จับเข่าคุยกับตัวเป้งแห่งสถานีทีวีดิจิตอลไทย เผยกลยุทธ์สร้างฐานคนดูในทีวีระบบใหม่ หลายรายโอดหืดขึ้นคอ วอน กสทช.เจ้าของสัมปทานยืดเวลาชำระหนี้ โวยความมั่นใจที่จะโกยกำไรยังไม่มี ด้าน กสทช.โว บอกผู้ประกอบการทนอีกนิด สถิติชี้ชัดว่าปีนี้กำไรมาเต็มกว่าปีก่อนถึง 3 เท่า! งานนี้ใคร “รอด” ใคร “รุ่ง” และ ใคร “ร่วง” ชี้ชะตาให้เห็นอนาคตกันไปเลย!!
กสทช.ชี้อนาคต เตรียมรับเม็ดเงินเพิ่ม 3 เท่า!
(ฐากร เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. ฟังธงด้วยสถิติ)
“ใครรอด ใครร่วง ชี้ชะตาทีวีดิจิตอลประเทศไทย” คือชื่องานเสวนาที่ตั้งคำถามอนาคตของทีวีระบบใหม่ในประเทศไทยซึ่งเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน เม.ย.2557 จากผลประกอบการ 1 ปีที่ผ่านมา พอจะช่วยชี้ชะตาได้ว่าใครจะอยู่ใครจะไป
จากฐานข้อมูลสถิติการเปรียบเทียบสภาพตลาดของผู้ชมและมูลค่าการโฆษณาในปี 2556-2557 ที่ทางกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เอามาโชว์ในงานนี้ เรียกได้ว่าช่วยให้ผู้ประกอบการที่กำลังอ่อนล้าในการต่อสู้บนสมรภูมิอันดุเดือดนี้พอจะหายใจหายคอขึ้นมาได้บ้าง โดยเฉพาะข้อมูลจาก ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช.ที่ฟันธงเอาไว้ว่าปีนี้มูลค่าการลงโฆษณาในทีวีดิจิตอลพุ่งสูงกว่าเดิมเป็น 3 เท่า รับประกัน!
“จะเห็นว่าตั้งแต่เดือน ต.ค.57 เป็นต้นมา หลังจากที่มีการแจกคูปอง สัดส่วนของผู้ที่มาเข้ารับชมระบบดิจิตอลจะมากขึ้นแบบก้าวกระโดดและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ 15 มี.ค.58 นี้ จะเห็นว่าสัดส่วนของผู้ที่เข้ารับชมในระบบอะนาล็อกจากผู้ประกอบการเดิม ลดลงเหลือ 74.3 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้รับชมในช่องใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 25.7 เปอร์เซ็นต์ แปลงตัวเลขออกมาคิดเป็นสัดส่วนจำนวนผู้ชมปัจจุบันที่ดูทีวีอะนาล็อกมีอยู่ 45.06 ล้านคน และมีผู้รับชมผ่านระบบดิจิตอลในช่องใหม่คิดเป็น 15.60 ล้านคนแล้ว”
(ผู้ประกอบการมาขอโวยเองต่อ กสทช.)
