ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สื่อสารมวลชน มช.จัดเวทีเสวนาปฏิรูปการเมืองกับบทบาทสื่อมวลชนที่เชียงใหม่ “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” แนะสื่อต้องไม่เอนเอียง-เสนอข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน ด้าน “สดศรี เผ่าอินจันทร์” ชี้สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพิกเฉยแล้วอ้างความเป็นกลาง ส่วน “สมเกียรติ อ่อนวิมล” ชี้ปฏิรูปประชาธิปไตยค่อยๆ เป็นไปให้ทุกคนเห็นพ้องในข้อเท็จจริง ระบุสื่อไทยเข้าสู่ยุคไร้ระเบียบใครอยากทำอะไรก็ทำ
วันนี้ (19 ธ.ค.) คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดการเสวนาวิชาการ ชุดมองสื่อ มองสังคม เรื่อง ปฏิรูปการเมืองไทย : บทบาทสื่อมวลชน ควรเลือกข้าง ส่องทาง หรือวางเฉย” ขึ้น ณ ห้อง MCB 2301 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด รองศาสตราจารย์สดศรี เผ่าอินจันทร์ อนุกรรมการติดตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. ดร.ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และนายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมในการเสวนา
ดร.ณรงค์กล่าวว่า ที่มาของปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจ และความพยายามที่จะจรรโลงอำนาจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มของตน โดยไม่ได้คำนึงถึงการใช้อำนาจเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศอย่างแท้จริง ขณะที่ในมุมมองของภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
อีกทั้งยังกลัวว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะลุกลามจนเกิดความรุนแรงซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะหรือการใช้ความรุนแรงมากกว่า ซึ่งในส่วนนี้เห็นว่าสื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญ ทั้งในการนำเสนอปัญหาความขัดแย้งและการมีส่วนในการพยายามยับยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะที่นายธามกล่าวว่า ปัญหาของสื่อในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีหลายประการ เช่น จริยธรรมของสื่อ บริบทต่างๆ การครอบงำ การเกิดขึ้นของสื่อสังคมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลายๆ อย่างที่ซ้อนทับกันอยู่และทำให้สื่อในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป
ส่วนเรื่องของความเป็นกลางและการเลือกข้างนั้นเป็นสิ่งที่นิยามได้ยากเพราะขึ้นอยู่กับมุมมองและการบอกเล่า อย่างไรก็ตาม สิ่ีงที่ตนเห็นว่าสื่อควรจะยึดถือประกอบด้วย ความเป็นกลาง ต้องอยู่ระหว่างความขัดแย้งโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การเลือกข้าง ต้องเลือกการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้านมากที่สุด และจุดยืน ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ หรือเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตาตนเอง แล้วรายงานอย่างตรงไปตรงมา
ด้านรองศาสตราจารย์สดศรีระบุว่า สิ่งที่ผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเพราะรับไม่ได้กับการทุจริตคอร์รัปชันและความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตน ซึ่งผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่กลุ่ม กปปส.ทำทุกอย่าง เช่นการไปกดดันสื่อก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปที่สื่อด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่ เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่สื่อมีพื้นที่ในการนำเสนอความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองไม่มากนัก ทั้งที่มีอิสระและความสามารถที่จะนำเสนอประเด็นต่างๆ ได้อย่างรอบด้านและหลากหลาย
แต่สื่อบางส่วนกลับเลือกที่จะอยู่เฉยๆ และไม่แตะต้องประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นเสมือนการเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองแล้วพยายามอ้างว่าเป็นการกลาง แต่สิ่งที่สื่อควรคำนึงถึงมากกว่าความเป็นกลางนั้นคือความเป็นธรรมและนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องต่อสังคม หรืออย่างน้อยก็ควรพยายามที่จะนำเสนอให้ครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่การเพิกเฉยหรือละเลยแล้วอ้างว่าตนเองเป็นกลาง ซึ่งหากสื่อคิดเช่นนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูป เช่นเดียวกับการเมืองที่ควรจะมีการปฏิรูปเช่นกัน
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ประชาธิปไตยของไทยยังวนอยู่ในระหว่างการพัฒนา ยังเป็นประชาธิปไตยที่อายุไม่มาก ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการค่อยๆ ปรับตัวไปอย่างช้าๆ พยายามสร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่จะต้องมีจุดร่วมในเรื่องของความถูกต้องและความจริงที่เห็นพ้องต้องกัน ดีกว่าที่จะพยายามเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยคิดว่าจะจบลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ในภายหลังกลับพบว่าปัญหายังไม่จบ
ส่วนภาวะของสื่อในปัจจุบันเป็นช่วงของการตกอยู่ในภาวะไร้ระเบียบ ทั้งจากการมีสื่อที่หลากหลายรูปแบบและมีคนจากหลายสาขาอาชีพเข้ามาทำงานด้านสื่อจนนำไปสู่ภาวะที่ใครอยากทำอะไรก็ทำและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งการจะคาดหวังว่าสื่อจะปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ กันทุกฝ่ายนั้นอาจจะทำได้ยาก แต่สิ่งที่อาจจะช่วยได้คือปลูกฝังให้คนที่ศึกษาด้านสื่อสารมวลชนมีความคิดเรื่องจริยธรรมในอาชีพ และส่งคนเหล่านี้เข้าสู่วงการสื่อเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคต