นักวิชาการประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Time Chuastapanasiri ถึงซีรีย์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 โดยพาดหัวเรื่องว่า 10 คำแนะนำ ดู/ไม่ดู "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" เพื่อเป็นข้อแนะนำสำหรับวัยฮอร์โมน และพ่อแม่ยุคใหม่
หลังจากให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live กรณีฉากเลิฟซีนคู่เกย์-เลสเลี้ยนสุดสยิวในซีรีย์ฮอร์โมน ซีซั่น 2 (ตอนดาวก้อย) ประกอบสกู๊ปข่าว วิพากษ์ฉากฉาว "ฮอร์โมน 2" เลิฟซีนคู่เกย์-เลสเบี้ยนสุดสยิว! ไปเมื่อวันจันทร์ (11 ส.ค.57) ที่ผ่าน
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Time Chuastapanasiri ถึงซีรีส์เรื่องนี้โดยพาดหัวเรื่องว่า 10 คำแนะนำ ดู/ไม่ดู "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" เพื่อเป็นข้อแนะนำสำหรับวัยฮอร์โมน และพ่อแม่ยุคใหม่
ต่อไปนี้คือเนื้อหาที่นักวิชาการด้านสื่อท่านนี้ได้เสนอแนะเอาไว้
*****************************************
ผมถามหลานสาววัย 13 ขวบว่าเธอดูฮอร์โมนหรือไม่ เธอตอบว่าดู และคิดว่า เรื่องนี้มันติดเรทมากเกินไป นั่นคือความคิดเธอที่มีต่อหนังเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ ให้ลอง "พิเคราะห์" ดูว่า ถ้าจะต้องดูฮอร์โมนแล้วจะต้องดูอะไรบ้าง
1. แก่นเรื่องหลัก คือ "เพศ ยาเสพติด ความรุนแรง"
พึงทำความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะดู หรือสามารถตัดสินใจได้แต่แรกว่าจะดู หรือไม่ดู (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ การห้ามเด็กๆ ดู เพราะนั่นอาจยากมากและทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป) เพราะฉะนั้นความรุนแรงจึงเป็นเสมือนสารอันตรายที่ผู้ดูอาจจะต้องรู้แต่แรกว่าจะเจออะไร
2. หนังมีเรต "น18"
หนังเป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับผู้ชม มากกว่า 18 ปีขึ้นไป ฉะนั้นเด็กๆ อายุต่ำกว่า 18 ก็ไม่ควรดูเลยครับ ไปดูอย่างอื่นเถอะครับ ไม่ดูก็ไม่เป็นไรนะครับน้องๆ
3. การเซ็นเซอร์
หนังไม่มีฉากที่ต้องเซ็นเซอร์ เช่นฉากดื่มสุรา, หรือ ฉากสูบบุหรี่ (อันนี้เซ็นเซอร์แน่ๆ เพราะกฎหมายไทยสั่งแบน) เรื่องนี้ถือว่าผู้ผลิตทำตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และในทุกฉากก็มีคำเตือน
4. ฉากรุนแรง
ส่วนฉากข่มขืน ฉากเลิฟซีน ฉากจูบนั้น ปกติผู้ผลิตจะไม่เซ็นเซอร์อยู่แล้ว แต่จะถ่ายทำเฉพาะที่จำเป็นอันเป็นสาระสำคัญของเรื่อง อันไม่สามารถตัดออกได้ ในกรณีที่มีฉากการร่วมเพศ ที่ผ่านมา ผู้ผลิตพยายามใช้การสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ (ซึ่งภาคแรกทำได้ดีมากทั้งหมด)
5. การเลียนแบบ
เด็กๆ จะมีการเลียนแบบหนังเรื่องนี้ได้แน่นอน หรืออาจจะดูแล้ว ไม่เลียนแบบเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ
(1) ประสบการณ์เดิม - การเลี้ยงดู ปมชีวิต ค่านิยม โลกทรรศน์ ความทรงจำเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอดีต
(2) ความสามารถในการแปรความตีความ - เช่น ดูแล้วไม่เข้าใจ ไม่คิดตาม หรือตีความรับเอาเฉพาะส่วน ฉากความรุนแรง หรือเอาเฉพาะส่วนที่ชอบ หรืออยากจะทำตาม แต่ไม่เอาส่วนที่เป็นโทษ
(3) ปริมาณและการเปิดรับสื่อ - เข่นถ้าเด็กๆ ดู เปิดรับสื่อแต่เนื้อหาที่มีความรุนแรง เรื่องเพศมากๆ ก็จะไม่มีประสบการณ์รับสื่ออื่นๆ เลย การเปิดรับสื่อไม่ได้ยอกว่ามากแล้วไม่ดี ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่รับชมด้วย
6. ความหลากหลายทางเพศ
ต้องยอมรับ และพยายามเข้าใจว่าเรื่อวเพศในวันนี้สลับซับซ้อนมากกว่าเดิม และการมองว่าเรื่องเพศมีแต่หญิง ชาย และมองเพศอื่นๆ ว่าเป็นคนจิตวิปริตนั้น อาจ "คร่ำครึ" หรือ "โบราณ" มากไปหน่อย
ควรเข้าใจเรื่อง เพศวิถี (sexuality) และ เพศสภาพ (gender) ที่เป็นองค์ประกอบความเข้าใจเรื่องเพศในวันนี้ ที่สังคมกำลังพูดเรื่องความแตกต่างหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่างของผู้คนในสังคม
7. ความรุนแรงล้วนมีที่มา
หากหนังทำดีจะต้องสื่อความรุนแรงว่าเป็นสิ่งที่มีสาเหตุและผลลัพธุ์ และจะต้องอธิบายที่มา ความเป็นไปของความรุนแรงนั้นๆ และจะต้องไม่สื่อว่า "คนเราควรแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยความรุนแรง" และที่สำคัญ จะต้องสื่อให้เห็นว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิด สังคมไม่ยอมรับ และผู้กระทำความรุนแรงต้องไม่นำเสนอเป็นเสมือนวีรบุรุษ เป็นฮีโร่
8. ค่านิยมเรื่องเพศ
มีคำแนะนำว่า สื่อที่นำเสนอเรื่องเพศนั้น ควรถูกนำเสนอมิใช่เพื่อหาผลประโยชน์ฉาบฉวยเพื่อดึงดูดความสนใจจากวัยรุ่น แต่ให้ดูว่า ผู้ผลิตนำเสนอในมุมอย่างไร เช่น
- ค่านิยมเพศเสรี เพศที่ไม่ป้องกัน เพศที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ควรเป็นสิ่งที่ยอมรับได้!
