xs
xsm
sm
md
lg

เห็นโอกาสในทุกวิกฤต! นี่แหละ “เศรษฐีชาวไร่ยุคใหม่” แห่งญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(“ทะเคะฮิสะ อิจิมะ” เกษตรกรพันล้านแห่งจิบะ)
จน-เครียด-กินเหล้า! พฤติกรรมเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับ “เศรษฐีชาวไร่” อย่างเขาอย่างแน่นอน เพราะคำว่า “เกษตรกร” ภายใต้นิยามแดนอาทิตย์อุทัย ไม่มีคำว่าทางตัน โดยเฉพาะกับเขาคนนี้ “ทะเคะฮิสะ อิจิมะ (Takehisa Iijima)” ชาวไร่วัย 35 ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งประจำจังหวัดจิบะ




ปลดหนี้ไวเพราะกู้เป็น
"นี่หรือคือเกษตรกร นี่หรือคือเจ้าของบ้านหลังโต นี่หรือคือผู้บริหารไร่อันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่มองเห็นอยู่ตอนนี้?” ความคิดนี้ผุดขึ้นมาในหัวทันที หลังจากได้พบตัวเป็นๆ ของเกษตรกรนักบริหาร เจ้าของไร่อิจิมะ (Iijima) เศรษฐีผู้ร่ำรวยระดับพันล้านจากการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์



ผมสีส้มทองที่เกิดจากการย้อม เสื้อยืดพอตัว เสียงหัวเราะที่แสนเปิดเผย รอยยิ้มขี้เล่น บวกกับท่าทีสบายๆ ทุกอย่างที่ประกอบเป็นบุคลิกภาพภายนอกของเขาช่างดูขัดแย้งกับตำแหน่งผู้บริหาร กระทั่งเมื่อได้นั่งพูดคุยกัน จึงได้คำตอบว่าอะไรทำให้หยาดเหงื่อในวันวานของเขากลับมาทอประกายมีมูลค่าอยู่ขณะนี้ เป็นเพราะสิ่งที่อยู่ในหัวคิด กลยุทธ์ “วิธีบริหารหนี้” ของเขานี่เอง

วิธีขยายกิจการของผม ผมจะใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารเอาครับ แต่ต้องค่อยๆ กู้นะ คือจะไม่กู้เป็นก้อนใหญ่ทีเดียวเพื่อมาลงทุนขนาดใหญ่ แต่จะคิดว่าในปีนี้เราต้องการจะขยายตรงไหน ถ้าปีนี้อยากได้เครื่องจักรเพิ่ม อยากได้เครื่องบรรจุถุงกับรถแทร็กเตอร์ขนาด 75 แรงม้า เราก็จะกู้แค่เอามาใช้ตรงนั้น จะไม่กู้เกินความจำเป็น พอหลังจากเอาเครื่องจักรมาใช้ช่วยงาน จนทำให้ทำงานได้ไวขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น เราก็เอากำไรจากตรงนี้แหละครับไปจ่ายหนี้ก้อนเดิมที่ติดธนาคารไว้ แล้วหลังจากนั้นค่อยไปกู้ก้อนใหม่


(บ้านที่แสนอบอุ่นและสะดวกสบายของ “ทะเคะฮิสะ” สุดยอดเกษตรกร)

เงินส่วนใหญ่ที่กู้มา ผมชอบเอาไปลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักร เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ลงทุนแล้วคืนทุน พอมีของตัวเอง เราก็ไม่ต้องเสียเงินไปเช่ายืมเครื่องจักรของคนอื่นเขามาใช้อีกแล้ว ยังไงก็คุ้มครับ ยกตัวอย่างเช่น จากเดิม ผมมี “เครื่องล้างหัวไชเท้า” วันหนึ่งล้างได้แค่ 500 กล่อง แต่พอซื้อเครื่องใหม่ มันเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นถึง 3 เท่าคือ ล้างได้วันละ 1,000-1,500 กล่อง แต่ก็ไม่ใช่ความดีความชอบของเครื่องจักรอย่างเดียวนะครับ เพราะยังไงกำลังคนก็ยังสำคัญ เพราะถึงแม้เครื่องจักรประสิทธิภาพดีแค่ไหน แต่ไม่มีคนคุมมันก็จบ ที่เราสามารถทำงานได้เยอะขึ้น ก็เป็นเพราะลูกจ้างเขายอมทำงานตามชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องตอบแทนเขาด้วย

