หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เดินทางชุมนุมปิดล้อมหน้าสถานีโทรทัศน์หลายสถานี โดย 1 ในสถานีที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคงจะหนีไม่พ้นช่อง 3 จากท่าทีการทำหน้าที่สื่อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
ต่อมากลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นอีก หลังจากที่เกิดฝนตกหนักแต่ทางผู้บริหารช่อง 3 กลับไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมกปปส.เข้าหลบฝน ถึงตอนนี้จึงกลายเป็นข้อสงสัยของความเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาตลอดอย่าง ช่อง 3 ก็ชวนให้สงสัยว่า เหตุใดช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา สื่อมวลชนแห่งนี้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษ
ช่อง 3 กับการชุมนุม
หากย้อนกลับไปในช่วงเหตุชุมนุมทางการเมือง ช่อง 3 ถือเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ไม่แปลกหากว่าผู้ชุมนุมทางการเมืองจะต้องการให้การชุมนุมของตัวเองถูกพูดถึง จนเมื่อปี 2553 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงก็รุนแรงขึ้นจนถึงตึกมาลีนนท์ถูกเผา
มาถึงตอนนี้การทำหน้าที่สื่อของช่อง 3 ก็ยังคงถูกตั้งคำถามจากผู้ที่อยู่ฟากฝั่งตรงข้ามรัฐบาลที่ปัจจุบันนี้คือกลุ่มกปปส. แม้ด้านหนึ่งการกดดันสื่อด้วยการชุมนุมปิดล้อมนั้นก็ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อโดยสมาคมสื่ออย่าง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันจากกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ช่อง 3 มักจะตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและมักเป็นเป้าของผู้ชุมนุม ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)/ไทยพีบีเอส วิเคราะห์ว่า ช่อง 3 มีฐานผู้ชมที่กว้างเป็นรองเพียงช่อง 7 แต่ด้วยเนื้อหารายการที่มีช่วงเวลาของรายการข่าวที่เยอะกว่าช่องอื่น ทำให้ช่อง 3 มีอิทธิพลชี้นำความคิดของผู้คนในสังคมได้
“นอกจากอิทธิพลในเชิงปริมาณผู้ชมและปริมาณเนื้อหาเวลาของรายการข่าวแล้ว ช่อง 3 ยังมีบุคลากรข่าวที่มีอิทธิพลทางความคิดไม่ว่าจะเป็นคุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) คุณกิตติ (สิงหาปัด) คุณฐาปณีย์ (เอียดศรีไชย) ล้วนแล้วแต่เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชม เมื่อมองในเชิงคุณภาพแล้วช่อง 3 จึงถูกคาดหวังมากเป็นพิเศษ”
เมื่อเทียบกับช่อง 7 แล้ว ธามมองว่า อาจไม่มีนักข่าวที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนถูกชี้นำความคิดทางการเมือง ลักษณะสำคัญอีกอย่างที่แตกต่างกันคือ ช่อง 3 นั้นมีการนำเสนอข่าวที่มีลักษณะของการสอดแทรกความคิดเห็นลงไปในข่าวด้วย ขณะที่การเสนอข่าวของช่องอื่นจะเน้นไปที่การเสนอข่าวสถานการณ์มากกว่า
“การนำเสนอข่าวของช่อง 3 ไม่ได้นำเสนอแบบตรงไปตรงมาแบบรายการข่าว แต่มีลักษณะสอดแทรกความคิดเห็นดังนั้นผู้ชมจึงอาจมองว่า ช่อง 3 เอนเอียง อคติ เลือกข้าง เพราะข่าวส่วนมากมีกลวิธีในการนำเสนอไปในทำนองนั้น”
ความน่าเชื่อถือที่ลดน้อยลง
หลังจากการชุมนุมทางการเมืองรอบล่าสุด ภาพลักษณ์ที่ดูดีของช่อง 3 เริ่มเดินถอยหลังกลายเป็นถูกครหาทางสังคมมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะกับมวลชนทางการเมือง ธาม นักวิชาการด้านสื่อคนเดิมอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ในช่วงก่อนหน้าที่ช่องทีวีการเมืองจะเกิดขึ้นในสังคมไทย สถานีโทรทัศน์กระแสหลักช่อง 3,5,7,9 นั้นถือว่ามีอิทธิพลทางความคิดของสังคมมาก แต่ภายหลังจากทีวีเคเบิลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นบลูสกาย สปริงนิวส์ หรือเอเอสทีวี ส่งผลให้ผู้ชมมีทางเลือกในการรับข่าวสารมากขึ้น
“แต่ฟรีทีวีช่อง 3 กับ 7 ก็ยังเป็นช่องหลักเพราะ 2 ช่องนี้มีส่วนแบ่งผู้ชมกว่า 80 - 95 เปอร์เซ็นต์ แต่อิทธิพลทางการเมืองนั้นช่อง 3 กลับมีมากกว่าด้วยการนำเสนอประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทางสังคม การเสนอแบบคุยข่าวเล่าข่าวที่สอดแทรกความเห็นเข้าไปได้ ยังมีรายการสนทนาที่มีแขกรับเชิญเข้ามาถกเถียง เหล่านี้ทำให้ช่อง 3 ถูกจับตามองว่าเอนเอียงทางการเมืองหรือเปล่า?”
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ลักษณะเด่นของการเสนอข่าวแบบเล่าข่าว และรายการสนทนาที่เชิญคู่ขัดแย้งมาพูดคุยถกเถียงจะทำให้รายกายได้รับความนิยม แต่สิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของช่อง 3 ลดน้อยลง ด้วยเพราะความเห็นคิดทางการเมืองนั้นอาจไม่เป็นกลาง รวมถึงหากมองดูรายละเอียดของการเสนอข่าวให้ดีๆ เขาเผยว่า รายการข่าวของช่อง 3 ก็มีกลวิธีนำเสนอที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ช่อง 3 เลือกข้างอยู่ด้วย
“ผมแบ่งเป็น 3 สาเหตุด้วยกัน 1 ในรายการเล่าข่าวถ้าฟังให้ดี ฟังให้ยาว ฟังให้นาน ก็จะเห็นกลวิธีเลือกข้างของผู้นำเสนอข่าวเพราะว่ารายการข่าวมันยาวมาก แม้กระทั่งการให้พื้นที่ข่าว การเรียงลำดับพวกนี้มันทำให้ผู้คนรู้สึกว่า เฮ่ย นี่ฉันถูกชี้นำมาตลอด
“2 ที่ผมบอกไป ข่าวช่อง 3 ไม่ได้เน้นรายงานเฉพาะสถานการณ์แต่มีรายการดีเบตด้วย ฉะนั้นประชาชนย่อมรู้สึกว่า เฮ่ย ทำไมพิธีกรไม่เห็นกลาง เช่น การตั้งคำถามกับคนๆนี้ หนักเข้มอ่อนเบา อีกคนทำไมไม่แบบนี้ พิธีกรจึงถูกตั้งคำถาม
“และสุดท้าย 3 คือช่อง 3 มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนพรรคการเมือง ผู้คนที่รู้เรื่องเพราะเขาดูเอเอสทีวี ดูบลูสกายเขาก็รู้ ทุนจากภาครัฐที่สนับสนุนช่อง 3 ลงทุนโฆษณากับช่อง 3 ก็ทำให้ตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านสื่อก็ยังคงมองว่า ช่อง 3 มีส่วนที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีโดยเฉพาะรายการสถานการณ์ที่ทำได้ทันท่วงที
“ช่อง 3 ทำได้ดีในจุดนั้นแต่อาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อในเชิงของจุดยืน การชี้นำ หรือทัศนคติความคิดเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปทางรัฐบาลมากกว่าปกติ”
หน้าที่ของสื่อ
“เวลาสื่อทำหน้าที่ สื่อใช้พื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นสื่อต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองจะนำเสนอ เนื้อหาข่าวน่าจะมีผลกระทบในเชิงของผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นที่คนจับตามองก็ดี ถือว่าสังคมไทยก็เติบโต มีกลุ่มก้อนต่างๆ ไม่ว่าจะกลุ่มการเมือง กลุ่มใดๆที่จับจ้องสื่อในการทำหน้าที่” ผศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงหน้าที่สื่อที่ควรจะเป็น โดยเขามองว่าการทำตัวเป็นกลางนั้นทำได้ยากขึ้นในยุคปัจจุบัน ยิ่งเฉพาะกับสื่ออย่างสรยุทธ หรือช่อง 3 ที่ได้รับนิยมค่อนข้างสูง
เขาวิเคราะห์อีกว่า ตอนนี้เมืองไทยแบ่งข้างกันเรียบร้อยแล้ว ผู้ชุมนุมในแต่ละฝ่ายมีมุมมองของตัวเอง รับสื่อที่แตกต่าง จนสื่อกระแสหลักต้องมีจรรยาบรรณ ต้องมีความสมดุลในข้อมูลข่าวสารทำงานค่อนข้างลำบาก เพราะผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายก็คาดหวังว่ามาชุมนุมแล้วก็อยากให้พื้นที่ของตัวเองไปอยู่ในหน้าข่าว
“การเล่าข่าวมันจะมีลักษณะความคิดเห็นของคนเล่าเข้าไปด้วย ซึ่งเท่าที่ดูอย่างคุณสรยุทธบางที ก็เห็นถึงความพยายามของเขาที่ไม่เอาอารมณ์เข้าไปใส่เยอะ แต่ในเรื่องของการลำดับข่าว การจัดวาระของข่าวมันอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองนัก ซึ่งผู้ชุมนุมบางส่วนมีอคติอยู่แล้ว ทำให้มองว่านักเล่าข่าวมีการเซตประเด็น”
ขณะที่ในส่วนของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ความเป็นกลางของสื่อนั้นไม่ใช่การให้พื้นที่เท่ากัน หากแต่ต้องความจริงให้ปรากฏแก่สังคมมากกว่า การรายงานข่าวแบบคนนั้นพูดแบบนั้น คนนี้พูดแบบนี้มีแต่จะยิ่งสุมไฟให้กับขัดแย้งในสังคม
“ถ้าช่อง 3 อยากเพิ่มความน่าเชื่อถือของข่าว ต้องเพิ่มกระบวนการของกองบก.คัดเลือกข่าวพิสูจน์ข้อเท็จจริงของฝ่ายทางการเมืองแต่ละฝ่ายก่อนว่าเป็นข้อเท็จจริงมั้ย ตอนนี้ช่อง 3 นำเสนอข่าวแบบข่าวดีเบตทางการเมืองว่า ใครพูดอะไร ผมว่า ช่องข่าวที่มีคุณภาพไม่ควรนำเสนอแต่ใครพูดอะไร ต้องนำเสนอด้วยว่าสิ่งที่พูดมันถูกกฎหมายมั้ย ยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญมั้ย ถ้าเสนอแต่คนนี้พูดแบบนั้น คนนั้นพูดแบบนี้มันง่าย แต่ช่อง 3 ก็มีแนวคิดที่ว่า ให้ผู้ชมเป็นผู้ตัดสินเองว่าอะไรจริงอะไรเท็จ แต่จริงๆ มันไม่ใช่”
ท้ายที่สุด เขาทิ้งท้ายว่า ปัญหาทางการเมืองทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อน มีความเป็นมามีข้อกฎหมายการนำเสนอแต่เพียงกระแสโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาสาระนั้นอาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อผู้ชมและสังคมโดยรวมได้
“ต่อไปคนก็พูดว่า ดูข่าวช่อง 3 มันเป็นแค่การเสพติดลีลาของสรยุทธ หรือหรือเสพติดดรามาทางการเมือง ซึ่งการทำข่าวแบบนี้มันละเลยสาระที่แท้จริงของเรื่องไป มันเป็นไปเพื่อความบันเทิงและความขัดแย้งจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!