เพื่อให้เข้าใจตรงกัน “ทีวีอะนาล็อก” ที่เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช.บอกเอาไว้ในที่นี้ หมายถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบเดิมทั้ง 6 ช่อง ได้แก่ 3, 5, 7, Mcot, 11 และ ThaiPBS ส่วน “ทีวีดิจิตอล” หมายถึงสถานีใหม่ทั้ง 21 ช่อง ไม่รวม 3, 7, Mcot และบรรทัดต่อจากนี้คือข้อมูลเชิงสถิติที่ทำนายอนาคตเอาไว้อย่างชัดเจน
“จากฐานข้อมูลปี 2556-2557 ทำให้ประเมินอย่างถูกต้องได้ว่ามูลค่าการโฆษณาของปี 2558 โดยรวมจะอยู่ที่ 97,525 ล้านบาท ส่วนอัตราการเจริญเติบโตของทีวีดิจิตอลช่องใหม่จะเป็นยังไงบ้างนั้น คาดการณ์ไว้ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้น 2-3 เปอร์เซ็นต์ จากปี 57 ที่รายได้รวมทั้ง 21 ช่องอยู่ที่ 12,071 ล้านบาท ลองเอาค่าเฉลี่ยจำนวนช่องมาหาร จะได้อัตราเฉลี่ยรายได้ต่อช่องออกมาคือ 574.18 ล้านบาท นั่นหมายถึงมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 63.87 ล้านบาท ถ้าถามว่าช่องของท่านจะอยู่รอดมั้ย? ผมไม่ทราบต้นทุนในการประกอบกิจการของท่าน
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณธาม นักวิชาการด้านสื่อสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ)
นี่คือข้อมูลที่เราคาดการณ์ไปอีกประมาณ 9 เดือนข้างหน้าที่เกิดขึ้น ค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 2,365.94 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ช่องไหนทำรายการดี อาจจะมีวงเงินสูงขึ้นมากว่านั้น ส่วนช่องไหนทำรายการไม่ดีก็อาจจะลดลง ขึ้นอยู่กับ Content ของเราแล้วครับ ใครมี Content ดีก็จะมีประชาชนเข้าไปรับชมมากกว่าเอง และต้องจัดทำผังรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจดจำได้ กระตุ้นให้เข้าไปรับชมมากยิ่งขึ้น ส่วนจะอยู่ได้-ไม่ได้ ขอให้ไปคิดกันเอง บอกได้แค่ว่ารายรับของผู้ประกอบการจะโตขึ้นกว่าปี 2557 ประมาณ 3 เท่าจากเดิมแน่นอน!”
PPTV หวั่น! เร่งสร้างฐานคนดูผ่านซีรีส์เกาหลี
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่ง "PPTV HD")
ความเชื่อมั่นที่ทาง กสทช.ช่วยส่งสัญญาณมาให้ว่าผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้แน่นอนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ในฐานะสถานีทีวีดิจิตอลซึ่งสร้างฐานคนดูเพิ่มขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ติด 1 ใน 10 ช่องที่ผู้คนเลือกชมมากที่สุดในขณะนี้อย่าง “PPTV HD” แล้ว ในสายตาของ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV HD) ตอบได้เลยว่า “ไม่มี” แม้แต่นิดเดียวในตอนนี้