จริงๆ แล้ว ในญี่ปุ่นเรามีระบบเงินช่วยเหลือเกษตรกรเยอะมากๆ นะครับ มีทั้งมาจากรัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แค่ภาครัฐเขารู้ว่าใครอยากจะสร้างอะไรเกี่ยวกับแปรรูปการเกษตร เขาจะเสนอตัวออกเงินให้เลยครึ่งหนึ่ง แต่สำหรับผม ผมไม่เคยใช้วิธีกู้เงินจากรัฐเลย จะขอคำปรึกษาด้านข้อมูลอย่างเดียว ผมเลือกที่จะกู้กับธนาคารมากกว่า ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น มันเป็นความคิดที่ปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้วครับ เขาบอกเราเสมอว่า “ไม่จำเป็นต้องขยายกิจการให้โตแบบเฉียบพลัน” ไม่จำเป็นต้องกู้เงินก้อนโตจากรัฐบาลเพื่อมาลงทุนใหญ่โตแล้วก็เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น แต่พ่อจะสอนให้พึ่งตัวเองเป็นหลัก ค่อยๆ โตไปทีละปี ไม่ต้องพยายามฝืนทำอะไรในขณะที่ตัวเองยังไม่พร้อม ผมเลยเลือกกู้จากธนาคารดีกว่า


(ครอบครัวสุขสบายได้เพราะ วิธีคิด-วิธีบริหารหนี้)

การกู้เงินจากแบงก์ เราจะมีภาระ ต้องคืนเงินกู้ให้ได้ตามเวลาที่กำหนด ถึงจะหนักหน่อย แต่มันก็จะเป็นแรงผลักให้เราอยากรีบปลดหนี้ และถ้าเราทำได้ มันก็จะเป็นการสร้างเครดิตให้ตัวเราเองด้วย พอจะกู้ครั้งต่อไป แบงก์ก็จะมองเราเป็นลูกค้าเกรดเอ ถึงผมจะเรียนจบเศรษฐศาสตร์มา ไม่ถนัดเรื่องเกษตรแบบนี้เท่าไหร่ แต่เมื่อต้องมาสานต่อจากคุณพ่อ ผมก็อยากจะรักษาทุกอย่างในไร่เอาไว้ด้วยตัวเอง ก็เลยเลือกที่จะปลูกพืชง่ายๆ ก่อน ในปีแรกๆ ที่ทำ ตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เราปลูกแค่ไม่กี่อย่างเองครับ มีหัวไชเท้ากับผักป๋วยเล้ง ใช้พื้นที่แค่ 3 เฮกเตอร์ ปลูกหมุนเวียนไปแบบนี้ จนตอนนี้เราขยายออกไปได้ ทั้งหมดประมาณ 40 เฮกเตอร์แล้ว และตอนนี้ก็สามารถปลดหนี้ทุกอย่างได้หมดแล้วด้วย” เขาปิดท้ายประโยคด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ




วิกฤตนี้ สู้ไม่มีถอย!
ทุกความสำเร็จที่สวยงาม ย่อมแฝงไปด้วยเบื้องหลังที่แสนทรหด หากเคยศึกษาชีวประวัติของใครหลายๆ คนจะพบว่าชีวิตของพวกเขาต่างเหมาะสมกับคำพูดนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ชีวิตชาวไร่ของทะเคะฮิสะ เพราะกว่าจะมีบ้านหลังใหญ่ ไร่แสนกว้างสุดลูกหูลูกตา และมีชีวิตที่สุขสบายได้อย่างทุกวันนี้ เขาต้องต่อสู้กับวิกฤตในชีวิต ต้องปรับตัวหลังโดนหมัดอุปสรรคฮุกเข้าใส่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตครั้งสำคัญที่เรียกว่าเป็น “มหาภัยพิบัติ” สำหรับชีวิตของเขา

