xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก! “โลกใต้ทะเล” VIP ผิดกฎหมาย พร้อมยกเครื่องปฏิรูปทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


และแล้ว “โลกใต้ทะเล” ชื่อเรือรูปแบบพิเศษ ซึ่งสร้างห้องใต้ท้องเรือเป็นสถานที่ชุมนุมปลา ให้อาหารสัตว์สนองนักท่องเที่ยวภายในเขตอุทยานฯ ก็ต้องปิดตัวลง หลังพบว่าให้บริการนำเที่ยว หาผลประโยชน์โดยไม่มีใบอนุญาต ซ้ำยังทำอันตรายให้เกิดต่อสัตว์และระบบนิเวศ งานนี้ถือเป็นการล้มธุรกิจครั้งที่สะท้อนความล้มเหลวของระบบทะเลไทยให้เห็นเด่นชัดว่า ถึงเวลายกเครื่องปฏิรูปกันได้แล้ว!!




ปิดกิจการถาวร! สังเวยความผิดในเขตอุทยานฯ

“ล่าสุด ผมและทางเจ้าหน้าที่อุทยานตำรวจน้ำ เจ้าหน้าที่เจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันจังหวัดได้ลงมาตรวจสอบแล้ว จากการนำตรวจของเจ้าของเรือวินิจฉัยแล้วว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะทำอันตรายต่อปลาได้ เลยแจ้งข้อหาเอาไว้แล้วครับ ว่าถ้าเกิดยังดำเนินการอย่างนี้ต่อไปก็ต้องถูกดำเนินคดีมาตรา 16 อนุ 3 เรื่องทำอันตรายให้แก่สัตว์
ซึ่งจะมีโทษจำคุกถึง 5 ปี ปรับ 20,000 บาท และอีกหลายมาตรา แต่จากการพูดคุยกัน ทางเจ้าของกิจการเขายอมหยุดดำเนินกิจการไปแล้วครับ ก็ต้องตามตรวจสอบต่อไป หากพบว่ายังฝ่าฝืนอีกก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด”


ไชยธัช บุญภูพันธ์ตันติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ให้รายละเอียดกับทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live หลังลงพื้นที่จัดการกับปัญหาเอาไว้อย่างชัดเจน เรียกได้ว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการล้างบางธุรกิจทางทะเลครั้งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้ เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมากระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีการเข้าไปหากินในเขตอุทยานฯ นี้รุนแรงมาก โดยเฉพาะการทวงถามเรื่องจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการ แต่เมื่อมีบทลงโทษออกมาให้เห็นเช่นนี้ คงทำให้สังคมคลายกังวลลงไปได้บ้าง




(ลงพื้นที่ตรวจสอบและระงับการให้บริการ)
โดยรวมแล้ว การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ.เดินเรือฯ ในข้อหาเข้ามาให้บริการนำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาต เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังทำให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ พร้อมถูกเปรียบเทียบปรับเป็นบทลงโทษ และสั่งให้หยุดประกอบกิจการในลักษณะดังกล่าวในทันที

บวกกับข้อหาที่ถูกนายตำรวจน้ำกระบี่สั่งเปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท ฐานใช้เรือผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตใช้เรือไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ถือว่าถูกหน่วยงานจัดหนักอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าให้มองจากมุมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและโฆษกกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมอย่าง “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” แล้ว ยังถือว่าโทษหนักน้อยเกินไป

“ผมมองว่าโทษยังเบาไป แต่มันก็เป็นเรื่องของตัวบทกฎหมายซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วกฎหมายเกี่ยวกับทางทะเลยังหยิบมาใช้ได้อีกหลายข้อนะครับ กฎหมายกรมเจ้าท่าระบุไว้เลยว่าเรือทุกลำไม่ว่าลำไหน จะมาจอดอยู่เฉยๆ กลางทะเลไม่ได้นะครับ ไม่อย่างนั้นผมก็เอาเรือไปจอดแช่ไว้ตามทะเลได้สิครับ ไม่ต้องเสียเงินซื้อที่บนเกาะแล้ว เรือเป็นพาหนะครับ ไม่ได้เอาไว้จอดแช่ กฎหมายยังมีอีกหลายตัว ถ้าจะให้ระบุความผิดยังผิดได้อีกหลายข้อครับ แต่กรณีนี้ก็ถือว่าปรับกันไปแล้วก็แล้วกันไปครับ อย่างน้อยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้คนหันมาสนใจปัญหาทางทะเลและรู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างนึงได้แล้ว



การที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการตรวจสอบ จากประสบการณ์ตรงของผมเอง เห็นว่าได้ผลมา 2 เรื่องแล้ว ตั้งแต่สมัยผมรณรงค์เรื่องเลิกบริโภค “ปลานกแก้ว” ทำร่วมกับมูลนิธิ ตอนนั้นก็สำเร็จมาได้ แล้วก็มาครั้งนี้อีก เห็นผลอย่างชัดเจนเลยว่าสังคมไทยเราช่วยกันได้โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ยิ่งมีข้อมูลจากผู้แจ้งชัดเจนว่าต้นตออยู่ที่ไหนด้วย ก็เลยทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกและตรวจสอบได้ง่าย

