xs
xsm
sm
md
lg

พบโลโก้ชนะเลิศ “ทีวีรัฐสภา” ถูกเปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีแดง นักวิชาการชี้ส่อไม่อิสระทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปรียบเทียบโลโก้โทรทัศน์รัฐสภาของผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ (ซ้าย) กับโลโก้สีแดงที่นำมาใช้ในวันนี้ (ขวา)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พบต้นตอโลโก้ทีวีรัฐสภา มาจากการประกวดตราสัญลักษณ์ของผู้ชนะเลิศเมื่อเดือน ก.ค.เป็นรูปวัตถุเรียงกันเป็นพานแว่นฟ้า แต่ถูกดัดแปลงเปลี่ยนสีจาก “สีฟ้า” เป็น “สีแดง” นักวิชาการชี้คนทำไม่รอบคอบ ผู้ชมคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองกลุ่มก้อนเดียว หวั่นถูกมองไม่เป็นอิสระทางการเมือง



จากกรณีที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำสถานี จากเดิมเป็นสัญลักษณ์รูปพานสีเหลือง พร้อมอักษรภาษาอังกฤษตัว P สีแดง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ ได้เปลี่ยนมาใช้สีแดง ซึ่ง นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา อ้างว่าเป็น “สีแดงมารูน” ซึ่งเป็นสีประจำสำนักงานเลขาธิการสภา ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้สืบหาต้นตอของโลโก้ดังกล่าว พบว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ก.ค.สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ได้ตัดสินการประกวดโลโก้สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ซึ่งมีผลงานที่ส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 394 ผลงาน พบว่าผลงานของ นายเอกชัย จริงใจ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยรับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณจากประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ โลโก้ที่นายเอกชัยส่งเข้าประกวดเป็นรูปวัตถุเรียงกันเป็นพานแว่นฟ้าสีฟ้า มีรูปดาว 7 แฉกตรงกลาง โดยนายเอกชัยอธิบายว่า มีแนวคิดการสร้างสรรค์มาจากการผสมผสานรูปแบบต่างๆ พัฒนาตัดทอนให้ดูทันสมัยขึ้น โดยที่ไม่ต้องการเค้าโครงและรูปแบบหลัก คือ พานแว่นฟ้า อย่างไรก็ตาม ในภายหลังสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ได้ดัดแปลงโลโก้โดยปรับช่องไฟของแท่งที่ประกอบเป็นพานแว่นฟ้าให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น พร้อมเปลี่ยนสีจากสีฟ้าเป็นสีแดงล้วน และตัดดาวเจ็ดแฉกบริเวณตรงกลางของสัญลักษณ์ออกไป

ด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ กล่าวแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การออกแบบทางศิลปะนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก สำหรับนักออกแบบกราฟิก โลโก้ ตราสัญลักษณ์สินค้า หน่วยงาน องค์กร คงเข้าใจว่า ทุกสี ทุกเส้นสาย ทุกลาย ทุกตัวอักษร ล้วนเป็นองค์ประกอบศิลป์ที่มีส่วนต่อการออกแบบ ภาพลักษณ์และตัวตนของหน่วยงาน องค์กรนั้นๆ ความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ล้วนถูกกำหนดความหมายโดยเจ้าขององค์กร และผู้เห็นตราสารนั้นต้องถอดรหัสได้ตรงกับที่ผู้ออกแบบ และเจ้าของต้องการ การออกแบบโลโก้นั้น สำคัญมาก เพราะโลโก้หน่วยงานสะท้อนภาพลักษณ์ความหมายขององค์กรที่จะต้องสื่อสารกับผู้พบเห็น หลายๆ โลโก้นั้น มีมูลค่ามหาศาล เพราะมันหมายถึงแบรนด์อิมเมจ

ปกติโลโก้ตราสัญลักษณ์สถานีโทรทัศน์นั้น จะใช้สีเดียว หรือหลายสี ก็มีปรากฎให้เห็นอยู่เนืองๆ แต่โดยมาก พื้นฐานการออกแบบโลโก้โทรทัศน์ จะใช้สีแดง เขียว น้ำเงิน เช่น โลโก้ช่อง 3, 5, 7 แต่ที่ใช้โทนสีเด่นสีเดียว ก็เช่น สีส้ม ของไทยพีบีเอส หรือสีม่วงเข้ม ของโมเดิร์นไน์ทีวี หรือสีม่วง ของเอ็นบีที หรือสีแดงดำ ของเอเอสทีวี สีเทาขาว ของสปริงนิวส์ ที่สวย เช่น ใช้หลายๆ สีในแบบของวอยซ์ทีวี ซึ่งมีสีครบทุกสี หรือช่องทีวีอย่างซีเอ็นเอ็น ซีซีทีวี ก็ใช้โทนสีแดงหรือดำในการสร้างโลโก้ ว่าที่จริง การใช้สีเดียว หรือหลายสีนั้น ก็ไม่ค่อยเป็นประเด็นเท่าไรนัก เพราะขึ้นอยู่กับรูปแบบขององค์กรนั้นๆ ต่างหาก