ใครๆ ก็จำเหตุการณ์นี้ได้ไม่ลืม มันเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 ครับ สึนามิทำให้โรงงานนิวเคลียร์ระเบิด สารกัมมันตภาพรังสีแผ่ไปทั่วเลย กระทบมาถึง จ.จิบะ ของเราด้วย ที่แย่กว่านั้นคือพอมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสารตกค้างในพืชพันธุ์ ดันตรวจเจอสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในผักป๋วยเล้งในไร่ไร่หนึ่ง กลายเป็นข่าวดังเลยครั้งนั้น ผู้คนตื่นตระหนก ติดภาพว่าผักป๋วยเล้งของ จ.จิบะ อันตราย จากที่เคยขายได้กลายเป็นไม่มีคนสั่งเลยครับ แม้แต่ทางบริษัท Wagoen ที่เราเคยส่งผักให้เพื่อเอาไปทำผักแช่แข็ง บริษัทใหญ่ๆ อย่างเขายังขาดทุนเลยครับตอนนั้น ไม่มีใครกล้าซื้อ

พอเกิดปรากฏการณ์ผู้คนขยาดผักป๋วยเล้ง ผมก็เหงื่อตกเลย เอาไงดีล่ะทีนี้ เพราะตอนนั้นผักป๋วยเล้งคือรายได้สำคัญของไร่เรา เป็นพืชที่เราปลูกไว้เยอะที่สุด แต่ผมถอยไม่ได้ครับ เลยต้องปรับแผน เปลี่ยนมาปลูกหัวไชเท้าเป็นพืชหลักแทน


(เปลี่ยนมาปลูก หัวไชเท้า พลิกวิกฤตเป็นโอกาส)

ต้องบอกว่าอุบัติภัยครั้งใหญ่ครั้งนั้น เป็นครั้งที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักมากสำหรับเกษตรกรละแวกนี้ โดยเฉพาะไร่ที่ปลูกป๋วยเล้ง ตัวผมเองก็แทบช็อก เพราะก่อนหน้านี้ เราก็ค่อยๆ ขยายกิจการของเรามาเรื่อยๆ ไม่ได้รีบโตอะไร พอลองปลูกอะไรก็ขายได้มาตลอด เพราะเราก็ทำการบ้านและศึกษามาตลอด เราควบคุมได้หมด นี่เป็นครั้งแรกเลยครับที่ผลผลิตของเราขายไม่ได้ และไม่ใช่ขายไม่ได้เพราะตัวเราเองด้วยนะ แต่เป็นเพราะสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เราไม่ได้ปลูกพืชที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน แต่มันดันมีโรงงานนิวเคลียร์ระเบิดเลยทำให้ผลผลิตของเราปนเปื้อน หาคนซื้อไม่ได้ แถมโทษใครก็ไม่ได้ด้วย

ตอนนั้น ทั้งผม พ่อ แล้วก็น้องชาย ต้องรีบวิ่งเข้าธนาคารเลยครับ ซึ่งเขาก็ให้ความช่วยเหลือเรามา เราก็เอาเงินกู้ตรงนั้นแหละมาลงทุนเพาะเมล็ดหัวไชเท้าแล้วก็เริ่มปลูกมันใหม่ ต้องบอกว่าถ้าตอนที่เกิดวิกฤตวันนั้น พวกเราไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนมาขายหัวไชเท้าแทน ป่านนี้เราอาจจะเจ๊งไปแล้วก็ได้ (ยิ้มบางๆ) เพราะถึงเราจะพยายามปลูกผักป๋วยเล้งให้ปลอดสารยังไง แต่ความเชื่อมั่นของลูกค้าก็เสียไปแล้วไงครับ เขาปักใจคิดไปแล้วว่าผักป๋วยเล้งของ จ.จิบะ ปนเปื้อนสารพิษ ทางสหกรณ์ผู้บริโภคที่เคยเป็นลูกค้าก็พยายามหลีกเลี่ยง ไม่มาซื้อผักแถวนี้ไปขาย สุดท้าย ผมก็เลยต้องใช้วิธีใหม่ครับ ในเมื่อเขาไม่มาซื้อ

