เมื่อไม่นานนี้ มีข่าวฮือฮาชิ้นหนึ่งในประเทศจีนเกี่ยวกับเรื่อง “ตู้ทิ้งเด็ก” ที่เพิ่งเปิดใช้ได้ไม่กี่เดือนในมณฑลกวางโจว ก็ต้องถูกประกาศปิด เนื่องจากทางการจีนพบมีทารกถูกนำมาทิ้งมากกว่า 260 คน นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา 6 สัปดาห์ หรือเฉลี่ยมีเด็กถูกทิ้งวันละ 5 คน จนสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของเมืองไม่สามารถรองรับเด็กเพิ่มได้แล้ว
นโยบาย “ตู้ทิ้งเด็ก” ของทางการจีนได้เปิดใช้งานเป็นครั้งแรกที่เมืองซื่อเจียจวง มณฑลเหอเป่ย เมื่อปี 2554 จนถึงปัจจุบันนี้ จีนมีตู้ทิ้งเด็กแล้วทั้งหมด 25 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ขั้นตอนหลังจากแม่ที่ท้องไม่พร้อมหรือเมื่อคลอดออกมาแล้วไม่ต้องการเลี้ยงดู ก็จะนำไปไว้ที่ตู้ทิ้งเด็ก ภายในตู้ทิ้งเด็กจะมีตัวกดส่งสัญญาณที่จะให้สัญญาณเตือนหลังกดปุ่มไปแล้ว 5-10 นาที จากนั้นทารกจะถูกรับตัวไปเลี้ยงดูโดยหน่วยงาน สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า หรือเข้าสู่กระบวนการรอรับการอุปถัมภ์ต่อไป
แม้จะเป็นการโหดร้ายสำหรับเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีทางได้รู้จักพ่อแม่ที่แท้จริงของตนเลย แต่นโยบาย “ตู้ทิ้งเด็ก” มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ทารกที่ถูกพ่อแม่ไม่ต้องการเลี้ยงดู เพราะจีนนับเป็นประเทศที่มีสถิติทารกถูกทอดทิ้งสูงที่สุด มีการคาดการณ์กันว่าในแต่ละปี จีนมีทารกที่ถูกทอดทิ้งถึง 10,000 ราย ทั้งที่การทอดทิ้งทารกในจีนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ยังพบว่ามีทารกถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก บ้างก็วางไว้ข้างถนน หรือตามพงหญ้า ทำให้ทารกที่ถูกทิ้ง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รอดชีวิต
จริงๆ แล้วเรื่อง ตู้ทิ้งเด็ก ถูกนำมาใช้นานแล้วในประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมนี โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แอฟริกาใต้ รวมถึงบางประเทศในเอเชีย อย่างเช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ
หันมามองบ้านเราที่กำลังประสบปัญหาคุณแม่วัยใส หรือปัญหาแม่ท้องก่อนวัยอันควรเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ ตัวเลขอัตราการคลอดของแม่วัยใส อยู่ที่ 54 คนต่อการคลอด 1,000 คน สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีแนวโน้มที่ตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้น
แม้จะมีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนปัญหาก็ไม่ได้ลดลง
ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งทบทวนแล้วว่านโยบายต่างๆ เดินมาถูกทางหรือเปล่า !!
อย่างไรก็ตาม คนเป็นพ่อแม่ก็ไม่ควรรอนโยบายจากภาครัฐ เพราะสิ่งสำคัญต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวก่อน เริ่มจากพ่อแม่ที่ต้องพูดคุยและปลูกฝังเรื่องความเข้าใจเรื่องเพศตั้งแต่เล็ก
พ่อแม่ควรเป็นคนที่ลูกไว้วางใจในทุกเรื่อง นั่นหมายรวมถึงเรื่องการพูดคุยเรื่องเพศสัมพันธ์ด้วย ถ้าพ่อแม่พูดคุยกับลูกทุกเรื่อง และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ส่วนใหญ่ลูกก็กล้าที่จะพูดหรือถามพ่อแม่ และเมื่อลูกถามแล้วได้รับคำตอบหรือคลายข้อสงสัย เมื่อเกิดข้อสงสัย เขาก็พร้อมที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ในเรื่องอื่นๆ ด้วย
4 ข้อคิดในการคุยเรื่องเพศกับลูก
หนึ่ง เข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นก็ต้องเข้าใจด้วยว่าลูกเริ่มสนใจเพศตรงข้าม พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วย เพราะลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
สอง พูดคุยแบบเพื่อน ไม่ใช่จ้องจะสอนหรือจ้องจับผิด อาจจะเริ่มบทสนทนาชวนคุยเรื่องเพื่อนของลูก หรือสอบถามเรื่องเพศตรงข้าม ควรจะเป็นการถามหรือพูดคุยแบบปกติ ไม่ใช่แสดงพิรุธอยากรู้อยากเห็น เพราะลูกจะรู้สึกอึดอัดและไม่อยากเล่าให้ฟัง
สาม สอดแทรกความรู้ ขอเน้นว่าอย่าจ้องจะสอน ควรจะมีเทคนิคการให้ข้อมูล อาจจะยกตัวอย่างประสบการณ์ หรือมีกรณีข่าวสารข้อมูล แล้วลองสอบถามลูกว่ามีความคิดเห็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยสอดแทรกข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง การรู้จักความปลอดภัยที่เหมาะสม
สี่ รับฟังอย่างตั้งใจทุกเรื่องราว เพราะบางสถานการณ์ ลูกอาจจะอยากปรึกษาพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจหรือสนใจรับฟัง หรือไม่มีเวลารับฟัง เขาก็จะไม่อยากเล่าให้ฟัง และจะมองว่าพ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญของเขา สุดท้ายเขาก็จะเลือกเพื่อนในการปรึกษา
พ่อแม่ต้องพยายามสลายช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งพ่อแม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติภายในครอบครัวให้ได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะไปป้องกันที่สาเหตุ เขาจะได้เรียนรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกวิธี
เราคงไม่อยากเห็นนโยบายตู้ทิ้งเด็กในเมืองไทย มิใช่หรือ !!