ใช้อาหารล่อปลาเข้าไปในห้องใต้ท้องเรือ, สร้างอาณาเขต “โลกใต้ทะเล” ภายในพื้นที่อุทยานฯ, แปลงให้เป็นสนามเด็กเล่นของนักท่องเที่ยวแลกผลตอบแทนทางธุรกิจ ฯลฯ
พฤติกรรมนี้ทำมาร่วมสิบปีแล้ว โดยที่ทางอุทยานฯ อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น แต่เพิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อถูกโลกออนไลน์นำภาพออกมาแฉ ตั้งข้อหาว่าถืออภิสิทธิ์หากินในเขตอุทยานฯ แถมยังทำลายระบบนิเวศและขัดขืนประกาศของทางการด้วยการแจกอาหารล่อปลา
งานนี้ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงเปิดโอกาสให้ทั้งฝั่ง “เจ้าของเรือ” และ “เจ้าของพื้นที่” ได้ออกมาอธิบายทุกแง่มุมกันแบบชัดๆ ไปเลย!!
ถึงไม่ใช่ “เรือท้องกระจก” ก็ไม่มีสิทธิ!
(ภาพจากการเข้าตรวจค้นของ ตำรวจน้ำกระบี่)
“ลูกศิษย์ส่งภาพมาให้ดู เรือท่องเที่ยวใช้วิธีเอาอาหารล่อปลาเข้าไปใต้ท้องเรือให้นักท่องเที่ยวเล่น แม้ไม่ได้เอามาขัง แต่ทำในอุทยาน กฎหมายห้ามไว้ อีกทั้งเท่าที่ทราบเบื้องต้น ใบอนุญาตขาดอายุแล้ว แถมเป็นใบอนุญาตทำเรือท้องกระจก ไม่ใช่เรือเลี้ยงปลา (ไม่มีใบอนุญาตทำเรือเลี้ยงปลาฮะ ผิดกฎอุทยาน) เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลทะเลของเรา ช่วยเจ้าหน้าที่ด้วยครับ เชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ จะตามเรื่องถึงที่สุดนะฮะ”
ข้อความดังกล่าวคือโพสต์บนเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและโฆษกกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำให้กลายเป็นกระแสแชร์สนั่นจนเกิดประเด็นเดือดอยู่ในขณะนี้ และนี่คือคำถามคาใจในฐานะ “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย” ฝากเอาไว้ให้ผู้ประกอบการและทางเจ้าของพื้นที่อย่างอุทยานฯ ช่วยตอบให้ตรงประเด็น
“ประเด็นที่สำคัญคือ 1.คุณมีใบอนุญาตในการประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ หรือเปล่า? และถ้ามี หมดอายุแล้วหรือยัง และ 2.ใบอนุญาตการประกอบนั้น คุณขอประกอบกิจการอะไร ทำไมทางอุทยานฯ ถึงอนุญาตให้มีกิจการเลี้ยงปลาใต้ท้องเรือได้? เพราะยังไงมันก็ขัดกับประกาศของอุทยานฯ ที่ออกมาในปี 2556”
กรมอุทยานแห่งชาติเคยออกมารณรงค์ห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารและขนมปังในอุทยานฯ ทางทะเลทุกแห่งตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปะการังฟอกขาวตาย จากปกติจะมีหมู่ปลามาช่วยกินและกำจัดสาหร่ายที่เข้ามาปกคลุมปะการัง แต่พอมีการให้ขนมปัง ปลาก็จะละทิ้งการกินอาหารตามธรรมชาติและหันมากินขนมปังจากที่คนมาดำน้ำตื้นให้แทน นอกจากนี้ยังทำให้ปลาบางชนิดมีพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติ ขับไล่ปลาท้องถิ่นอื่นๆ ออกจากระบบนิเวศ เนื่องจากปลาในแนวปะการังมีความหลากหลายน้อยลง
“อย่าลืมนะครับว่าพื้นที่อุทยานฯ ไม่ใช่พื้นที่ที่ใครนึกจะวิ่งเรือเข้าไปก็ทำได้ ต้องเสียค่าธรรมเนียม ขนาดคนเดินเข้าอุทยานฯ เขาใหญ่ ยังต้องเสียตังค์เลย ถ้าตรวจสอบและพบว่าผู้ประกอบการมีใบอนุญาตจริง ทางอุทยานฯ ก็ต้องถามตัวเองแล้วครับว่า ปล่อยให้มีเรือที่ทำแบบนี้ ที่ขัดต่อประกาศของตัวเองได้ยังไง” นักสมุทรศาสตร์ทิ้งท้ายไว้ให้คิด
ถูกปรับ 10,000 ยืนยัน! ไม่คิดทำลาย
(โปรแกรม VIP หนึ่งเดียวในไทย!)