เราขับรถไปขายเขาแทน ขนผักใส่รถบรรทุกข้ามอำเภอไปขายตามที่ต่างๆ แล้วก็ไปดิ้นรนขอใบรับรองจาก J-GAP (Japan Good Agriculture Practice) เพื่อให้รับรองให้เราว่า ผักจากไร่ของเราปลอดสารนะ ไว้ใจได้นะ ผมต้องขนผักไปขายแบบนี้ตลอดช่วงวิกฤตนั้นเลยครับ จนสุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้” เขาปิดท้ายด้วยเสียงปลายประโยคที่แผ่วเบาคล้ายกำลังถอนหายใจด้วยความโล่งอก

(รถบรรทุกส่วนตัวที่ใช้ขนผักส่งต่างเมือง)



เห็นแสงสว่างในทุกความมืดบอด
ถึงจะไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยทางด้านเกษตรมาโดยตรง แต่เขาก็สามารถใช้องค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์ได้แบบเกินร้อย บวกกับวิสัยทัศน์ที่เฉียบขาดของทะเคะฮิสะ จึงทำให้ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ที่เกิดขึ้น ไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับเขาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ลองย้อนรอยตามไปดูอดีตของเขาจะพบว่ามีทางออกให้กับทุกอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาเสมอ

“ผมเริ่มมาเป็นเกษตรกรตั้งแต่อายุ 22 จนตอนนี้ก็ 35 ปีแล้ว ผมคิดตั้งแต่แรกเลยว่า ถึงเราจะสานต่อกิจการของคุณพ่อ แต่ผมจะต้องพัฒนามันต่อไป ถึงผมจะเรียนจบเศรษฐศาสตร์มา ไม่ถนัดอะไรแบบนี้ แต่ผมก็อยากจะรักษาทุกอย่างในไร่เอาไว้ด้วยตัวเอง ก็เลยเลือกที่จะปลูกพืชง่ายๆ ก่อน ในปีแรกๆ ปลูกแค่หัวไชเท้า, ผักป๋วยเล้ง ใช้พื้นที่ที่มีอยู่แค่ 3 เฮกเตอร์ ปลูกหมุนเวียนกันไปแบบนี้ จากนั้นก็ส่งผลผลิตให้กับบริษัท Wagoen (ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรสมาชิกมาขายส่งและแปรรูป เพื่อออกขายในตลาดต่อไป)


(มีเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทดลองตัดกะหล่ำปลีสดๆ จากไร่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว)

พอตอนหลัง มีน้องชายมาช่วยอีกคน พอดีน้องชายผมเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการเกษตรพอดี เลยเข้ามาช่วยเรื่องเทคนิคกับความรู้ ส่วนผมก็ดูเรื่องการบริหาร เป็นฝ่ายขาย และด้วยความที่ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวใหญ่ครับ มีทั้งคุณย่า, คุณพ่อ, คุณแม่, ภรรยา, น้องชาย, ผม แล้วก็ลูกๆ ผมอีก 4 คน พอมีคนเยอะ ค่าใช้จ่ายก็เยอะ ตอนแรกๆ ที่มาทำงานที่บ้าน ผมได้รับเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 50,000-80,000 เยน (ประมาณ 16,000-25,600 บาท)

แต่พอเรามีครอบครัวของตัวเอง มีลูกเพิ่มขึ้น เงินก็ไม่พอใช้จ่าย ก็เลยคิดว่าจะต้องขยายกิจการ ผมก็เลยเริ่มปลูก “หัวผักกาด” เพิ่ม เพราะช่วงนั้น น้องชายอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน แล้วก็เจอข่าวเขียนถึงบ่อยๆ ว่ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและราคาของมันค่อนข้างดีตลอดทั้งปี เลยเริ่มสร้างโรงเรือนหลังใหม่เพื่อปลูกตรงนี้โดยเฉพาะ

