"มายาคติและ10 คุณสมบัติ “สะใภ้” วังจุฑาเทพ"
โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ
เล่นเอาสาวเล็ก สาวใหญ่ติดกันงอมแงมเลยทีเดียว สำหรับละครเรื่องคุณชายจุฑาเทพ, มีประเด็นที่ควรวิเคราะห์จริงๆ ว่า เหตุใด ทำไมคนจึงติดละครเรื่องนี้ได้มากขนาดนี้
นอกจากความหล่อ ความสวย ความสนุกของบทประพันธ์ที่นำมาถ่ายทอดได้อย่างชวนฝันโรแมนติกในความรักระหว่างหญิงสาวแล้ว ละครเรื่องนี้ยังมีแง่มุมเชิงลึกมากมายที่ควรค่าแก่การค้นหา
เหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่า น่าสนใจ คือ แนวคิดเรื่อง "สุภาพบุรุษ/สุภาพสตรี" ที่ถ่ายทอดลงไปในละคร, โดยมีโครงเรื่องคือความรักระหว่างชนชั้น(สูง) มิใช่ชนชั้นปกติๆ อย่างชาวบ้าน คนปกติทั่วไป
มายาคติ (myth) ที่สำคัญ ในละครโทรทัศน์เรื่องคุณชายจุฑาเทพ คือ "การคงสถานภาพชนชั้นสูง" เอาไว้ในสังคม เพราะตัวละครหลักทั้งหมด ล้วนมีสถานะเป็นคุณชาย และ คู่ครองของคุณชายทั้งหมด ก็มีสถานะเป็นคุณหญิง (ทั้งโดยกำเนิด หรือ โดยการเลื่อนชั้นทางสังคม เช่น กรองแก้ว ที่เป็นนางสาวศรีสยาม)
ภายใต้บรรยากาศของเรื่องแบบโรแมนติกชวนฝัน, ผู้คนส่วนมากที่นิยมดูละครนั้น ถูกพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการชวนฝัน ผู้หญิงอาจชื่นชมและแอบหวังลึกๆ ว่าตนเองจะเป็นหญิงสาวผู้โชคดีตกเป็นคู่ครอง คนรักในทางใดทางหนึ่งของคุณชายทั้ง 5ที่มีบุคลิกแตกต่างกัน
สถานภาพทางสังคม กรอบจารีต คุณค่า วัฒนธรรม ประเพณี คือสิ่งที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์โรแมนติกในละคร
ต่อไปนี้ อาจเป็น "10 คุณสมบัติ" ของ "สะใภ้" วังจุฑาเทพ ที่มี "ย่าอ่อน กับ ย่าเอียด" เป็นผู้กำหนดมาตรฐานและอนุรักษ์ หรือเป็นคนถือมาตรฐานการเป็นสะใภ้ที่ดี ดังนี้
(1) ยึดมั่นใน ความดี ความงาม ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู
(2) เป็นกุลสตรี เพียบพร้อมงานบ้าน งานเรือน การบ้าน การเมือง
(3) ทนงในศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นทิฐิสำคัญ
(4) เป็นแม่ศรีเรือน มีเสน่ห์ปลายจวัก รู้จักกาลเทศะ
(5) เป็นคู่คิด คู่ครองที่ดีเสมือนเหมือนชูหน้าชูตาสามี
(6) รักผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รักความถูกต้อง ความกล้าหาญ ความซื่อตรง
(7) มีความมุมานะ อดทน ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
(8) มีการศึกษา เรียนรู้ และวิชาเป็นปัญญาวุธ
(9) มีความยึดมั่นในความรักแท้ บริสุทธิ์ และศรัทธาในชายอันเป็นที่รัก!
(10) มีฐานะทางสังคมจากสืบสกุลสายเลือด เช่นเป็นคุณหญิง ท่านหญิง รัชทายาท หรือได้รับสถานะทางสังคม เช่น เป็นนางสาวสยาม
ว่าไปแล้ว ศักดิ์ และ สิทธิ์ ของสะใภ้จุฑาเทพนั้น เป็นสิ่งที่กุลสตรีพึงมี “อยู่ในตน” เฉพาะหญิงที่คู่ควรเหมาะสมเท่านั้น ที่จะได้ครอบครองคุณชายจุฑาเทพทั้ง 5
เธอหลายคนนั้น ว่าที่จริง มีศักดิ์และสถานภาพสูงกว่าคุณชายเสียด้วยซ้ำไป เช่น ท่านหญิงแต้ว และ สร้อยฟ้า ที่มีศักดิ์สูงกว่าคุณชาย แต่ที่สุด เธอก็จะเป็นหญิงที่สมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้หญิงของวังจุฑาเทพ และเธออาจได้รับสิทธิ สถานภาพเพิ่มเติมในภายหลัง ผ่านการยอมรับทางสังคม กรอบจารีตประเพณี ของย่าอ่อน ย่าเอียด และการแต่งงาน กับคุณชายแห่งวัง
มองในเรื่องบทบาทความเท่าเทียมเสมอภาคชายหญิงแล้ว หรือมุมมองเรื่อง สตรีนิยม (gender) แล้ว ละครเรื่องนี้ยังมีมายาคติที่สำคัญ คือ "ชายเหนือกว่าหญิง"
เพราะละครเรื่องนี้ มีโครงเรื่องหลักเน้นที่ตัวละคร คุณชายทั้ง 5 ที่มีเนื้อหาสำคัญ คือ การหาคู่ครองที่เหมาะสมมาเป็นภรรยา, ผู้หญิงจะต้อง "ถูกทดสอบ และประเมินคุณภาพความเป็นกุลสตรี" ต่างๆ มากมายเพื่อให้แน่ใจว่า เธอจะมีคุณสมบัติที่คู่ควรที่จะเป็นภรรยา
มีคุณสมบัติ เป็น "เทพธิดา" มาจุติ เพื่อคู่ควรกับ "จุฑาเทพ"
คุณชายจุฑาเทพ จึงอยู่ในสถานะ "ผู้เลือก" โดยมีอำนาจคือ สถานะคุณชาย หน้าที่การงาน คุณสมบัติความเป็นสุภาพบุรุษ ผู้ดี เพียบพร้อมทั้งฐานะและสถานภาพทางสังคม เป็นกำลังหลัก
เท่าที่ดู จะมี กรองแก้วเท่านั้น ที่ดูจะมาจากหญิงสาวสามัญ -- แต่ที่สุด กรองแก้วก็ "ก้าวข้ามคนธรรมดาสามัญ ได้ด้วยเวทีประกวดนางงาม เป็นนางสาวศรีสยาม" และมีสถานะทางสังคมในที่สุด!