“ใบอนุญาตผมยังไม่หมดอายุครับ ล่าสุด ทางกรมเจ้าท่าและตำรวจน้ำก็เข้ามาตรวจแล้ว เสียค่าปรับไป 10,000 บาท ข้อหาเอาเรือมาใช้ผิดประเภท เขาบอกว่าใบอนุญาตเรือของผมคือ “เรือบรรทุกผู้โดยสาร” เอาไปจอดให้แขกเล่นน้ำถือว่าผิดประเภท ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องไปจดใบอนุญาตแบบไหนถึงจะถูก” คือคำตอบของ นิคม โอวาส เจ้าของเรือเจ้าปัญหาที่ใช้ชื่อว่า “โลกใต้ทะเล” เรือในสังกัด “พีพีครุยเซอร์” บริษัท ภูเก็ต บิซิเนส กรุ๊ป
“เรือนี้จะจอดทิ้งสมอประจำอยู่ที่อ่าวต้นไทร เกาะพีพี จ.กระบี่ ไม่มีการเคลื่อนย้าย แต่จะมีเรือของบริษัทฯ นำผู้โดยสารที่ซื้อทัวร์มาเพื่อดูปลา และดำน้ำ ครั้งละไม่เกิน 30 คน เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภายในตัวเรือพบว่า เรือมีช่องสำหรับให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูปลาโดยอัดอากาศไล่น้ำออกทางใต้ ท้องเรือ ตัวเรือใต้น้ำเป็นกระจกผสมกับตะแกรงเหล็กที่มีช่องขนาดใหญ่ให้ปลาสามารถเข้าออกได้ และไม่พบว่ามีการให้อาหารปลาหรือจับปลาแต่อย่างใด
(ตำรวจตรวจสอบ ไม่พบการกักขังหรือให้อาหารปลา)
เบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าของเรือว่าใช้เรือผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ ทำการเปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท ส่วนในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอุทยาน ได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง” พ.ต.ต.อนุรักษ์ ปริญญาสถิรกุล นายตำรวจน้ำช่วยยืนยันความเคลื่อนไหวอีกแรง หลังลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับเจ้าท่า จ.กระบี่ และตำรวจภูธรสถานีย่อยเกาะพีพี
ส่วนเรื่องที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าพื้นที่ใต้ท้องเรือคือ “เรือท้องกระจก” นั้น จากข้อมูลเดิม อธิบายเอาไว้ว่าเป็นรูปแบบเรือที่ผิดกฎหมาย เคยถูกห้ามไม่ให้บริการที่เกาะพีพีมาก่อนหน้านี้ จึงดัดแปลงให้กลายเป็น “โลกใต้ทะเล” และจดลิขสิทธิ์ใหม่ได้อย่างที่เห็น เจ้าของเรือตอบว่า
“ผมอยู่มาตั้ง 10 กว่าปีแล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าอยู่มาปี 2 ปี ใบที่ใช้ก็เป็นทะเบียนเรือปกติ เรือมีเครื่องยนต์ปกติ เพียงแต่ตรงกลางเราเจาะเป็นห้องสี่เหลี่ยมเหมือนสระน้ำ ท้องเรือของเราก็ไม่ใช่ห้องกระจก มีแต่ผนังด้านข้างเป็นขอบกระจกเท่านั้นเอง ใต้ขอบนั้นก็เป็นน้ำทะเล ระดับน้ำด้านนอกมีอากาศสูงกว่า แล้วด้านในถูกอัดอากาศเข้าไป เหมือนมีน้ำทะเล 2 ชั้น ปลามันก็เข้าออกได้ปกติ อยู่ในน้ำปกติ ไม่ได้ขังอะไรเลย คนที่ติ คงเพราะเขาไม่ได้มาเห็นกับตามากกว่า คนที่เคยมาเห็นแล้ว เขาก็โอเคหมดทุกคน ผมก็ยินดีให้ทุกคนเข้ามาพิสูจน์ได้เลย
(ลงท้ายด้วยการเสียค่าปรับ 10,000 ฐานใช้เรือผิดประเภท)
ผมยืนยันเลยครับ ไม่อยากทำอะไรที่เป็นการทำร้ายธรรมชาติ แต่ก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะทำให้ระบบนิเวศเสียหายอะไรอย่างที่เขาบอกมา มันก็มีค่าเท่ากับที่เราไปยืนชายหาดแล้วให้อาหารปลานั่นแหละครับ ปลาเราก็ไม่ได้ขัง ถึงต่อไปจะไม่ให้ผมเอาเรือนี้มาใช้อีก ผมก็เอาเรือลำอื่นออกมาครับ เพราะทุกคนเขาก็เล่นอยู่บนหาดเดียวกันหมดเลย เขาเรียกว่า “อ่าว 3 หาด” เป็นหาดเล็กๆ 3 หาด อยู่ข้างอ่าว มีผู้ประกอบการนับสิบเจ้าครับให้บริการอยู่ตรงนั้น และมีสปีทโบ๊ตอีกเป็นร้อยๆ ลำ อยู่บริเวณเดียวกันหมด ตรงที่ที่เราจอดเรือไว้คือ “อ่าวต้นไทร” แล้วค่อยใช้เรืออีกลำนึงขับพาแขกมาเทียบเพื่อเข้าไปใช้บริการโลกใต้ทะเล
ส่วนเรื่องให้อาหารปลา ตั้งแต่รู้ข่าวก็งดไปเลยและรับรองว่าจะไม่ให้อีก เพราะเราก็ไม่อยากทำผิดกฎอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะให้ทุกคนที่พานักท่องเที่ยวไปโปรยขนมปังหยุดกันหมดด้วยนะครับ กระแสตอนนี้ที่รู้มาก็บอกอยากให้เราต้องปิดไปอย่างเดียว จริงๆ แล้ว ผมอยากให้สนับสนุนมากกว่า อยากให้มองว่าทำแบบนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยนะ ผมว่าเรื่องการทิ้งสมอบนปะการังที่รายอื่นๆ ทำ แบบนั้นน่าเป็นห่วงกว่าอีก”
อย่าชะล่าใจ อุทยานฯ เตรียมจัดหนัก!
(ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”)
“เมื่อก่อนนี้เรือลำนี้เป็นเรือของฝรั่งแล้วคนไทยไปซื้อต่อ โทร.คุยกับเจ้าของเรือ ให้หัวหน้าหน่วยไปประสานแล้ว รับปากว่าจะนำเรือลำนี้ออกจากจังหวัดกระบี่ไป นี่คือทางเชิงลึกเลยนะครับ” ไชยธัช บุญภูพันธ์ตันติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ผู้ดูแลพื้นที่เกิดเหตุให้ข้อมูลเป็นพิเศษกับทางทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ผ่านปลายสาย บอกเลยว่าอีกไม่กี่วันจะลงไปตรวจสอบให้เห็นกับตาและจัดการให้เด็ดขาดไปเลย!!
“เท่าที่ทราบมาเรือลักษณะนี้จะมีอยู่ลำเดียวด้วย ง่ายต่อการควบคุม ต่อไปนี้เมื่อเรือลำนี้ไม่เข้ามาในท้องที่จ.กระบี่ ก็ต้องไม่ไปทำมาหากินกับทะเลอื่นๆ อีกด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ทำที่กระบี่แล้วไปทำที่ภูเก็ต, พังงา ผมไม่เห็นด้วย ผมว่าควรจะเลิกอาชีพนี้ไปได้แล้ว ทะเลมันสวยอยู่แล้ว ไม่ต้องลงไปสัมผัสถึงขนาดต้องแตะต้องให้เป็นอันตรายต่อสัตว์ต่อปลาหรอกครับ ถ้าลงพื้นที่แล้วพบว่ามีการกักขังสัตว์จริง ก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย พระราชบัญญัติอุทยาน มาตรการสูงสุดเลยคือ มาตรา 16 อนุ 3 คือเก็บหาหรือทำอันตรายใดๆ ต่อสัตว์ ซึ่งบทลงโทษจะรุนแรงถึงขนาดจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
สิ่งที่ต้องตรวจสอบอันดับแรกคือ มีใบอนุญาตให้บริการการนำเที่ยวหรือเปล่า? และอันดับ 2 คือกระทำผิด พ.ร.บ.อุทยานฯ ด้วยหรือเปล่า ไหนจะ พ.ร.บ.เจ้าท่าอีก เราจะบูรณาการกันทุกภาคส่วน เอาบทกำหนดทุกสิ่งที่สูงที่สุดลงโทษเขา เพราะวันนี้เรือลำเดียวทำปั่นป่วนหมดเลยทั้งท้องทะเล”
สรุปแล้ว เรือลำนี้เข้าไปหากินในเขตพื้นที่อุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่? หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ยืนยันว่าถ้าผู้ประกอบการจอดเรืออยู่ที่ “อ่าวต้นไทร” ก็ถือเป็นเขตของอุทยานฯ แน่นอน ถึงแม้เกาะพีพีดอนจะมีบางส่วนที่มีชาวบ้านเข้าไปอยู่ก่อนกำหนดแนวเขต แต่คิดตามแนวป่าแล้วอย่างไรเสียก็เป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ไม่ใช่ป่าไม่มีเจ้าของที่ใครจะเข้าไปทำอะไรก็ได้ และรอบเกาะพีพีดอนส่วนที่เป็นน้ำทะเลทั้งหมดก็เป็นเขตอุทยานฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าพบว่ากระทำความผิดจริงทางอาญา ก็ไม่อาจลดหย่อนโทษให้ได้และพร้อมจับตัวไปดำเนินคดีในทันที