ทั้งนี้ การที่สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เปลี่ยนโลโก้จากเดิมที่เป็นรูปพานสีทองเหลือง และมีตัว P สีแดง มาเป็นรูปพานเฉยๆ เป็นขีดแดงๆ สี่ขีด นั้น ต้องบอกว่า ก็สวยดี เพราะดูโฉมใหม่ โฉบเฉี่ยว ว่าแต่เหตุผลของการเปลี่ยนคืออะไร เบื่ออันเดิม เปลี่ยนอันใหม่ เพราะอะไร เหตุผลเชิงสัญลักษณ์คืออะไร เหตุผลเชิงการเปลี่ยนแปลงคืออะไร เพราะการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์องค์กร โดยปกติทั่วไปในทฤษฎีสื่อสารมวลชน นั่นหมายถึงองค์กรมีความเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น คณะผู้บริหาร วัฒนธรรม ระบบคิดขององค์กร หรือบางองค์กร ต้องการนำองค์กรไปสู่ตลาด หรือระบบสังคมอีกแบบ อีกสมัย

“วิทยุรัฐสภา ถือว่ามิใช่กิจการส่วนตัวของรัฐบาล แต่เป็นองค์การของรัฐ ในที่นี้คือตัวแทนความหมายเชิงสัญลักษณ์ของรัฐสภาไทย ว่าที่จริง จะใช้สีขาว แดง น้ำเงิน ก็อาจจะดูน่ารักน่าชม และชวนคิดชวนชมมากกว่าด้วยซ้ำไป แต่การนำสัญลักษณ์รูปพานแว่นฟ้า โดยใช้สีแดงแต่เพียงอย่างเดียว มันก็ทำให้ผู้ชม ผู้คน อดคิดไปไม่ได้ว่า นี่เป็นการแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มก้อนเดียวเท่านั้น” นายธาม กล่าว

นายธาม กล่าวต่อว่า รัฐสภาใช้สีแดง โดยอ้างว่าเป็นสีแดงมารูน เป็นสีเชิงสัญลักษณ์ ของเป็นสีประจำสำนักงานเลขาธิการสภา เป็นเหตุผลที่ใช้ได้ แต่ใช้ด้อยมากเมื่อต้องตอบคำถามคนส่วนมากว่า ทำไมไม่ใช้สีเดิม หรือสีแทนสัญลักษณ์ประเทศไทย ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นที่ไม่ระมัดระวังอย่างรอบรู้ ต่อความอ่อนไหวทางการเมืองเรื่องสี และนั่นยิ่งทำให้ฝ่ายจับจ้องมอง สามารถใช้ประเด็นนี้มากล่าวหาในสิ่งที่หวังคิดอยู่แล้วว่า รัฐสภาไม่ดำรงอย่างอิสระทางการเมือง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันทางการเมือง ก็เป็นเช่นนั้นอยู่ เช่นนั้นแล้ว เรื่องนี้จะนำสู่อะไรต่อไป

“แน่นอนว่า ฝ่ายสีการเมืองต่างๆ ย่อมเอามาเป็นประเด็นขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ตนเห็นว่าคนคิด คนทำ คนออกแบบ คนเปลี่ยน คนอนุญาต ไม่คิดรอบคอบ เท่าใดนักในเรื่องนี้ พลอยอาจจะเป็นคนหัวการเมืองเลือกข้างเลือกสีเลือกเอาใจเอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่งแล้วด้วยซ้ำไป ความไม่คิดรอบคอบนี้ ยังสะท้อนความคิดลึกๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เช่นเดียวกัน เป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ใครต่อใคร ก็มีสิทธิที่จะถอดรหัสความหมายซ่อนเร้นได้ไม่ยากนัก” นายธาม กล่าว


โลโก้สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
เปรียบเทียบโลโก้เก่า (ซ้าย) และโลโก้ใหม่ (ขวา) ของทีวีรัฐสภา
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เป็นประธานในพิธี เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำสถานี พร้อมมอบรางวัลการออกแบบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวด ช่วงเช้าวันนี้ (12 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น