จากเรื่อง "วงใน" กลายเป็นเรื่องที่คน "วงนอก" ให้ความสนใจ เมื่อพลทหารรายหนึ่ง บุกเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากนายกฯ กรณีถูกทำร้ายร่างกายด้วยการล่ามโซ่ หลังเข้ามาทำหน้าที่เป็น "ทหารบริการ" ในบ้านอดีตนายทหารเรือรายหนึ่งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แม้ผู้บัญชาการระดับสูงจะออกมาบอกเป็นความสมัครใจ แต่การเอาทรัพยากรของกองทัพไปใช้งานส่วนตัวยังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และปัญหาคอรัปชั่นที่มีอยู่จริง!
รับใช้ชาติ หรือรับใช้ใคร
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง กรณีที่นายทหารเรือนอกราชการถูกพลทหารรับใช้ร้องเรียนว่าทารุณกรรม จุดประเด็นคำถามทั้งนายทหารเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ทำไมยังมีสิทธิเรียกใช้พลทหารรับใช้ประจำตัวได้ รวมไปถึงการเอาทรัพยากรของกองทัพไปใช้งานส่วนตัว คือสิ่งที่ทำได้หรือไม่
ย้อนกลับไปถึงข่าวฉาว สั่นสะเทือนวงการสีเขียว เมื่อพลทหารเอนก ทองวิจิตร ทหารกองประจำการสังกัดศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เข้าร้องทุกข์ต่อศูนย์บริการประชาชนฯ สำนักงาน ก.พ. โดยระบุว่าถูก พล.ร.ต.เบญจพร บวรสุวรรณ อดีตนายทหารเรือนอกราชการ ทรมานร่างกาย พร้อมแจ้งความให้ดำเนินคดีทางอาญา เพราะถือว่าเป็นนายทหารนอกราชการไปแล้ว
กระทั่ง พล.ร.ต.เบญจพร เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน สภ.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม ยืนยันว่า ไม่ได้กักขังหน่วงเหนี่ยวตามที่ถูกกล่าวหา แต่พลทหารเอนกหนีออกจากบ้านเพราะทำสิ่งไม่ดีเอาไว้ คาดว่ามีนายทหารอยู่เบื้องหลังคอยบงการเรื่องดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งตน
เรื่องนี้ "กองทัพเรือ" ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับข่าวฉาวดังกล่าว "พล.ร.ต.กาญจน์ ดีอุบล" เลขานุการกองทัพเรือ ออกมาชี้แจงว่า ทางกองทัพเรือไม่มีนโยบายให้พลทหารไปรับใช้ที่บ้านผู้บังคับบัญชาทั้งที่อยู่ในราชการและเกษียณอายุราชการไปแล้ว ส่วนกรณีที่นายทหารเรือนอกราชการถูกพลทหารรับใช้ร้องเรียนว่าทารุณกรรมนั้น ได้มอบหมายให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต้นสังกัดของศูนย์ฝึกทหารสอบสวนในข้อเท็จจริงอยู่ว่าพลทหารคนดังกล่าวไปรับใช้ พล.ร.ต.เบญจพรได้อย่างไร ไปเป็นคนรับใช้เองในฐานะที่รู้จักกันมาก่อน หรืออาจจะถูกจ้างไปเองหรือไม่
ขณะที่ ผู้บัญชาการทหารบก "พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร" ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันเรียก "ทหารบริการ" มีหน้าที่ช่วยเหลือดูแลผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีผู้มาช่วยทำงานบ้าง และการจะเข้ามาทำงานเป็นทหารบริการนั้นจะต้องมีความสมัครใจ เป็นการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจแต่อย่างใด พร้อมทั้งมีสวัสดิการที่ดี ไม่ต้องเสียภาระค่าใช้จ่ายอะไร