(อ่าวต้นไทร ยังมีเรืออีกหลายลำที่หากินและให้อาหารปลาในพื้นที่อุทยานฯ)
“ทุกวันนี้วัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวบางรายไร้สำนึกมาก อย่างเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวจีนถ่ายรูปแต่งงาน ทำผ้าคลุมชุดเจ้าสาวเป็นแห และชุดเจ้าบ่าวใส่สูทช่วยกันจับปลา กลายเป็นข่าว ผมก็ต้องไปแก้ข่าวว่าต่อไปนี้เราก็จะเข้มงวดกวดขัน แต่ต่อให้เข้มงวดเท่าไหร่ มันก็สู้การมีจิตสำนึกไม่ได้หรอกครับ คนเราถ้ามีจิตสำนึก มันก็ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
ผมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องทำตามหน้าที่ เจอก็จับ แต่เราก็ไม่ใช่หลักกฎหมายอย่างเดียวนะครับ ผมก็จะอธิบายเขาว่าสิ่งที่คุณทำมันดียังไง การท่องเที่ยวจะทำให้ยั่งยืนได้ มันต้องรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ต้องดูแลทั้งสัตว์ ปะการัง และภาพรวมเรื่องหัวใจการบริการด้วย เราต้องอธิบายทำความเข้าใจกัน ถ้าทำความเข้าใจกันไม่ได้ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายแทน
ส่วนเรื่องให้อาหารปลา มันไม่มี พ.ร.บ.ไหนไปห้ามหรือเอาผิดได้ตามกฎหมาย เราทำได้แค่ขอความร่วมมือ ปิดป้ายว่ากรุณาอย่าให้อาหารปลา เรื่องทั้งหมดทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกครับ ถ้าคนเรากลัวกฎหมายอย่างเดียวโดยไม่มีจิตสำนึก มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก สุดท้าย การอนุรักษ์ทรัพยากรทำไม่สำเร็จ”
ย้อนกลับไปดูประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน จะพบว่ามีปัญหามาตลอด ก่อนหน้านี้ก็มีคนนำเที่ยวจับปลาการ์ตูนขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวจับและถ่ายรูปเล่นจนหนำใจ ไหนจะภาพที่แชร์กันทั่วๆ ไปเวลามาท่องเที่ยว มีการถือปลาดาวบ้าง หอยมือเสือบ้าง เยอะแยะไปหมด แสดงให้เห็นว่ากระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับอันดามันมันต้องมีปัญหา ไม่อย่างนั้นจะไม่มีภาพแบบนี้ออกมาจากนักท่องเที่ยวแน่ๆ ดร.ธรณ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและโฆษกกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ก่อนจุดประกายทางแก้เล็กๆ ทิ้งท้าย
“เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องผลักดันให้เป็นมรดกโลกเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ให้ลุล่วงซักที ไม่งั้นเราก็จะมีแต่ปัญหาแบบนี้ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไล่จับปัญหากันไปไม่จบสิ้น ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทะเลทั้งหมด ย้ำว่าต้องมีการปฏิรูปกฎระเบียบให้มีความเคร่งครัดมากกว่านี้ ไม่งั้นแย่แน่”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”, เจ้าของกิจการ “พีพีครุยเซอร์” และตำรวจน้ำกระบี่
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ตร.น้ำกระบี่-เจ้าท่าตรวจเรือโลกใต้ทะเลที่กระบี่ ด้านเจ้าของยันไม่จับปลามาขัง
- หน่วยงานรัฐตื่นเร่งสอบเรือท้องกระจกให้บริการนักท่องเที่ยว หลังแชร์ผ่านโซเชียล
- เที่ยวเกาะพีพี ดำน้ำดูปะการัง แบบวันเดย์ ทริป กับเรือ “พีพี ครุยเซอร์”