มองในทางหนึ่ง ละครเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่อง "วังๆ จักรๆ วงศ์ๆ" แบบโรแมนติก เสมือนละครตอนเช้าของช่องเจ็ดในวันเสาร์อาทิตย์ เรื่องของ เจ้าชาย เจ้าหญิงเลือกคู่ และความวุ่นวายของสะใภ้ที่ต้องผ่านด่านย่ายาย แม่ยาย และนางอิจฉาทั้งหลาย!
ที่สุด ละครเรื่องนี้ พยายาม "ส่งต่อคุณค่า/ค่านิยม" กุลสตรีของหญิงสาว ที่เหมาะและคู่ควรกับคุณชาย สุภาพบุรุษจุฑาเทพ , เป็นภาพอุดมคติชวนฝันซาบซึ้งที่หาไม่ได้ หรือยากยิ่งในชีวิตจริง
กุลสตรีแห่งวังจุฑาเทพ เป็นส่วนเติมเต็มความสมบูรณ์ของ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ
ฤาหญิงดี หญิงงาม จะสมบูรณ์ได้ ก็ด้วยสามีเป็นคนตีตรากำหนด?
ชายหล่อเพียบพร้อมคุณสมบัติ ก็ยังต้องการหญิงสวยเป็นกุลสตรี
คุณสมบัติของ "สะใภ้จุฑาเทพ" บอกเราให้เห็นว่า "คนชั้นสูงวางกรอบมาตรฐานอย่างไรในการเลือกคู่ครอง?"
และการแต่งงานของชนชั้นสูงนั้น มี "ผลประโยชน์และมูลค่าทางสังคมสูงกว่าคนชั้นตลาดชาวบ้านมากมาย เพราะประกอบได้ด้วย ศักดิ์ และสิทธิ์ สถานภาพทางสังคมประกอบกัน"
ส่วนที่เรา(คนดู)ได้แต่นั่งชวนฝันนั้น ก็เพราะพิจารณาดูตนเองแล้ว คุณสมบัติต่างๆ ที่ย่าเอียด ย่าอ่อน วางไว้นั้น คนชนชั้นล่างเช่นเราหาได้มี หาได้เป็นไม่ -- ก็ฝันกลางวันเอาเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ละครเรื่องนี้ ก็ยังสามารถตีความในแง่บวกได้ คือ แนวคิด เรื่อง สุภาพบุรุษ และ กุลสตรี ที่ผู้ชมสามารถเก็บเอา "คติ" นี้ไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต
(ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วย ที่ใครจะค่อนแขวะว่า แหม พ่อคนดี แม่ศรีเรือน -- การอิจฉาคนที่ทำดี หรือเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี นั้นเป็นเรื่องที่สะท้อนว่า คุณไม่ชอบคนดี-ซึ่งมันก็น่าคิดว่าคุณเป็นคนอย่างไร?)
ฉะนั้น ส่วนตัวผมมองว่า "ความดี" คือ "คติ/ค่านิยม" ที่ดีเสมอในการนำพาผู้คนให้มีจริยธรรมค้ำจิตใจและการกระทำในชีวิตจริงที่เราควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
ส่วนมายาคติในละคร น่าจะเป็น การใช้คุณสมบัติ ความดีต่างๆ ในการ "ปกป้องชนชั้นและแวดวงของตน มิให้ชนชั้นอื่นเข้าถึงแทรกแซงสาวสัมพันธ์แห่งวงศ์" โดยมีกรอบมาตรฐานต่างๆ เป็นตัวกีดกั้นและแบ่งแยกชนชั้นของคนทางสังคมมากกว่า
ใครบางคนอาจแอบหวังลึกๆ ว่า ผู้คนในชีวิตจริง ก็สามารถมีคุณสมบัติ "สุภาพบุรุษ และ กุลสตรี" ได้มากขึ้นในชีวิตจริง! โดยที่ไม่จำเป็นต้องมี "ชาติตระกูลที่ดี" แต่การเป็น "คนดี" นั้น เป็นเรื่องของ "บุญทำ กรรมแต่ง" มิใช่เรื่องของ "วาสนาและชาติกำเนิด"
อย่างน้อยๆ เราก็หวังลึกๆ ว่า "สุภาพบุรุษ และ สุภาพสตรี" ก็เป็นคุณสมบัติที่ หญิง-ชายพึงกระทำต่อกันด้วยความเคารพและให้เกียรติต่อกันอย่างจริงใจ!