การที่สังคมช่วยกันตรวจสอบเป็นสิ่งที่ดีครับ เพียงแต่เวลาจะนำมาเสนอหรือมาแชร์กัน อาจจะต้องระวังนิดนึงว่าจะไม่ไปตีความกล่าวหาผู้กระทำผิดล่วงหน้าเยอะเกินไป และควรจะต้องมีประเด็นชัดเจนว่าจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องอะไร พบพฤติกรรมที่ผิดจากปกติยังไงบ้าง จะได้ทำให้ผลในเชิงปฏิบัติออกมาได้ชัดเจนเหมือนในครั้งนี้”




ปฏิรูปขนานใหญ่ ทะเลไทยต้องการการเปลี่ยนแปลง!

(อ่าวต้นไทร ยังมีเรืออีกหลายลำที่หากินและให้อาหารปลาในพื้นที่อุทยานฯ)
แน่นอนว่าการจับกุมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเชือดไก่ให้ลิงดู ตัดตอนผู้กระทำผิดแล้วก็ลืมๆ รายละเอียดที่เหลือไป ในฐานะคนที่ชูประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาจนทำให้เกิดกลายเป็นกระแสการตรวจสอบครั้งใหญ่อย่าง ดร.ธรณ์ แล้ว มองว่ายังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไข และรับรองว่าจะต้องแก้แบบขนานใหญ่ถึงขั้น “ปฏิรูปทะเลไทย” กันเลยทีเดียว!

“การที่มีผู้ประกอบการเข้ามาในพื้นที่อุทยานฯ และทำเรื่องแบบนี้ มันไม่ได้สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจของผู้ประกอบการอย่างเดียวครับ แต่มันโยงมาถึงเรื่องระบบการดูแลควบคุมเรื่องการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานฯ เขตอนุรักษ์ของเราด้วย มันสะท้อนให้เห็นว่าจุดนี้ไม่ไหวแล้วนะ ถึงเวลาที่ต้องยกเครื่องปฏิรูปทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะหมู่เกาะพีพีนะครับ ผมหมายถึงทุกแห่งเพราะการให้อาหารปลาก็ไม่ได้มีแค่ที่นี่ แต่พื้นที่ทั่วๆ ไปเราอาจจะเข้าไปทำอะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์-เขตอุทยานฯ ซึ่งมีประกาศชัดเจนเรื่องห้ามให้อาหารปลาแบบนี้ เราก็ต้องยกเครื่องการตรวจสอบกันใหม่ครับ

โดยเฉพาะเรื่องเรือที่แล่นเข้าไปในเขตอุทยานฯ ถามว่ามีใบอนุญาตทุกลำหรือเปล่า ถ้าจะบอกว่าร้อยๆ ลำที่อยู่ตรงนั้นมีใบอนุญาตหมด ผมรู้สึกว่ามันเยอะเกินไปนะ เพราะฉะนั้น คงต้องมีการยกเครื่องจัดระบบกันใหม่ซึ่งทางสภาปฏิรูปฯ กำลังทำกันอยู่ครับ



(ไม่มีอีกแล้ว ธุรกิจ "โลกใต้ทะเล")
อย่างแรกสุด ในนามของคนรักทะเล ในระยะสั้น ทางภาครัฐคงจะต้องตรวจสอบเรื่องการให้อาหารปลาที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวตรงนั้นพานักท่องเที่ยวทำกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะเรือสปีดโบ๊ตที่ให้กันเพียบ แล้วก็ตรวจสอบเรื่องการทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง และในอีกหลายเรื่องเลยครับที่ทำแล้วส่งผลต่อระบบนิเวศในแนวปะการังโดยตรง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นแค่หนึ่งในกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากมาย

วิธีห้ามปรามเรื่องนี้ที่ได้ผลที่สุดคือการแจ้งไปยังเรือที่มีใบอนุญาตเข้าไปในบริเวณนั้นทุกลำเลยครับ โดยดูจากฐานข้อมูลของเรือที่มาขออนุญาตและส่งจดหมายไปตามที่อยู่ที่ให้ไว้ แจ้งรายละเอียดไปอย่างชัดเจนว่า การให้อาหารปลาเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของอุทยานแห่งชาติ ช่วยกรุณางดเว้นการปฏิบัติ มิฉะนั้น จะต้องโดนบังคับรื้อถอนใบอนุญาต ปรับ และมีความผิดตามที่ระบุไว้



จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ทางสภาปฏิรูปฯ เคยเรียกทางอุทยานฯ เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ 2-3 ครั้งแล้วครับ เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและเราก็เล็งเห็นปัญหา ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากทางฝ่ายตรวจสอบมีเจ้าหน้าที่อยู่น้อยเกินไป จะให้ไปวิ่งตรวจยังไงก็ไม่ครบ ต่อไปจึงต้องอาศัยเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างเรือประมงทุกวันนี้ เขาติดดาวเทียมกันแล้ว 40,000 ลำ เขายังทำได้เลย ถ้าจะดูแลเรื่องการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอนุรักษ์แบบนี้ในอนาคต ก็ต้องกำหนดให้เรือทุกลำติด GPS ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมตรวจสอบมากขึ้น

การปฏิรูปที่จะทำคือจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบครั้งใหญ่ แม้แต่เรื่องกลไกของอุทยานแห่งชาติทางทะเลก็ต้องดูว่าเหมาะสมหรือเปล่าและจะปรับยังไงบ้าง ที่สำคัญ ต้องเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เรือลำไหนจะเข้ามาในพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติก็ต้องมีชื่อเรือขึ้นโชว์ ตรวจสอบได้ว่าลำนี้มีใบอนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้หรือเปล่า ซึ่งจะพยายามเร่งและให้เสร็จภายใน 1-2 ปีนี้แน่นอนครับ และถึงตอนนั้น ทางเราก็จะแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการทุกรายทราบให้ปฏิบัติโดยทั่วกันในทันที”



ส่วนเรื่องการให้อาหารปลาซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างนั้น แน่ชัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะกรมอุทยานแห่งชาติเคยออกมารณรงค์ห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารและขนมปังในอุทยานฯ ทางทะเลทุกแห่งตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปะการังฟอกขาวตาย จากปกติจะมีหมู่ปลามาช่วยกินและกำจัดสาหร่ายที่เข้ามาปกคลุมปะการัง แต่พอมีการให้ขนมปัง ปลาก็จะละทิ้งการกินอาหารตามธรรมชาติและหันมากินขนมปังจากที่คนมาดำน้ำตื้นให้แทน นอกจากนี้ยังทำให้ปลาบางชนิดมีพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติ ขับไล่ปลาท้องถิ่นอื่นๆ ออกจากระบบนิเวศ เนื่องจากปลาในแนวปะการังมีความหลากหลายน้อยลง

“ประเทศอื่นเขาก็ไม่ให้กันครับในเขตอุทยานฯ ถ้าควบคุมไม่ให้แจกอาหารปลาแล้วจะกระทบต่อนักท่องเที่ยวหรือเรื่องการท่องเที่ยวก็คงต้องปล่อยไป ถ้าเขาอยากให้อาหารปลา ผมแนะนำให้ไปที่วัด ไปโยนอาหารให้ปลาสวายในเขตอภัยทานแทนดีกว่า ในเมื่อเรามาเที่ยวในระบบนิเวศแล้ว เราไม่มีสิทธิมาเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวครับ ซึ่งประเทศไทยทำอย่างนั้นมาตลอด เพราะฉะนั้น ประเทศไทยควรจะเลิกทำแบบนี้กันได้แล้ว เพราะประเทศอื่นเขาเลิกกันไปนานแล้ว

ถ้าอยากเห็นฝูงปลาจะดำน้ำลงไปดูในน้ำลึก จะดำน้ำตื้น หรือนั่งเรือท้องกระจกลงไปก็ได้ครับ ผมไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็ต้องดูด้วยว่าพื้นที่ไหนยินยอมให้เรือท้องกระจกเข้าไปได้หรือเปล่า มันแล้วแต่พื้นที่ แต่ถ้านักท่องเที่ยวไม่สามารถใกล้ชิดกับปลาในรูปแบบที่เรายินยอมได้ ผมแนะนำให้ไปเที่ยวด้วยการดูปลาในอะควาเรียมแทนดีกว่า

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”, เจ้าของกิจการ “พีพีครุยเซอร์” และตำรวจน้ำกระบี่




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- เปิด “โลกใต้ทะเล” VIP อันดามัน! ภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจ หรือ ธุรกิจที่น่าละอาย!!?
- สั่งเรือ “โลกใต้ท้องทะเล” พ้นพื้นที่ พบผิด พ.ร.บ.อุทยาน-พ.ร.บ.เดินเรือ
- กระบี่ถกเครียดแก้ปัญหาเรือโลกใต้ทะเลไม่เข้าข่ายท้องกระจก
- ตร.น้ำกระบี่-เจ้าท่าตรวจเรือโลกใต้ทะเลที่กระบี่ ด้านเจ้าของยันไม่จับปลามาขัง
- หน่วยงานรัฐตื่นเร่งสอบเรือท้องกระจกให้บริการนักท่องเที่ยว หลังแชร์ผ่านโซเชียล
- เที่ยวเกาะพีพี ดำน้ำดูปะการัง แบบวันเดย์ ทริป กับเรือ “พีพี ครุยเซอร์”
กำลังโหลดความคิดเห็น