“ปัญหาของ กสทช. มาจากกฎหมาย ซึ่งเขียนล็อกไว้เยอะ ล็อกแม้กระทั่งตัวกรรมการ แล้วก็มีเรื่องใบอนุญาต, ค่าธรรมเนียม, โครงข่าย, กฎระเบียบหยุมหยิมเต็มไปหมด คือถ้าปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ไม่ต้องยุ่งยากมากนัก มันจะไปได้ของมันได้เอง แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันยุ่งไปหมด
(เขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แห่ง PPTV HD)
เรื่องกฎหมายระบุว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 2 เปอร์เซ็นต์เข้ากองการพัฒนาสื่อ ประเด็นคือตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าในขณะที่ระบบหลายๆ อย่างยังไม่พร้อมแบบนี้ ในช่วง 5 ปีแรก เราควรจะจ่ายแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ไปก่อนมั้ย เรื่องของกฎระเบียบก็เป็นปัญหา เอากฎทีวีสาธารณะมากำกับดูแล Commecial TV ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถามว่าทำไมต้องบังคับให้รายการต้องมีภาษามือทั้งหมด เพื่อจะคุ้มครองในส่วนผู้พิการ ซึ่งในตลาดต่างประเทศเขาไม่ทำกัน
อย่างช่องผมเป็น HD ประมูลอันดับ 2 รองจากช่อง 3 ราคา 2,400 กว่าล้าน จ่ายแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาที่ลงทุนไปยังไม่ถึง 5-6 ปีของ Licence 15 ปีเลย ในขณะที่เรตติ้งโดนเกลี่ยกระจายมากๆ คำถามที่ว่าจะ “รุ่ง” จะ “ร่วง” เนี่ย ต้องดูปัจจัย 3-4 อย่าง เรื่องการเงิน, เรื่อง Content รายการ, เทคโนโลยี, บุคลากร, วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร รวมถึงเรื่องสายป่านด้วยว่าแต่ละรายมียาวพอมั้ย ทุกวันนี้การแข่งขันในตลาดสูงมาก จะเห็นว่าเฉพาะเคเบิลทีวีก็มีอยู่ 300 กว่าช่องขึ้นไปแล้ว และยังมีดาวเทียมอีกประมาณ 50 กว่าช่อง อะนาล็อกอีก 6 สถานี
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่ง "PPTV HD")
ที่น่าเป็นห่วงมากอีกอย่างคือเรื่อง “ระบบเรตติ้ง” ที่ไม่อัปเดต ใช้พื้นฐานการจัดแบบเดิมจากอะนาล็อก มันส่งผลต่ออัตราค่าโฆษณา ขณะที่ช่องดิจิตอลขายอยู่ประมาณ 5,000 บาทต่อนาที แต่ทีวีปกติระบบอะนาล็อกกลับขายอยู่ที่ 500,000 บาทต่อนาที ความเหลื่อมล้ำมันเยอะมากๆ แถมระบบมันก็ยังขยายออกไปได้ช้า ผู้ชมส่วนใหญ่ดูผ่านดาวเทียม ผมว่านี่คือจุดใหญ่ที่จะมีผลต่อการ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” ของตลาดทีวีดิจิตอลเลย”
ทุกวันนี้ ทาง PPTV จึงพยายามสร้างฐานคนดูของตัวเองให้ขยายออกกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด โดยเริ่มจากกลยุทธ์การฉายซีรีส์เกาหลีเพื่อดึงผู้ชมวัยรุ่นเป็นหลัก ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่ง "PPTV HD")
“ถามว่าคนดูคนไทยชอบอะไรมากที่สุด เราก็เลือกเกาหลีมา ทำให้มีฐานคนดูชัดเจน ไม่ต้องไปคอยดูแบบหลบๆ ซ่อนๆ จากเว็บ เราส่งเสริมการตลาดเข้าไป ฉายให้คนติดเลย 11 เดือน ต่อมาก็ขยับมาพัฒนารายการข่าว สเต็ปต่อไปจะรุกตลาดบันเทิงสำหรับผู้ชาย เราเป็นช่องแรกที่มีถ่ายทอดบุนเดสลีกากับแคปปิตัลวันคัพ ต่อไปเราจะผลิตละดรามาไทยเองป้อนเข้าไปด้วย ปีหน้าจะมีละครไทยอยู่ 10 กว่าเรื่อง เพราะฉะนั้น คนจะจำเราได้ว่า อ๋อ...เจ้าเกาหลี เจ้ากีฬา เจ้าข่าว เจ้าละครไทย”