มากไปกว่านั้น "การอยู่กับผู้ใหญ่จะได้รับความรู้ และมุมมองต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลังจากปลดประจำการ" คือข้อดีที่ผู้บัญชาการทหารบกเผยให้ฟัง ก่อนจะชี้แจงต่อไปว่า ทหารบริการเหล่านี้จะมีเพียงจำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ตามกรมกองต่างๆ ทั้งหน่วยรบ หน่วยช่วยรบ และหน่วยสนับสนุน
ด้านปฏิกิริยาของคนในโลกโซเชียลฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า สรุปเกณฑ์ทหารเข้ามารับใช้ชาติ หรือรับใช้ใครกันแน่ หรือบางคนมองว่า แม้จะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กัน และเป็นความสมัครใจของพลทหาร แต่ก็ไม่เหมาะสมที่จะเอาทรัพยากรของกองทัพไปใช้งานส่วนตัว แถมยังเปิดช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชันกันได้
เปิดเบื้องลึกจากปาก "คนวงใน"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องพลทหารที่ออกมาอยู่บ้าน "นาย" ถือเป็นเรื่องปกติที่คนวงใน และวงนอกต่างรู้กันดี โดยเฉพาะลูกคนรวย หรือพวกวิ่งหนีทหารไม่ทัน เรื่องนี้ อดีตนายทหารเรือที่เป็นข่าวก็เคยออกมาแฉว่า มีอยู่จริง บางคนมีการขอชื่อไปอยู่บ้านผู้บังคับบัญชา แต่ตัวไม่อยู่ คนที่รับเงินไปเต็มๆ ก็คือ ผู้บังคับบัญชา
ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้มีโอกาสพูดคุยกับแหล่งข่าววงใน ซึ่งเป็นอดีตครูฝึกทหาร และเคยจัดหาพลทหารไปช่วยงานที่บ้านนายทหารระดับสูง โดยเขาเล่าให้ฟังว่า นายทหารที่เป็นสัญญาบัตร ตั้งแต่ชั้นนายร้อยขึ้นไปสามารถเอาทหารที่อยู่ในสังกัดของตัวเองไปเป็นทหารรับใช้ หรือทหารบริการได้
"พลทหารที่จะไปรับใช้บ้านนายทหารระดับสูงได้ จะต้องเป็นทหารที่ถูกคัดเลือกแล้วว่า มีความประพฤติดี มีวินัย และเป็นเรื่องของความสมัครใจ หรือบางทีทางผู้บังคัญชาจะเป็นผู้เลือก และพิจารณาอีกที ซึ่งพลทหารหลายคนอยากไปรับใช้กันมาก เพราะว่ามันสบาย เบี้ยเลี้ยงก็เต็ม พอสิ้นเดือนผู้บังคับบัญชาที่ดูแลพลทหารรับใช้ก็จะมารับเงินเดือนที่ต้นสังกัดให้ รวมไปถึงเบี้ยเลี้ยงด้วย เวลาจะลากลับบ้านทางผู้บังคับบัญชาจะออกให้เองไม่ต้องผ่านทางต้นสังกัด ส่วนพลทหารที่อยู่ตามกองร้อยกองพันก็จะได้เบี้ยเลี้ยงเหมือนกัน แต่จะต้องถูกหักค่าข้าว และอื่นๆ"
อดีตครูฝึกทหาร ยังเผยให้ฟังต่อว่า พลทหารบางคนไปอยู่บ้านนายแล้ว แต่อยู่ไม่ได้ก็มีเหมือนกัน โดยเหตุผลหลักๆ คือ ถูกใช้งานหนัก และทำงานเกินหน้าที่ เช่น ต้องซักกางในให้คนในบ้าน สุดท้ายก็กลับมาอยู่กองร้อยเหมือนเดิม ปัจจุบันทหารรับใช้เปลี่ยนมาเป็นทหารบริการแทน เพราะมันไม่มีเกียรติ แต่บางคนก็เลือกที่จะเป็น เพราะมันสบาย ไม่ต้องไปฝึกให้เหนื่อย แถมยังได้เบี้ยเลี้ยงเต็มอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ระบบทหารบริการที่ไปรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา แหล่งข่าวรายนี้มองว่า เป็นช่องว่างให้ผู้บังคับบัญชาบางคนหาผลประโยชน์เข้าตัวได้
