สร้างกระแสถล่มโลกโซเชียลฯ สำหรับฉากเลิฟซีนสุดสยิวในซีรีย์ฮอร์โมน ซีซั่น 2 (ตอนดาวก้อย) โดยเฉพาะคู่ของ "ภู" (มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล) กับ "ธีร์" (ตั้ว-เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์) ที่เปิดฉากเลิฟซีนจูบปาก และจบลงด้วยการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะสร้างความฟินไปทั่วประเทศ แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนคงส่ายหน้ารัวๆ กับฉากดังกล่าว โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ยังรับไม่ได้กับรสนิยมทางเพศที่หลากหลายของเด็กไทย
เมื่อถามความเห็นไปยังนักวิชาการด้านสื่อ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ยอมรับว่าตกใจเหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า เพศในวันนี้ ไม่ได้มีแค่หญิงกับชาย
"ส่วนตัวมองว่า มีฉากเรื่องเพศบ่อยหรือถี่ไม่เป็นไร ถ้ามีเหตุผลรองรับว่าทำไมตัวละครต้องเป็นแบบนี้ หรือต้องทำแบบนี้ ซึ่งแตกต่างจากหนังหรือมิวสิกวิดีโอที่เน้นขายเซ็กซ์ ผมว่าเราควรจะมีปัญหากับฉากแบบนี้มากกว่า ดังนั้น สำหรับผม ถ้าฉากเรื่องเพศ หรือเรื่องพวกนี้ถูกนำเสนอเพื่อต้องการบอกว่ามันมีปัญหา สาเหตุคืออะไร ผลกระทบของมันคืออะไร ผมว่าเราเข้าใจได้ แต่ถ้าถูกใช้ในเชิงพาณิชย์พร่ำเพรื่อ ผมว่าการนำเสนอแบบนี้ไม่มีจริยธรรม"
ที่บอกแบบนี้ ไม่ได้เข้าข้าง หรือห้ามไม่ให้ด่าซีรีส์ฮอร์โมนนะ แต่พ่อแม่ทุกคนต้องดูด้วยว่า ทำไมเขาถึงนำเสนอฉากแบบนี้ เขามีเจตนาอะไรหรือเปล่า ดังนั้น ความถี่ความบ่อยไม่ใช่ปัญหา ถ้าฉากเหล่านั้นอธิบายได้ว่า ทำไมถึงต้องมี มันมีเหตุผลอะไรสำคัญอยู่ในฉาก" นักวิชาการด้านสื่อให้ทัศนะ
ดังนั้น นักวิชาการคนเดียวกัน เสนอแนะให้ผู้ใหญ่ชวนเด็กคุย มากกว่าที่จะไปตำหนิฉากที่มันไม่เหมาะสม
"เราอาจจะต้องพักรบเรื่องการตำหนิฉากที่มันไม่เหมาะสม แล้วมานั่งดูด้วยกันกับลูก ส่วนตัวมีหลานสาว ยังถามเลยว่า หนูดูฮอร์โมนไหม เขาก็บอกว่าดู ถามต่อไปว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่า มันค่อนข้างจะติดเรตหน่อยนะ แต่หนูก็ดู ผมก็โอเค บางคนบอกกลัวลูกเลียนแบบ ย้อนถามหน่อยว่า แล้วทุกวันนี้เราปิดการเข้าหาสื่อของเด็กได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น การคุยกันเป็นเรื่องที่ดีที่สุด" นักวิชาการด้านสื่อแนะ ก่อนจะฝากไปถึงคนทำหนัง ทำละครเกี่ยวกับวัยรุ่นว่า
"เรื่องที่ควรระมัดระวังนอกจากฉาก คือวัยรุ่นดูหนัง หรือดูละครเรื่องนี้แล้ว พวกเขาได้ทัศนคติอย่างไรกลับไป ถ้าได้ทัศนคติในเรื่องเซ็กซ์เสรี เซ็กซ์ที่ไม่ป้องกัน หรือไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้ แบบนี้อันตรายมากๆ แต่ถ้าดูหนังเรื่องนี้แล้วกระตุกต่อมคิด มีคุณพ่อคุณแม่ชวนคุย เด็กก็จะได้เรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง"
พูดถึงเรื่องการดูโทรทัศน์กับลูก ก็ชวนนึกถึงคำให้สัมภาษณ์ของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 ในงานเสวนา "ความสุข..สร้างได้ทุกวัย : ฮอร์โมนสุขใจ..ในวัยว้าวุ่น" เขาบอกว่า ทุกครอบครัวมีวิธีการสื่อสารกับลูกไม่เหมือนกัน แต่บรรยากาศที่ใช้ในการสื่อสารกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก
"ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการดูหนังด้วยกันกับลูก เป็นคุณแม่ท่านหนึ่งนั่งดูซีรีส์ฮอร์โมนตอนของดาว (ซีซั่นแรก) กับลูกสาว คุณแม่ท่านนี้บอกว่า ตอนนั่งดูกับลูกสาวมันรู้สึกอึดอัดเหมือนในเรื่องเป๊ะๆ เลย จนถึงตอนที่ดาวรู้ว่าท้อง หรือไม่ท้อง บรรยากาศก็ยิ่งกดดันมากขึ้นไปอีก กระทั่งดูกันจนจบ คุณแม่ก็ลุกขึ้นไปกอดลูกสาว กอดแน่นมากๆ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งนะ
บางครอบครัวอาจมีกำแพงประมาณหนึ่ง แต่บางครอบครัวเปิดเผยได้ แม้จะไม่เหมือนกัน อย่างน้อยๆ บรรยากาศที่เราสื่อสารกัน มันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการพยายามทำความเข้าใจกันระหว่างเจเนอเรชัน ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่กันแบบไม่เข้าใจกันไปเลย ปัญหาทุกอย่างมันก็จะไม่ถูกแก้" ผู้กำกับรุ่นใหม่ท่านนี้ให้ความเห็น
หรือจะเป็นคำแนะนำดีๆ จาก นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ที่เคยเขียนบทความเรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ เด็กๆ เรียนรู้จากพ่อแม่ ซึ่งมีตอนหนึ่งได้เขียนแนะนำพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องการดูโทรทัศน์กับลูกไว้อย่างน่าสนใจ และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
"สิ่งที่ดีที่สุด เวลาดูหนังกับลูก ควรดูไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นฉากอะไรก็ตาม ไม่ต้องเห็นดีเห็นงาม แต่ก็ไม่ต้องรังเกียจเดียดฉันท์ในฉากต่างๆ เพราะมันแสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หากเป็นฉากเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น เลิฟซีนต่างๆ คุณพ่อคุณแม่แสดงออกแบบเฉยๆ เด็กก็รับรู้เลียนแบบพ่อแม่ โดยเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นการแสดงเกินเหตุ ก็พูดคุยกับลูกได้ว่า นี่เป็นการแสดงเกินพอดี ปกติคนทั่วๆ ไปเขาไม่ทำกันอย่างนี้ หรือในวัฒนธรรมไทยเราไม่ทำกันอย่างนี้ ซึ่งการพูดคุย พ่อแม่จะต้องสื่อสารสองทาง พูดความคิดเห็นของเรา แล้วเปิดโอกาสให้ลูก บอกความคิดเห็นของเขา เป็นการพูดคุยแบบเพื่อนที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรตามมา"
ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนจากการตำหนิเพราะรับไม่ได้กับฉากเลิฟซีนสุดสยิว มาเปิดใจเรียนรู้รสนิยมทางเพศที่หลากหลายของเด็กไทย เพื่อคุณกับลูกจะได้เขยิบเข้ามาใกล้กันมากยิ่งขึ้น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754