รักษาฐานลูกค้าเดิม ไม่ขอ “รุ่ง” แค่อย่า “ร่วง”
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่ง "PPTV HD")
“5 ปี” คือระยะเวลามาตรฐานที่จะตอบได้ว่าธุรกิจนั้นๆ จะคืนทุนและอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ แต่สำหรับวิกฤตทีวีดิจิตอลขณะนี้แล้ว รุ่งโรจน์ จรัสแจ่มแก้ว Executive Television ฝ่าย Broadcast บริษัท อมรินทร์เทเลวิชั่น จำกัด ผู้ดูแล “Amarin TV HD” ช่อง 34 บอกเลยว่าสงสัยงานนี้ต้องยืดระยะคืนทุนเผื่อไว้เป็น 5-8 ปี หรือร้ายแรงกว่านั้นอาจไปถึง 10 ปีเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่องทีวีน้องใหม่ที่มีเพียงประสบการณ์การทำสิ่งพิมพ์อย่างอมรินทร์ทีวี
“บุคลากรเราไม่ได้ซื้อตัวกันมา แต่เป็นการสร้างเองใหม่หมดเลย การที่เราจะอยู่ให้รอด จะอยู่ให้ยาวตามอายุสัมปทานได้ เราต้องค่อยๆ พัฒนาตัวเอง แก่นหลักๆ ของเราคือการให้องค์ความรู้ความบันเทิง เน้นรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ดีต่อสังคม แต่ปัญหาของเราและทีวีดิจิตอลอีกหลายๆ ช่องในตอนนี้คือไม่มีคนจำเลขช่องได้
(รุ่งโรจน์ Executive Television แห่ง “Amarin TV HD”)
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถามว่าคนในนี้ ใครที่รับชมทีวีดิจิตอลผ่านกล่องบ้าง (คนยกมือไม่ถึงสิบ) แสดงว่าส่วนใหญ่ดูผ่านดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งเป็นจุดที่ทางอมรินทร์ยังต่อสู้อยู่ พอทุกท่านไปรับชมผ่านดาวเทียม จะไม่ได้เห็นอรรถรสความเป็น High Definition ที่เราพยายามใส่เอาไว้เลย อย่างในอมรินทร์จะกำหนดเลยว่าพนักงานของเราทุกคนจะต้องรับชมผ่านกล่องดิจิตอลเท่านั้น เพราะชมผ่านทางอื่น เนื้อหา Content ที่ได้มันเหมือนกัน แต่มิติของความคมชัด ภาพ สี จะแตกต่างกันแน่นอน
เราเป็นสื่อที่เติบโตมาจากสิ่งพิมพ์ เรามีฐานคนอ่านของเราอยู่แล้ว และตอนนี้เรามีทีวีและมีออนไลน์ด้วย เอาแค่จับกลุ่มลูกค้าเดิมของเราให้ได้ก่อนครับ คนดูทีวีดิจิตอลตอนนี้เหมือนมีเค้กก้อนเดียวที่ต้องยืนระยะไปให้ได้อย่างน้อย 3-5 ปี เราคงไปแข่งกับเจ้าใหญ่ๆ เขาไม่ไหว คงต้องเก็บฐานลูกค้าเดิมเราไว้ให้ก่อน ผมบอกเลยว่าตอนนี้ทำเอา “รอด” ครับ ไม่เอา “รุ่ง” ก็ได้”
(ศุทธิชัย ประธานกรรมการ แห่งช่อง "สปริงนิวส์")
เช่นเดียวกับสถานีข่าวอย่าง “สปริงนิวส์” ที่ไม่ได้หวังอะไรมากมายในช่วงแรกนี้ ศุทธิชัย บุนนาค ประธานกรรมการ บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชัน จำกัด และประธานกรรมการบริหาร บริษัทสปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกเลยว่าขอส่วนแบ่งการตลาดแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ก็พอแล้ว
