xs
xsm
sm
md
lg

แนะ “ดึงสติ” ก่อนโพสต์เฟซบุ๊กระบายปัญหาชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์เตือน “ดึงสติ” รู้เท่าทันอารมณ์ ก่อนโพสต์ “เฟซบุ๊ก” ระบายปัญหาชีวิต ย้ำสื่อออนไลน์แพร่กระจายเร็ว หลักฐานชัดเคยพูดสิ่งใด เสี่ยงย้อนทำร้ายตนเองภายหลัง ห่วงคนรอบข้างอาจสื่อสารคนโพสต์ไม่เพียงพอ แนะผู้ใหญ่สอดส่องสร้างวุฒิภาวะให้เด็ก

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงพฤติกรรมการโพสต์เฟซบุ๊กของคนในสังคมไทย โดยเด็กนิยมโพสต์ภาพการทำร้ายตัวเอง หรือผู้ใหญ่ที่มักโพสต์เรื่องราวปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ว่า คนส่วนใหญ่ที่โพสต์เรื่องราวปัญหาชีวิตต่าง ๆ ลงในสังคมออนไลน์นั้น เชื่อว่า พยายามที่จะแก้ไขปัญหาแล้ว แต่อาจจะยังไม่เป็นที่เข้าใจ และเป็นที่ยอมรับของคนที่ต้องการจะสื่อสารด้วย เมื่อปัจจุบันมีโซเซียลมีเดียเกิดขึ้น จึงเลือกที่จะบอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก เพราะเป็นอีกช่องทางที่จะสามารถสื่อสารกับคนที่ต้องการจะบอกได้ จึงนำมาซึ่งปัญหาที่ไม่รู้จบ เพราะการสื่อถึงปัญหาทางอารมณ์ของผู้โพสต์ เป็นได้ว่าคนรอบข้างอาจจะสื่อสารกับคนคนนั้นไม่เพียงพอ

“กรณีของเด็กนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าเด็กมีวุฒิภาวะไม่เพียงพออยู่แล้ว ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างจึงควรที่จะสร้างวุฒิภาวะให้กับเด็ก ควรบอกสอนว่าแสดงออกอย่างไรจึงจะถูกต้อง นอกจากนี้ ยังต้องติดตามดูการแสดงออกในเรื่องราวต่าง ๆ ของบุตรหลานอีกด้วย และต้องรับผิดชอบในการแสดงออกนั้นๆ ของเด็ก ต้องมีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด ปรับตัวเข้าหากัน” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวว่า ผู้ที่ใช้สื่อต้องตระหนักว่า ถึงแม้จะตั้งค่าการโพสต์ต่าง ๆ ไว้เป็นส่วนตัวแล้ว แต่การโพสต์เรื่องราวเช่นนี้ก็ยังเหมือนเป็นการเล่าเรื่องลงในที่สาธารณะอยู่ดี ซึ่งมีสิทธิ์ที่เรื่องราวต่าง ๆ จะถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้คนที่อาจจะไม่ได้รู้จักสนิทสนมกับผู้โพสต์ เช่น การโพสต์ถึงเรื่องเศร้าในชีวิต หรือปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อผ่านเวลาไปแล้วอาจจะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นอีก แต่เมื่อคนอื่นมาเห็น อาจก็ยังเข้าใจว่าเราเป็นแบบนั้น อีกทั้งคำพูดที่สื่อออกไปยังเป็นนายเรา เพราะมีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่าเคยพูดสิ่งนั้น ไม่เหมือนการพูดบอกเล่าเฉย ๆ ดังนั้น ทุกคนที่ใช้สื่อออนไลน์ควรมีสติในการดำรงชีวิต รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควรคิดทบทวนก่อนพูดก่อนทำ ตระหนักเสมอว่าโลกออนไลน์รวดเร็วต่อการแพร่กระจายมาก

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น