xs
xsm
sm
md
lg

7 นิสัยอันตรายจากเฟซบุ๊ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1. หลงใหลตัวเองมากขึ้น

คนมักโพสต์รูปถ่ายกับรถใหม่ บ้านใหม่ ของเล่นชิ้นใหม่ บ้านใหม่ งานใหม่ สถานที่เที่ยวใหม่ๆ กระทั่งอาหารที่กำลังจะทานพวกเขาก็ไม่วายที่จะถ่ายรูปเพื่อเอามาอวดเพื่อนๆ หรืออวดว่ามีจำนวนคนมาขอเป็นเพื่อนมากมาย คนมากดชอบ แสดงความคิดเห็น ก็กลายเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาหลงตัวเองมากขึ้นไปอีก
 

2. ขี้อิจฉามากขึ้น

เมื่อมีคนโพสต์เรื่องตนเอง หน้าตาดี ชีวิตดี ฐานะดี ดูดี ดูเท่ คนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่ดีแบบนั้น จึงกลายเป็นคนที่ขี้อิจฉามากขึ้น เพราะในโลกจริง ผู้คนส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นคนจน ชนชั้นกลาง หลายๆ คนไม่ได้เป็นคนเก่ง ได้รับสถานะทางสังคมเฉกเช่นดารา คนดัง หรือบุคคลสาธารณะ เพื่อคนธรรมดาเหล่านั้นเข้ามาใช้เฟซบุ๊ก เขาก็เพียงแค่อยากจะรู้สึกเป็นคนเด่น คนดัง คนสำคัญบ้าง จึงต้องสร้างภาพตนเองให้ดูดีในพื้นที่สาธารณะสักเล็กน้อย เพื่อหลอกตัวเองหรือผู้อื่น

3. มองโลกในแง่ร้าย

เฟซบุ๊คเป็นที่ที่คนชอบโพสต์เรื่องส่วนตัวดีๆ ขณะที่เรื่องส่วนรวมของสังคมมักเป็นเรื่องร้ายๆ ดังนั้นคนที่เสพข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จึงมักเห็นเรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ถูกหยิบขยายความ ตีความ ส่งต่อแพร่หลายกระจายวงกว้าง พวกเขาจึงรู้สึกว่า “โลกช่างโหดร้าย” และมีลักษณะไม่ไว้วางใจผู้คนเรื่องต่างๆ มากขึ้น

4. ชอบสอดส่องสอดรู้ชีวิตคนอื่นๆ

การสอดส่อง ติดตาม (stalker) หรือการเข้าไปก้าวล่วงชีวิตของผู้อื่น นั่นแสดงว่าคุณมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนัก เพราะคุณเริ่มแยกไม่ออกระหว่าง พื้นที่สาธารณะ และความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และนั่นอาจทำให้คุณรู้สึก “ย่ามใจและมีอำนาจเหนือชีวิตของผู้อื่น” และก้าวไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในโลกจริงกับเขาที่คุณชื่นชอบ

5. เปิดเผยตัวเองมากขึ้น - กันเองมากขึ้น

ผู้คนในเฟซบุ๊กใช้ถ้อยคำภาษาที่กันเองมากขึ้น พวกเขาไม่รู้สึกแปลกที่จะบอกเล่าเรื่องราวความคิดความรู้สึกของตนเองกับคนแปลกหน้า และนั่นนำมาสู่ การเปิดรับ รู้จักคนแปลกหน้ามากขึ้น และกับดักของอาชญากรในเฟซบุ๊กที่พวกเขามักใช้ คือ ถ้อยคำที่สุภาพ ท่าทางที่ดูคบได้ ไว้ใจได้ และการสร้างความไว้วางใจที่มาจากบทสนทนาที่ดูเป็นกันเอง

6. จมทุกข์แบกโลกซึมเศร้า

มีหลายคนที่ไม่มีความสุขในชีวิตจริง พวกเขาจึงแบกโลกที่พวกเขาอยู่มาสถิตไว้ในเฟซบุ๊ก กลายเป็นแหล่งระบายอารมณ์ จมทุกข์ โศกเศร้ามากขึ้น การระบายอารมณ์ หรือแสดงความรู้สึกผิดหวังเสียใจนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คุณอาจพบว่ามีเพื่อนบางคนมักจะอยู่ในอารมณ์เศร้าตลอดเวลา นั่นแสดงว่าเขาไม่สามารถหลุดพ้นก้าวข้ามสภาวะนั้นได้ และจะกลายเป็นคนที่มีภาวะซึมเศร้าแบบออนไลน์ตลอดเวลา และคนอื่นๆ ก็จะพากันเบื่อหน่ายหรือรังเกียจพวกเขา แทนที่จะเข้าใจและช่วยรักษาพวกเขา

7. หลงใหลยึดติดแบบอย่างชีวิตของผู้อื่น

คนที่หลงใหลในชีวิตผู้อื่นจะสูญเสียความภูมิใจในตนเองมากไปกว่านั้น คือเฝ้ารอเฝ้าคอยที่จะติดต่อติดตามสื่อสารกับผู้อื่น เขาจะไม่สนใจชีวิตของตนเองอีกต่อไป ร้ายกว่านั้นคือ เขาอนุญาตให้ชีวิตคนอื่นเข้ามาควบคุมบงการชีวิตของเขาเอง ร้ายที่สุด คือ สับสนในโลกจริง โลกเสมือน และไปใช้ชีวิตของตนเองในชีวิตเฟซบุ๊คของคนอื่น!

เฟซบุ๊กนั้น มิใช่เชื้อโรคหรือไวรัส แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่บ่มเพาะ ผลิต และเผยแพร่โรคอันเกิดมาจากผู้คนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมเสมือนจริง ผู้คนต่างๆ เข้ามาเสพติดมันและเปลี่ยนนิสัยตนเอง หรือย้ำสร้างนิสัยเดิมตนเองให้มีความรุนแรงมากขึ้น

ที่มา- บทความ 7 นิสัยอันตรายในเฟซบุ๊ก โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ


กำลังโหลดความคิดเห็น