น่าอนาถภาพจากกล้องมุมสูงของ “เกาะตาชัย” เผยให้เห็นเพียงแค่เศษซากของธรรมชาติ ที่ถูกนำมาใช้หาผลประโยชน์ เกาะที่ควรจะเป็นไฮไลต์ของทะเลอันดามันสำหรับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกกลับแทบไม่เหลือค่า เมื่อเจอภาพความเป็นจริงในวันนี้ นักวิชาการชี้ถ้ายังมีสภาพแบบนี้ สู้ปิดไปเลยเสียดีกว่า!!
ธรรมชาติที่ยับเยิน!
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว สำหรับข่าวคราวการทำลายธรรมชาติที่ตกเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์ในกระแสสังคมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งกรณีเล่นปลาการ์ตูนที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี หรือกรณีเรือเลี้ยงปลาทะเลที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ฯลฯ มาคราวนี้เรื่องราวของสิ่งแวดล้อมปะดุเดือดขึ้นอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากเฟซบุ๊ก "Waran Rbj Suwanno" ออกโรงแฉถึงความเสื่อมของธรรมชาติและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในเกาะตาชัย ความว่า
“Death from Above : เห็นสวย ใส แบบนี้ ข้างล่าง ไม่เหลืออะไรเลยนะครับ เป็นสุสานที่เงียบเชียบ น้ำห้องน้ำ น้ำล้างจาน ทำกับข้าว น้ำชำระล้างครัว น้ำมัน สารปนเปื้อน น้ำมันเรือ เกาะตาชัย ในขอบเขต ระดับการรับนักท่องเที่ยวสูงสุด ได้วันละ 60 คน ทุกวันนี้ น่าจะ 800 - 1200 คนต่อวัน
ที่เจ็บคือ รายได้จากค่าเข้าอุทยาน ที่ประเทศได้รับ คือ 60 คน ตามที่แผนแม่บทได้บอกไว้ ที่เหลือไปไหนไม่รู้ ปีหนึ่งหลายร้อยล้าน คดีลาดกระบังกระจอกไปเลยล่ะครับ ที่สำคัญมันโกงกันมาเป็นสิบปีแล้วเมื่อก่อนผมคิดว่า ผู้ประกอบการเป็นโจทก์ใหญ่ แต่พอเรียนรู้ไปมากเข้าอยู่ที่กรมอุทยานเรานี่เอง คอร์รัปชันกับธรรมชาติ มันเรียกร้องเอาคืนไม่ได้ หากินง่ายที่สุด
ปล. มีเจ้าหน้าที่เดินมาบอกว่า ห้ามถ่ายภาพมุมสูงนะครับ ไม่อนุญาต บอกตรงๆ ตอนนั้น ถ้าไม่ติดว่าทำงาน จะเดินไปตบขมับให้คว่ำ กลัวจะเป็นโรงครัวที่สร้างเพิ่มหารายได้พิเศษรึไง ขอความบรรลัยจงมีแด่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรอุบาทว์นี้ทุกคนนะครับ”
ทันทีที่ข้อความดังกล่าวปรากฏขึ้น ผู้คนต่างให้ความสนใจ ข้อความนี้ถูกแชร์และส่งต่อกันเป็นจำนวนมาก ทางด้านสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน ต่างโหมกระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่กันอย่างหนาหู ถึงความโกงกินของเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นชื่อว่าราชการ
บ้างก็บอกว่าไม่มีหน่วยงานไหนที่ไม่โกงกิน “ทางด้านข้าราชการด่านักการเมืองโกง ตัวเองก็โกงเยอะกันทุกหน่วยงาน กรรม”
บ้างก็บอกว่าโกงแล้วยังหาหลักฐานได้ยาก อีกทั้งค่าเข้าอุทยานยังมีมูลค่ามากอีกด้วย “ใช่เลยค่ะ พวกกรมอุทยานเนี่ยตัวกินเลย แล้วหาหลักฐานไม่ค่อยเจอด้วย แค่ค่าเข้าอุทยานเนี่ยปีหนึ่ง มูลค่าเป็นมหาศาล”
หรือบางท่านถึงกับบอกว่า ควรเลี้ยงลูกให้มีนิสัยไม่โกงคนอื่นแล้วการโกงในประเทศจะน้อยลง “นิสัยการโกงมันคงฝังรากลึกลงในนิสัยคนไทยทุกคนแล้วล่ะ บอกข้าราชการโกง คำว่าข้าราชการมันก็แค่ตำแหน่งเท่านั้นแหละ แท้จริงแล้วก็คือคนไทย เอาคนไทยคนอื่นไปแทนมันก็อาจจะโกงเหมือนกัน ประเทศเราจะหายโกงได้อะ ผมบอกได้เลยมีวิธีเดียว
ทุกคนต้องเลี้ยงลูกให้ไม่โกงคนอื่นตั้งแต่เด็กรวมทั้งตัวเราเองด้วย แล้วการโกงมันจะน้อยลงเองถ้าคนส่วนมากของประเทศมันไม่โกง ดูอย่างญี่ปุ่นถามว่าคนโกงมีไหมมีครับแต่เป็นส่วนน้อย เพราะงั้นพอถูกจับได้ก็เลยถูกคนส่วนใหญ่ประณามแล้วก็ต้องลาออกจากตำแหน่งไปเอง”
จดหมายนี้เพื่อสังคม!