“คือใน 100 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร 60 ล้านคนเนี่ย ถ้าเผื่อ Segment คนอายุ 30 ขึ้นที่ชอบดูข่าว เราขอซัก 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเป้าหมายก็โอเคแล้วครับ เท่านี้ก็มีปริมาณเป็นล้าน มากพอที่จะดึงสปอนเซอร์ให้เข้ามาได้แล้ว เราต้องอาศัยระยะเวลา ตอนนี้ผู้ประกอบการทุกช่องขาดทุนหมด ถือเป็นระยะเวลาในการลงทุน เขาก็ตั้งเป้าหมายทุนกันไว้ 5 ปีบ้าง 8 ปี 10 ปี การลงทุนโทรทัศน์เป็นการลงทุนระยะยาว ขอให้มีสายป่านที่จะเลี้ยงดูไปให้ครบเป้าหมายตรงนี้ได้ก็น่าจะรอด ซึ่งเรามั่นใจว่าของสปริงนิวส์ไม่น่าจะมีปัญหา สำคัญที่สุดคือการเอานักข่าวรุ่นใหม่ๆ มาทำข่าวให้โดนใจคนส่วนใหญ่ จะได้ขยายฐานให้ไปถึงคนรุ่นเดียวกัน
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่ง "PPTV HD")
ที่สำคัญ เราจะไม่ดึงความเป็นบันเทิงเข้ามาเพราะเราเป็นช่องสถานีข่าว ถ้าจะทำข่าวให้บันเทิง อาจจะทำออกมาในรูปสารคดี เป็น Information Entertainment และส่วนที่ทำให้เราต่างจากรายการข่าวที่มีอยู่ในระบบอะนาล็อกเดิมคือเราเป็นสถานีข่าว เรารายงานข่าวทั้ง 24 ชั่วโมง ใครอยากรู้อะไรสามารถกดเข้ามาที่ช่องเราได้ และมีแค่ข่าวก็ไม่พอ ต้องมีการวิเคราะห์ข่าวที่ดี มีสารคดีน่ารู้ให้กับประชาชนอย่างครบถ้วนด้วย”
เน้นรายการต่างประเทศ “ร่วงทั้งระบบ”!!
เห็นได้ชัดว่า คำว่า “รอด” สำหรับผู้ประกอบการหลายรายที่กำลังวิเคราะห์กันขณะนี้ มีแนวโน้มจะพูดถึงเรื่อง “ผลประกอบการ” เป็นหลัก แต่สำหรับนักวิจัยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) อย่าง ธาม เชื้อสถาปนศิริ แล้ว มองมิติการ “รอด” และ “ร่วง” ไปที่มิติการเดินหน้าให้ได้ทั้งระบบ
“คำถามที่สำคัญในการจะ “ร่วง” หรือจะ “รอด” คือประชาชนจะได้ประโยชน์ที่แท้จริงแค่ไหนจากการร่วงหรือรอดในครั้งนี้ ถ้าเปิดทีวีมาแล้วทุกช่องเหมือนกันหมด ซื้อรายการมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอเมริกา
("ธาม" นักวิชาการด้านสื่อสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ)
คำว่า “ร่วง” สำหรับผมขึ้นอยู่กับ “4R” คือตัวแรก “Rating” ส่วนใหญ่ระบบอะนาล็อกแต่เดิม คำนึงถึงการได้เรตติ้งค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น จะทำยังไงให้เรตติ้งของดิจิตอลได้ดีๆ, ตัวที่สอง “Ad Rate” อัตราค่าโฆษณา จากสถิติในระบบอะนาล็อกจะเห็นว่าช่อง 3 มีสัดส่วนคนดูน้อยกว่าช่อง 7 แต่ถามว่าทำไมถึงมีอัตราค่าโฆษณาเข้ามามากกว่าได้ ก็เพราะอัตราการโฆษณาที่วางไว้ในกลยุทธ์การตลาด มันทำให้เกิด Return of investment ที่สูงกว่า