แต่พื้นที่ที่เรามีอยู่มีน้อยเกินกว่าจะขยายฐานการปลูกได้ ผมก็เลยต้องหาพื้นที่เพื่อเช่าปลูก พอไปดูตามที่เขาเสนอขายกัน ราคาก็สูงมาก ผมเลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า เราไปขอเช่าพื้นที่รกร้างดีกว่า แล้วก็ยื่นข้อเสนอให้เจ้าของที่เลยว่า เราจะทำความสะอาดให้เขา และทำให้ผืนดินตรงนั้นเกิดประโยชน์ขึ้นมา พูดคุยต่อรองกันอยู่สักพัก เขาก็ให้เราเช่าพื้นที่รกร้างตรงนั้นมาปลูกแบบฟรีๆ เลย หลังจากนั้นผมก็ใช้วิธีแบบนี้นี่แหละครับในการขยายพื้นที่เพาะปลูก

ซึ่งวิธีนี้ก็ใช้ได้อยู่ช่วงนึงครับ แต่พอช่วงหลังๆ พื้นที่รกร้างเริ่มหายากมากขึ้น ผมก็เลยไปลองติดต่อไร่มันดู เพราะรู้ว่าพืชชนิดนี้ไม่สามารถปลูกได้ติดต่อกันตลอดปี ยังไงก็ต้องมีช่วงที่ต้องพักหน้าดิน ผมก็เลยขอเขาใช้ช่วงพักตรงนั้นนั่นแหละครับ ปลูกพืชของผมสลับกัน นอกนั้นผมก็เริ่มทำฟาร์มโคนมไปด้วย และผมก็จะเข้าไปคุยกับทางบริษัท Wagoen ที่เราส่งผลผลิตจากไร่ให้ประจำว่าตอนนี้ตลาดอยากได้พืชผักชนิดไหน ถ้าเรายังพอมีกำลังและมีพื้นที่ปลูกได้ เราก็จะปลูกและส่งให้เขา

ทุกวันนี้ ผมปลูกหลายอย่างมาก หลักๆ คือ หัวไชเท้า, ผักป๋วยเล้ง, ผักกวางตุ้ง, มะเขือม่วง, มันฝรั่ง, กะหล่ำปลี ฯลฯ สิ่งที่ผมอยากทำต่อไปในอนาคตก็คือ จะเพิ่มปริมาณการบริโภคหัวไชเท้าและกะหล่ำปลีครับ คิดว่าทำยังไงให้สามารถเพิ่มไลน์การผลิตได้ ทำยังไงให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ในกรณีที่ขาดแคลนลูกจ้าง อันนี้เป็นการบ้านที่เราต้องคิดกันต่อไป


(ล้างด้วยกำลังคน วิธีเดิมก่อนมีเครื่องล้างหัวไชเท้า)

ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดจิบะ ทะเคะฮิสะ เจ้าของฟาร์มอิจิมะแห่งนี้ ตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่า ในอนาคตต้องทำให้เกษตรกรทุกคนมีรายได้อยู่ที่ 9.6 ล้านบาทต่อปีให้ได้ จากที่ทุกวันนี้เกษตรกรญี่ปุ่นในละแวกนั้น ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 15 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยคือประมาณ 4.8 ล้านบาท “ผมอยากเห็นเกษตรกรในเมืองเราทุกคนเป็นสุดยอดโมเดลด้านการเกษตรครับ” เขาประกาศกร้าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

เห็นทีว่าเมืองเกษตรกรรมอย่างเรา คงต้องเรียนรู้วิธีคิดวิธีบริหารหนี้จากเศรษฐีชาวไร่เมืองอุตสาหกรรมอย่างเขาบ้างแล้ว เผื่อว่าวันหนึ่ง ชาวนาชาวสวนชาวไร่ชาวไทยจะลืมตาอ้าปากและปลดหนี้กับเขาได้บ้าง

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
เรื่องและภาพ: อิสสริยา อาชวานันทกุล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
“เศรษฐีชาวไร่แดนอาทิตย์อุทัย” รวยเพราะ...?



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น