สื่อหลายสำนักต่างจับจ้อง จ่อไมค์เข้าหาเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางด้าน “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็เช่นกัน เขาได้โพสต์ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” กล่าวถึง เพื่อทะเลไทยด้วยใจและใจ ถึงเวลาหงายไพ่ ‘วิกฤตอุทยานแห่งชาติทางทะเล’ โดยได้บอกกล่าวให้ช่วยพิจารณา สนับสนุนและช่วยแชร์จดหมายเปิดผนึกนี้ โดยข้อความบางส่วนมีใจความระบุว่า
“การจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนหรือยุทธศาสตร์ ทั้งที่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์แรกคือเพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง ถูกนำไปใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างมาก จนเกิดผลกระทบจนเป็นหลายประเด็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ ผมขอยกตัวอย่าง "เกาะตาชัย" อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
เมื่อพิจารณาตามการศึกษาวิจัย ไม่เคยมีแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติ งานวิจัย หรือใดๆ ที่ระบุว่า เกาะตาชัยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ในทางกลับกัน ข้อมูลสรุปตรงกันว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด แต่ในสถานที่เช่นนี้ กลับมีการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด”
อีกทั้ง เป็นเพราะอุทยานยังขาดผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเลยัง จะเห็นได้ว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดมีความชำนาญในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางทะเลเลย และระบบการตรวจสอบยังไม่มีความชัดเจน
“การจัดการทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านทะเลอย่างแท้จริง โดยจะเห็นว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดไม่ได้มีการศึกษาหรือความเชี่ยวชาญในด้านทะเล แต่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
ระบบการตรวจสอบดูแลทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวไม่ชัดเจน ทำให้มีการจับกุมการกระทำผิดน้อย จนเกิดเป็นประเด็นต่างๆ ในสังคม และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางใดที่ชัดเจนในการปรับปรุงระบบดังกล่าว ระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมอุทยาน ตลอดจนการอนุญาตกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ไม่ชัดเจนและโปร่งใส ทำให้เปิดช่องในการกระทำที่มิชอบ มีการนำอุทยานแห่งชาติทางทะเล อันเป็นสมบัติของชาติ ไปใช้เพื่อหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อันเป็นประเด็นที่เป็นที่สังคมให้ความสนใจมาตลอด”
นอกจากนี้เขายังเสนอแนะการจัดระเบียบอุทยานทางทะเลอีกด้วย เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ปรับปรุงระบบตรวจสอบและควบคุมการกระทำผิดเพื่อให้เป็นอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ โดยข้อเสนอแนะบางส่วนมีดังนี้
“ขอเสนอให้มีการตรวจสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อป้องกัน ผลประโยชน์ทับซ้อน และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น ในนามของคนที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางทะเลมาตลอด
ผมขอเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สามารถเรียกว่า ‘วิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยาน’ อย่างแท้จริง และจะเป็นวิกฤตที่มิอาจเยียวยาได้ หากไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างฉับไวและเฉียบขาด ผมจึงใคร่ขอนำเสนอจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้แก่สังคมไทย เพื่อช่วยกันพิจารณา”
ไปไม่ถึงมรดกโลก!
