xs
xsm
sm
md
lg

“รพ.สต.- อสม.” ปรับพฤติกรรมคนในชุมชน ลดอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ. ชู ต.ตะกาง ต้นแบบระบบสุขภาพอำเภอลดผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เน้น รพ.สต. อสม. ชุมชนร่วมกันยับยั้ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน ลดอ้วนได้ถึง 80% ผู้ป่วยเบาหวานคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น แถมผูป่วยรายใหม่ลดลง พบคนอายุยืนขึ้น อายุเกิน 90 ปี ถึง 13 คน

วันนี้ (5 มิ.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตะกาง อ.เมือง จ.ตราด ว่า ปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทยอันดับ 1 คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีผู้ป่วยมากกว่า 7 ล้านคน บางคนเป็นทั้ง 2 โรค รวมแล้วมากกว่าโรคติดเชื้อหลายเท่าตัว เช่น มากกว่าโรคเอดส์ 3-7 เท่า มากกว่าไข้เลือดออกประมาณ 70 เท่า ที่สำคัญเมื่อป่วยแล้วไม่มียารักษาหายขาด ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดชีวิต มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป โดยจำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลประมาณร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สธ. มีนโยบายเขตบริการสุขภาพ ซึ่งจะเร่งพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอในการจัดการปัญหาสุขภาพดังกล่าวในท้องถิ่น ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดำเนินการโดยให้ทุกอำเภอตั้งทีมเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ โดยมีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นแม่ข่าย และมี รพ.สต.ทั่วประเทศ 9,750 แห่ง เป็นลูกข่ายดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้นำชุมชน อสม. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย มีพฤติกรรมสุขภาพดีเหมาะกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนกลุ่มที่ป่วยแล้วได้รับการดูแลเข้าถึงบริการ ควบคุมอาการให้อยู่ในระดับปกติ ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนอันตราย หากสำเร็จจะเป็นการยกระดับการพัฒนาสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เนื่องจากเป็นมาตรการที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกประสบผลสำเร็จ และแนวทางนี้ เป็นการระดมพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในอนาคตจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว

ด้าน นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตราด กล่าวว่า ต.ตะกาง มี 6 หมู่บ้าน ประชากรทั้งหมด 1,986 คน มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 98 ราย เบาหวาน 48 ราย เป็นทั้ง 2 โรค 57 ราย เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 36 ราย และโรคมะเร็ง 7 ราย ซึ่งการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับอำเภอนั้น มี รพ.ตราด เป็นหัวหน้าทีมเครือข่ายฯ โดย ต.ตะกาง เริ่มดำเนินการพื้นที่ต้นแบบที่บ้านหัวหนองก่อน เมื่อปี 2552 ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก อปท. และ อสม. โดยประกาศเป็นนโยบายสุขภาพตำบลตะกาง 7 ประการ ได้แก่ 1. กินผักและผลไม้ปลอดสารพิษวันละครึ่งกิโล 2. ลดอาหารหวาน มัน เค็ม 3. ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพหมู่บ้าน 4. ออกกำลังกายอย่างถูกต้องทุกวันๆ ละ 45 นาที ยกเว้นวันอาทิตย์ 5. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่โมโหง่าย ไม่เครียด 6. ไม่ดื่มสุรา และ 7. ไม่สูบบุหรี่ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการจนครบทุกหมู่บ้าน เน้นการตรวจสุขภาพคัดกรอง โดยแต่ละโรคจะแบ่งระดับตามปิงปองจราจรชีวิต 7 สี เช่น สีขาว มีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 สีเขียวอ่อน 1 คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 100-125 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพกลุ่มเสี่ยง โดยตั้ง อสม.ให้เป็นคู่หูสุขภาพ ซึ่ง อสม. แต่ละคนจะกระจายพื้นที่ในการดูแลประมาณ 5-10 ครอบครัว โดยจะชักชวนให้ครอบครัวที่ดูแลดำเนินการออกำลังกาย ส่งเสริมการกินผักผลไม้ เป็นต้น รวมถึงจัดทำวอล์ก แรลลี 5 ฐาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ฐานวัดรอบเอว ฐานตรวจระดับน้ำตาลและวัดความดันโลหิต ฐานหลากหลายวิธีพิชิตพุง ฐานการเลือกอาหาร และฐานอาหารหวานเค็มน้อย สร้างความสนใจประชาชน จดจำได้ดีกว่าการฟังบรรยาย

นพ.ชรัตน์ กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จ จำนวนประชาชนใน ต.ตะกาง มีหุ่นดี รอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ชายไม่เกิน 34 นิ้ว หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในปี 2555 เป็นเกือบร้อยละ 80 ในปี 2557 ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพิ่มจากร้อยละ 8 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2557 ส่วนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควบคุมได้ร้อยละ 62 จำนวนผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ลดลงจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 6 ส่วนโรคควาดันโลหิตสูงลดลง จากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 9 มีผู้สูงอายุ อายุยืนมากกว่า 90 ปี จำนวน 13 คน ในจำนวนนี้ มีอายุ 100 ปี 1 คน ไม่มีโรคประจำตัว ผลงานครั้งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขตปี 2554 และ 2555 ในภาพรวมของ จ.ตราด ขณะนี้มีหมู่บ้านลดเสี่ยงลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 191 แห่ง ผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน 9,244 ราย เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง 29,449 ราย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





คู่หูสุขภาพ ช่วยปรับพฤติกรรมลด “ความดัน-เบาหวาน-หัวใจ”
คู่หูสุขภาพ ช่วยปรับพฤติกรรมลด “ความดัน-เบาหวาน-หัวใจ”
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบละเลียดอาหารหวาน มัน เค็ม ซ้ำยังไม่ออกกำลังกาย เมินหน้าใส่ผักและผลไม้ เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานกรรมที่คุณกำลังทำอยู่นี้จะส่งผลย้อนกลับมาหาคุณเข้าสักวันหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เรารู้จักกันดีก็เช่น ความดัน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่มะเร็ง แต่อย่างว่า ของที่เคยชอบหม่ำ พฤติกรรมความเคยชินเดิมๆ ในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติ หากจะปรับเปลี่ยนปุบปับก็คงเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญต้องปรับพฤติกรรมด้วยตัวคนเดียวก็อาจจะเคว้งและหมดกำลังใจไปในที่สุด แม้จะมีคำพูดทำนองที่ว่า เรื่องสุขภาพของตัวเองทำไมจะต้องรอให้คนมาช่วยปรับ หากจะเริ่มก็ควรเริ่มที่ตัวเองก่อนก็ตาม แต่หากมีคนมาร่วมปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเชิงการแข่งขัน เช่น แข่งลดน้ำหนัก หรือชวนกันไปออกกำลังกาย ก็น่าจะจูงใจให้การปรับพฤติกรรมประสบความสำเร็จมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น