- ไม่ควรเสนอเรื่องเพศก่อนวัยเรียน วัยที่เหมาะสม ว่าเป็นเรื่องปกติ
- ไม่ควรนำเสนอว่า พ่อแม่เป็นศัตรูในเรื่องเพศกับเด็กๆ หรือ เสนอในภาพว่า พ่อแม่ไม่มีวันเปิดใจ พยายามเข้าใจเด็กๆ ไม่ควรนำเสนอว่า พ่อแม่เป็นผู้ที่ปิดรับ ไม่พร้อมที่จะคุยเรื่องเพศกับลูก
- ควรสอดแทรก ฉาก ตัวละครที่เป็นคุณหมอ นักจิตวิทยา ที่ได้เข้ามาแสดงให้ทัศนะการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
- ควรแสดงให้เห็นว่า คนที่ไม่พร้อมเรื่องเพศ ได้รับบทเรียนอย่างไร
- ไม่ควรละเลย หรือเพิกเฉยการป้องกันการติดต่อโรคทางเพศ
9. ดูอย่างเท่าทันสื่อ
เช่น ชวนลูกๆ ดูเรื่องการผลิต การเขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ หรือการแสดง เรื่องเหล่านี้อาจเป็นบทสนทนาง่ายๆ ที่ทำให้เด็กๆ รู้วิเคราะห์สื่อ หรือชวนคุยเรื่องที่บ้าน ที่โรงเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องสังคมของลูกๆบ้าง แต่ควรคุยอย่างเข้าใจ อย่างเพื่อเข้าใจเด็กๆ อย่าคิดว่า การเงียบ การไม่คุย การห้ามไม่ให้ดูคือวิธีแก้ปัญหา นั่นอาจจะได้ผลดีในบ้าน แต่ที่สุดเด็กๆ ก็อาจรู้ได้จากทางอื่น
ชวนคุยเรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือคุณค่าความถูกผิดของการกระทำต่างๆ ในหนังบ้าง เพื่อสำรวจสืบรู้ว่าเด็กๆ คิดอย่างไร และเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้นหรือไม่ หรือพวกเขาตีความมันอย่างไร
พยายามให้เขาดูอย่างขบคิด ตั้งคำถามกับตัวเอง
- ใครผลิตสื่อนี้ขึ้นมา?
- เขาใช้เทคนิควิธีการใดดึงความสนใจของผู้ชม
- ทำไมคนดูเรื่องนี้เหมือนกัน จึงและตีความต่างกัน
- ค่านิยม ทัศนคติ วิถีชีวิต ความคิดใดที่แอบแฝงมาในเรื่อง
- เขาส่งสาร ผลิตละครเรื่องนี้ทำไม เขาต้องการอะไร
หรือจะดูแบบขำๆ แบบจับผิด ดูว่าผู้ผลิต ได้รับแรงบันดาลใจจากซีรี่ย์หนังต่างประเทศเรื่องใด ฉากไหน อย่างไรก็ได้!
10. ไม่ดูก็ดี จะดูก็ได้
มีสื่ออื่นๆ อีกมากมายที่อยู่รายล้อมชีวิตพวกเขาในวันนี้ ทั้งละครต่างประเทศ เกม เว็บไซต์ มือถือ สื่อออนไลน์ที่เป็นอันตรายอีกมากมาย เรื่องฮอร์โมนนี้ดูก็ดี ไม่ดูก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจ ชั่งน้ำหนักของพ่อแม่ หรือเด็กๆ เอง ซึ่งก็ควรประมาณกำลังและถามท้าทายตนเองว่า ถ้าเราดู เราจะสามารถรับมือกับมันอย่างไร
ส่วนประเด็นเรื่องความรับผิดชอบของสื่อ ของผู้ผลิต ก็ควรเป็นจริยธรรมสำนึกของผู้ผลิต อย่าเพิกเฉย ละเลยต่อความกังวลของพ่อแม่ ส่วนพ่อแม่ ก็น่าจะถือโอกาสท้าทายตนเองว่าจะรับมือกับสื่อนี้อย่างไร
เชื่อว่า เจตนาดีย่อมเป็นเครื่องตัดสินชี้นำ เมื่อใดที่รู้สึกว่าละครเรื่องนี้ ไม่ดีแน่ๆ อันตรายแน่ๆ ก็ไม่ควรแนะนำให้ลูกๆดู เมื่อยังไม่พร้อมหรือไม่ถึงเวลาเหมาะสม
อย่าดูเพียงเพราะมันนิยม แต่จงดูเพราะมันช่วยให้เราเข้าใจปัญหา ดูอย่างคิด มีสติ และตั้งคำถาม
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754