“หัวใจของการจัดการนี้ คือการจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว” นี่คือคำพูดของ “อ. ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพราะหากมีนักท่องเที่ยวเกินจำนวนที่กำหนดไว้ ปริมาณขยะจากการขายอาหารให้นักท่องเที่ยวก็มากขึ้นตามไปด้วยซึ่งมีผลกระทบต่ออุทยานเป็นอย่างมาก เขาให้ความเห็นผ่านปลายสายกับทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive เอาไว้
“เกาะตาชัยควรจะศึกษาในเรื่องของขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว และหามาตรการที่จะควบคุมให้ได้ตามนั้น อย่างเช่น ถ้าอุทยานจะทำอาหารก็ต้องเป็นการทำอาหารเพื่อที่จะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ก็คือทำไว้สำหรับวันละ อาจจะเป็นเท่ากับศักยภาพที่จะรองรับได้สัก 100-200 ที่ ต่อวัน ก็เพื่อเป็นการจำกัดนักท่องเที่ยว หรือไม่คือให้บริษัทเอามาให้นักท่องเที่ยวกิน คือห้ามกินบนเกาะ ต้องกลับไปกินบนเรือ และให้เอาขยะกลับไปทั้งหมด บนเกาะอยู่กินได้เฉพาะของว่างก็ว่ากันไป และก็เพื่อใช้มาตรการในเรื่องอาหารเป็นตัวกำกับปริมาณนักท่องเที่ยว
ที่สำคัญก็คือจะทำยังไง เพราะปัจจุบันปัญหาใหญ่ก็คืออุทยานไปทำอาหารขายนักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์ และก็ไปตั้งโต๊ะขายกันบนเกาะ และทีนี้พอทำอาหารจำนวนมากบนเกาะ ก็ทำให้เกิดหนู หนูมันก็เพิ่มจำนวนขึ้น เพราะเราเอาอาหารไปเพิ่มให้มัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับสัตว์อื่นๆ ที่อยู่บนเกาะ และที่สำคัญคือปริมาณน้ำเสียที่เกิดจากการประกอบอาหาร การล้างจาน ล้างภาชนะลงไปในบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยของปูไก่ อันนั้นมันก็จะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ แต่หัวใจของมันก็คือการจัดการเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว”
ดังนั้น วิธีป้องกันหรือการจัดระเบียบอุทยาน ควรมีมาตรการการแก้ไขคือ ปิดพื้นที่ดำน้ำให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวและจำกัดอาหารโดยให้นักท่องเที่ยวนำอาหารเข้ามากินเองและเอามาน้อยที่สุด
“ในส่วนของตัวปะการังที่มันเสื่อมโทรมที่เกาะตาชัยกับเกาะสิมิลัน หรือเกาะสุรินทร์ก็ตาม สิ่งที่กรมอุทยานต้องทำก็คือปิด ปิดพื้นที่ดำน้ำบางพื้นที่ให้ได้จริง เช่น มีเจ้าหน้าที่ไปควบคุมดูแลไม่ให้มีการดำน้ำ สัก 2-3 ปี ให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ดังนั้นมันต้องถูกสั่งปิดบางพื้นที่ ปิดก็ต้องปิดจริง หนึ่งคือต้องระเบียบ เพราะทั้งหมดตั้งแต่พื้นที่อุทยานไปถึงกรมอุทยานมีอำนาจในการปิดพื้นที่การดูปะการังอยู่แล้ว และก็ดำเนินการตามมาตรการให้เกิดผลจริงมันก็จะดีขึ้น