"ผู้บังคับบัญชาบางคนทำตัวเลวๆ ก็มีนะ ได้พลทหารมารับใช้ที่บ้านแล้ว ก็คิดเอาเปรียบ เอ็งมาทำงานบ้านข้า กินข้าวบ้านข้าแล้ว เงินเดือนที่เอ็งต้องได้ก็ต้องเป็นของข้า แบบนี้ก็มีครับ แต่มีน้อย หรือบางคนเลวมากๆ มีการคุยผลประโยชน์กันกับผู้ปกครองของพลทหารที่รวยๆ เช่น มีการขอชื่อไปอยู่บ้านผู้บังคับบัญชา แต่กลับไม่ได้ไปอยู่จริง เพราะถือเป็นการช่วยลูกคุณให้ได้ไปอยู่บ้านแล้ว ส่วนเงินเดือนลูกคุณก็ต้องตกเป็นของฉัน พอครบกำหนดปลด คุณก็ให้ลูกคุณมารับใบทหารกองหนุนแล้วกัน ซึ่งกรณีนี้ต้องมีพรรคพวกที่รู้จักกันด้วยนะ"
ทั้งนี้ เพื่อปิดช่องว่างในการหาประโยชน์ระหว่างนายทหารระดับสูงกับผู้ปกครองที่มีฐานะร่ำรวย ทางเดียวที่อดีตนายทหารรายนี้ มองเห็นก็คือ ออกกฎห้ามไม่ให้เอาพลทหารไปรับใช้ส่วนตัว การเกณฑ์เข้าไปเป็นทหาร ต้องรับใช้ชาติอย่างเดียว เช่น ฝึก หรือทำหน้าที่ในราชการเท่านั้น
ถ้าเป็นไปได้ ควรเท่าเทียมกัน
ด้าน พลทหารหนุ่มวัย 25 ปี แม้ปัจจุบันจะเป็น "ทหารบริการ" ที่ไม่ต้องฝึกเหมือนเพื่อนพลทหารคนอื่นๆ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาหยุดที่อาจจะไม่มีมากนัก แถมยังต้องทำงานบนความกดดัน เพราะต้องทำงานกับผู้บังคับบัญชา โดยงานหลักๆ คือ เอาเสื้อไปซัก จัดเสื้อผ้า รดน้ำต้นไม้ ไปทำความสะอาดบ้านพัก เป็นต้น
"ทหารบริการมีหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ทหารบริหารประจำกองพัน กองร้อย และบ้านนาย เป็นความสมัครที่คัดเลือกจากความประพฤติ วุฒิการศึกษา และสาขาที่จบมา ใครใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็ไปอยู่กับจ่า ทำงานเอกสาร เดินเอกสาร ส่วนผมทำได้ทุกอย่างก็ไปทำงานกับผู้บังคับบัญชาที่กองพัน ทั้งเอาชุดไปซัก จัดเตรียมเสื้อผ้า ไปรดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้านพักบ้าง ซึ่งการมาเป็นทหารบริการ มีบ้างที่จะถูกเพื่อนๆ บางคนเขม่น หาว่ากินอยู่สบายกว่า แต่จริงๆ แล้วเป็นการทำงานที่กดดันนะ เล่นสนุกไม่ค่อยได้ แถมยังมีวันหยุดน้อย"
เมื่อถามถึงมุมมองต่อระบบ "ทหารบริการ" พลทหารรายนี้มองว่า ถ้าจะให้ดี ควรสร้างความเท่าเทียมกัน เช่น ฝึกก็ต้องฝึกหนักเหมือนกันหมด เหนื่อยก็ต้องเหนื่อยเหมือนกันหมด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการแบ่งแยก และการเขม่นในกลุ่มเพื่อนทหารด้วยกันเองได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายนี้ หากมองในมุมของคนโลกสวยก็คงจะไม่เห็นด้วยกับการเอาทรัพยากรของกองทัพไปใช้งานส่วนตัว แต่ถ้ามองตามหลักความเป็นจริง กรณีนี้ก็น่าจะเข้าข่าย "วิน-วิน" ด้วยกันทั้งคู่ เพราะ "นาย" ได้คนมาคอยให้บริการ ส่วนทหาร (บางคน) ก็หวังสบาย ไม่ต้องฝึกเหนื่อยๆ
แต่คำถามที่ต้องตอบสังคมให้ได้คือ จะลงโทษ และจัดการอย่างไรกับผู้บังคับบัญชาที่หาผลประโยชน์เข้าตัวเองจาก "ระบบทหารบริการ" เพราะเรื่องแบบนี้ "ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง" หากปล่อยทิ้งไว้ก็เท่ากับปล่อยให้วงการสีเขียวเหม็นเน่าไปทั้งเข่ง ส่งกลิ่นคาวฉาวโฉ่ สร้างความอับอายไปทั่วประเทศ
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754