับใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอันมาก ในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตราดโดยรถพยาบาล 208 ครั้ง เรือเร็ว 68 ครั้ง เดินทางโดยรถพยาบาลไปกับเรือเฟอร์รี่ 15 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วย อุบัติเหตุที่มีภาวะกระดูกหักหรือมีการบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น ขณะนี้ได้วางระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ทางอากาศยานโดยเฮลิคอปเตอร์ ร่วมกับกองทัพเรือ หากกรณีจำเป็น ซึ่งมีลานจอดชั่วคราว 7 จุด บนพื้นที่เกาะช้าง
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่