สรุปคือขั้นแรกคือปิดก่อน จากนั้นก็จำกัดอาหาร คือให้นักท่องเที่ยวเอามากินเอง โดยเอามากินให้น้อยที่สุด หรือว่าอุทยานจะทำก็ได้ แต่ว่าให้ทำในจำนวนที่น้อย เพื่อที่จะควบคุมคน ซึ่งเมื่อก่อนเขาทำ สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดเมื่อก่อนเคยทำ แต่ปัจจุบันนี้ อาจจะต้องบอกว่าอาจมีผลประโยชน์เยอะในการที่ทำอาหารให้ทัวร์หรือนักท่องเที่ยวมาซื้อกิน”
ต่อข้อซักถามที่ว่า วัตถุประสงค์หลักของอุทยานคือการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ดูเหมือนจะคัดค้านกับสิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ต่างกับการใช้ธรรมชาติหากินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้น อาจารย์ให้คำตอบว่า
“มันแน่นอน ทุกอย่างมันใช้ธรรมชาติหากินอยู่แล้ว เรื่องสถานที่ท่องเที่ยว แต่ปัญหาหนึ่งคุณไปเก็บเงินเขาเวลามาเกาะตาชัย เกินจำนวนนักท่องเที่ยว เงินจำนวนนั้นก็ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าไปถึงไหนยังไง คือทั้งหมดไม่ควรเอาเงินเป็นตัวตั้ง เพราะปัจจุบันนี้มันมีเรื่องรายได้การเข้าอุทยานมันยังเป็นเรื่องคลุมเครืออยู่เยอะ เพราะฉะนั้นต้องเอามาให้ชัดว่าผลประโยชน์ตัวนี้มันเอาไปเพื่อบำรุงรักษาธรรมชาติแค่ไหน”
ต้องถือว่าวิกฤตการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากกำลังมีนโยบายเสนอให้อันดามันเป็นมรดกโลก ที่สำคัญเกาะสิมิลันและเกาะตาชัยถือเป็นไฮไลต์ ทว่าเมื่อธรรมชาติถูกทำลายเช่นนี้แล้ว จะเสนอเป็นมรดกโลกได้อย่างไร เกี่ยวกับประเด็นนี้อาจารย์ยืนยันทิ้งท้ายคำตอบไว้ว่า
“เกิดแน่นอนครับ เพราะเรากำลังจะเสนออันดามันเป็นมรดกโลก ไฮไลต์ก็คือเกาะสิมิลันกับเกาะตาชัยนี่แหละ คือต่อให้เจ้าหน้าที่มรดกโลกเขามาดู มันก็อับอายเขา ว่าอย่างนี้เหรอจะเสนอเป็นมรดกโลก
ส่วนการแชร์ในเฟซบุ๊กผมมองว่ามีการแชร์ไปก็ดีแล้วครับ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาดูแล มันต้องมีการกระตุ้นกันก็ถูกแล้ว แต่สิ่งที่เขาทำไม่ใช่ความเสียหายมันเกิดขึ้นไม่ได้ คือมันเกิดขึ้นได้ นักท่องเที่ยวมันมากจริงๆ แต่ตัวเองก็ต้องเพิ่มมาตรการเข้าไป เพราะไม่อย่างนั้นก็สั่งปิด ยอมเสียผลประโยชน์ตรงนี้ซะ”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ: เฟซบุ๊ก Waran Rbj Suwanno และ Thon Thamrongnawasawat
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754