ตัวที่สาม “Revenue” รายได้ ถ้ามีรายได้ส่วนรวมหักค่าดำเนินงานของช่องแล้ว มีประสิทธิภาพ ทำให้กำไรส่วนต่างมีสูงมากขึ้น หรือการทำรายการแบบ FOC (Free Of Charge) จะช่วยลดต้นทุนได้ และตัวที่สี่ “Regulation” กฎระเบียบข้อบังคับจากทาง กสทช. ตัวนี้คนจะไม่ค่อยมอง ตรงนี้ถ้าทาง กสทช.มีมาตรฐาน วินิจฉัยทางกฎหมายที่สอดคล้องให้ตลาดเติบโตได้แค่ไหน ถ้าพิจารณาจาก 4R นี้เป็นปัจจัยสำคัญก็จะช่วยชี้ได้ว่าสถานีโทรทัศน์ช่องนั้นๆ จะดำเนินธุรกิจให้มั่นคงและรอดไปได้หรือเปล่า”
(ขอบคุณข้อมูลสไลด์จาก คุณธาม นักวิชาการด้านสื่อสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ)
ที่สำคัญคือการมองไปข้างหน้า ยิ่งกว่าการมาเถียงกันเรื่องดูผ่านกล่องหรือดาวเทียม แต่ต้องสร้างมูลค่าให้ทีวีดิจิตอลแตกต่างจากระบบเดิมคือเน้นความเป็น Interactive เข้าไป แค่รีโมตตัวเดียวสามารถตอบสนองทุกอย่างได้ ทั้งการสั่งชอปออนไลน์ คลิกอ่านรายละเอียด หรือแม้แต่การกดซูมดูภาพในมุมกล้องต่างๆ ที่เหนือกว่าทีวีแบบเดิมๆ เคยทำ ถ้าทำได้แบบนี้ ผู้คนก็จะเห็นความแตกต่างและดึงให้มาเสพทีวีดิจิตอลเอง
“ต่อไปเรื่องการวางผังอาจจะไม่จำเป็น เพราะผู้ชมสามารถเลือกตารางการดูจัดเอาไว้เลย จัดผังเองได้ รายการโทรทัศน์จะไม่ใช่ลักษณะเดิมๆ คนดูอยากจะดูรายการตามเวลาสะดวกรับชม และที่ต้องทำรองรับไว้เลยคือ Platform ต่างๆ ไม่ใช่เน้นดูบนทีวีอย่างเดียว เดี๋ยวนี้มีระบบเตือนบนโทรศัพท์มือถือแล้วว่ารายการที่คุณอยากดูมาแล้ว มันจะเด้งขึ้นมาเลย ทำให้รายการทีวีอยู่บนจอมือถือ
(ถ้าจะให้อยู่รอด ทีวีดิจิตอลต้องไปสู่ความเป็น Interactive)
และมากไปกว่านั้นต้องทำระบบ Interactive ทีวี ทำระบบปฏิสัมพันธ์ แต่ก่อนรีโมตทำได้แค่ 3 อย่าง กดปิดเปิด, กดเปิดเสียง, กดเปลี่ยนช่อง แต่ต่อไปรีโมตทีวีจะทำได้ทุกอย่าง กด Pause หยุดดูมุมกล้อง กดซูมดูเสื้อผ้าที่พระเอกนางเอกสวมใส่ ดูยี่ห้อ ดูราคา ดูร้าน และกดซื้อได้เลย คนทำทีวีไม่ได้ทำแค่ตัดต่ออีกต่อไป แต่ต้องทำ Television Commerce ด้วย การตลาดทางทีวี ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับซีรีส์ Gossip Girl ของอเมริกา
และสุดท้าย การจะตอบโจทย์ว่าใครจะรุ่งหรือรอด แน่นอนคือมาจากเรื่องผลประกอบการ แต่ที่ไม่ควรลืมคือประเด็นที่ว่าสถานีโทรทัศน์ช่องนั้นยังตอบโจทย์การเป็นสถานีตามที่ได้ไปประมูลมาหรือเปล่า ถามว่าอยากจะให้ทีวีดิจิตอลของไทยรุ่งแบบนี้มั้ยครับ คือให้เนื้อหารายการทั้งหมด 80 เปอร์เซ็นต์เป็นการซื้อจากต่างประเทศมา แทนที่จะยกระดับคุณภาพในภาพรวม ปฏิวัติคนทำงานสื่อ ให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้มีพื้นที่ ถ้าเกิดว่าเปิดรายการทีวีดิจิตอลมาแล้วกลายเป็นซื้อต่างประเทศมาเกือบหมด สำหรับผมถึงช่องจะอยู่รอดได้ แต่ยังไงมันคือการร่วงทั้งระบบครับ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754