xs
xsm
sm
md
lg

คู่หูสุขภาพ ช่วยปรับพฤติกรรมลด “ความดัน-เบาหวาน-หัวใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบละเลียดอาหารหวาน มัน เค็ม ซ้ำยังไม่ออกกำลังกาย เมินหน้าใส่ผักและผลไม้ เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานกรรมที่คุณกำลังทำอยู่นี้จะส่งผลย้อนกลับมาหาคุณเข้าสักวันหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เรารู้จักกันดีก็เช่น ความดัน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่มะเร็ง
แต่อย่างว่า ของที่เคยชอบหม่ำ พฤติกรรมความเคยชินเดิมๆ ในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติ หากจะปรับเปลี่ยนปุบปับก็คงเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญต้องปรับพฤติกรรมด้วยตัวคนเดียวก็อาจจะเคว้งและหมดกำลังใจไปในที่สุด แม้จะมีคำพูดทำนองที่ว่า เรื่องสุขภาพของตัวเองทำไมจะต้องรอให้คนมาช่วยปรับ หากจะเริ่มก็ควรเริ่มที่ตัวเองก่อนก็ตาม แต่หากมีคนมาร่วมปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเชิงการแข่งขัน เช่น แข่งลดน้ำหนัก หรือชวนกันไปออกกำลังกาย ก็น่าจะจูงใจให้การปรับพฤติกรรมประสบความสำเร็จมากกว่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่ ต.ตะกาง อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ได้พาสื่อมวลชนดูการดำเนินงานพื้นที่อำเภอสุขภาพดีในการจัดการปัญหาสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการใช้โมเดลของ “คู่หูดูแลสุขภาพ” ร่วมกับกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ มาช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยลดจำนวนคนอ้วนในพื้นที่ได้มากถึง 80% เลยทีเดียว
นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
ส่วนที่มาที่ไปของการดำเนินงานคู่หูดูแลสุขภาพนั้น นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตราด อธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งจะมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นแม่ข่าย และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นลูกข่ายดำเนินงานร่วมกับ อปท. ผู้นำชุมชน อสม. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เหมาะกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ส่วนกลุ่มที่ป่วยแล้วก็ได้รับการดูแลเข้าถึงบริการ ควบคุมให้อาการอยู่ในระดับปกติ ไม่เกิดโรคแทรกซ้อน

สำหรับสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของ จ.ตราด พบว่า โรคมะเร็ง มีอัตราการตายอันดับ 1 รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนอัตราป่วยสูงสุดคือโรคความดันโลหิตสูง โดยปี 2557 พบป่วย 9,447 ราย รองลงมาคือ เบาหวาน ป่วย 6,034 ราย การควบคุมป้องกันโรคจึงดำเนินงานในโครงการ “สุขภาพดีวิถีไทย” นำร่องพื้นที่ ต.ตะกาง ก่อน ภายใต้แนวคิดของดีบ้านฉัน บริหารจัดการโดยชุมชน ซึ่งมีการประกาศนโยบายสุขภาพดี 7 เรื่อง คือ 1. กินผักและผลไม้ปลอดสารพิษวันละครึ่งกิโล 2. ลดอาหารหวาน มัน เค็ม 3. ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพหมู่บ้าน 4. ออกกำลังกายถูกต้องทุกวันๆ ละ 45 นาที ยกเว้นวันอาทิตย์ 5. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่โมโหง่าย ไม่เครียด 6. ไม่ดื่มสุรา และ 7. ไม่สูบบุหรี่
นายอภิเดช บุญล้อม นายกเทศมนตรี ต.ตะกาง
ด้าน นายอภิเดช บุญล้อม นายกเทศมนตรี ต.ตะกาง ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ต.ตะกาง มี 6 หมู่บ้าน ประชากร 1,986 คน มีผู้ป่วยความดันโลหิต 98 ราย เบาหวาน 48 ราย หัวใจและหลอดเลือด 36 ราย และโรคมะเร็ง 7 ราย การดำเนินงานอำเภอสุขภาพดีเริ่มที่ หมู่บ้านหัวหนอง ต.ตะกาง เมื่อปี 2552 โดย อปท. อสม. เป็นทีมสุขภาพอำเภอ การดำเนินงานจะเน้นที่การตรวจสุขภาพแบบเชิงรุก เพื่อคัดกรองโรคเรื้อรัง โดยแยกระดับของโรคตามปิงปองจราจร 7 สี ตามนโยบายของ นพ.สสจ.ตราด เช่น โรคเบาหวาน สีขาวคือ ระดับน้ำตาลต่ำกว่า 100 สีเขียวอ่อน 1 ระดับน้ำตาลอยู่ที่ 100-125 ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง สีดำ หมายถึงป่วยมีโรคแทรกซ้อน เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยงสีเขียวอ่อน ยังสามารถแก้ไขไม่ให้เกิดโรคได้ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ที่ดำเนินการก็คือสร้างแกนนำ “คู่หูดูแลสุขภาพ” โดยมีหมออนามัยเป็นศูนย์กลาง ให้ อสม. แต่ละคนซึ่งมีความรับผิดชอบดูแลแต่ละบ้านอยู่แล้วคนละ 5-10 บ้าน ให้ชักชวนบ้านที่ตนดูแลมาออกกำลังกาย ส่งเสริมให้กินผักผลไม้ครึ่งกิโล เป็นต้น เรียกได้ว่า อสม.ต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพเป็นเพื่อนไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการทำ Walk Rally ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 5 ฐาน คือ ฐานวัดรอบเอว ฐานตรวจระดับน้ำตาลวัดความดันโลหิต ฐานหลากหลายวิธีพิชิตพุง ฐานการเลือกอาหาร และฐานอาหารหวานเค็มน้อย สร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ช่วยให้จดจำได้ดีกว่าการฟังบรรยาย และจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายในชุมชน ปลูกฝังพฤติกรรมดังกล่าวเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ ออกกำลังกายแบบผู้สูงวัย พบว่า รอบเอวเกินเฉลี่ยลดลง คุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตสูงได้เพิ่มมากขึ้น
 
 
สำหรับคนเมืองแม้จะมีบริบทแวดล้อมที่ต่างกัน แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนสุขภาพ ลองชักชวนเพื่อน หรือคนใกล้ชิดมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีด้วยกันอย่างมีวินัย ก็เชื่อว่าจะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น