“หายนะ” และ “พิสดาร” คือคำจำกัดความที่ผู้ปกครองจำนวนมากร่วมกันเข้ามาตราหน้าเอาไว้ เกี่ยวกับแบบเรียนในเครือ “โรงเรียนสารสาสน์” ที่สอนวิธีการผสมคำแบบแปลกๆ ให้เด็กๆ เรียน จนทำเอาเยาวชนของชาติจำนวนไม่น้อย อ่านหนังสือไม่แตกกันเป็นแถว และย่อหน้าต่อจากนี้ คือตัวอย่างความ “พิสดาร” ที่น่าจะสร้าง “หายนะ” อย่างเงียบๆ มานานแล้วในวงการการศึกษา แต่เพิ่งมาระเบิดเวลาครั้งใหญ่ในวินาทีนี้เอง...
คำว่า “จำ” ไม่ได้อ่านว่า “จอ+อำ=จำ” แต่อ่านว่า “จอ+อำ+อา=จำ”
คำว่า “มือ” ไม่ได้อ่านว่า “มอ+อือ=มือ” แต่อ่านว่า “มอ+อือ+ออ=มือ”
และ คำว่า “เสื่อ” ไม่ได้อ่านว่า “สอ+เอือ+เสือ+ไม้เอก=เสื่อ” แต่อ่านว่า “เอ+สอ+อือ+ไม้เอก+ออ=เสื่อ”
พูดง่ายๆ คือไม่ได้เน้นให้อ่านเพื่อให้เด็กจดจำการออกเสียงที่ถูกต้อง แต่ให้อ่านเพื่อให้เขียนถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เน้นให้เด็กจดจำตำแหน่งของพยัญชนะ-สระ-วรรณยุกต์-ตัวสะกด จนออกมาเป็นวิธีการสอนแปลกแหวกแนวอย่างที่เห็น ส่งให้ผู้ปกครองหลายท่านทนดูต่อไปไม่ไหว พูดเป็นเสียงเดียวว่า แบบเรียนนี้ต้องยุติ!!!
แบบเรียนนี้ต้องถึง คสช.!!
“สารสาสน์ สอนภาษาไทยลูกผมจนทุกวันนี้สะกดผิดไปหมดเลย ไปเรียนพิเศษร่วมกับเด็กโรงเรียนอื่นเเล้ว ไม่สามารถเข้ากันได้ เพราะสอนให้จำมาแบบผิดๆ ส่วนภาษาอังกฤษก็ได้การออกเสียงผิดๆ มาจากครูฟิลิปปินส์เกือบทั้งโรงเรียน เซ็งมาก จากผู้ปกครองที่เบื่อสารสาสน์”
“ลูกเคยเรียนที่โรงเรียนนี้ ได้เกรด 4 ทุกวิชา แต่ขอโทษนะคะ เกรด 4 ทั้งห้องค่ะ ตอนสอบครูมีการบอกข้อสอบเลยว่าตอบข้อไหน เหตุผลเพราะถ้าสอนเด็กแล้วไม่ได้เกรด 4 ครูจะโดน อันนี้เรื่องจริง พาลูกไปสอบเข้าที่อื่น โรงเรียนเอกชนเหมือนกัน ทดสอบคณิตศาสตร์ลูกได้ 2 คะแนนเต็ม 10 และอ่านภาษาไทยไม่ได้ (สอบเข้า ป.3) เพลียจริงๆ ค่ะ”
“เพิ่งบ่นกับแฟนเมื่อคืนว่า ไม่สามารถสอนลูกได้เพราะงง เหมือนคุยกับลูกแล้วไม่เข้าใจ พอเราสอนลูกตามที่เราเรียนมา ลูกบอกไม่ใช่ มันต้องอย่างงี้แม่ พอเห็นลูกเขียนออกมา แค่นั้นแหละ งงมากค่ะ ปิดไฟนอนเพราะตูคงสอนลูกไม่ได้”
“การสอนสะกดภาษาไทยแบบบ้าๆ นี้ ที่โรงเรียนรัฐบาลต่างจังหวัดมีมาตั้ง 20 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี แล้วก็ไม่ใช่มีแต่โรงเรียนเอกชน เพราะตั้งแต่หลานเริ่มเรียนอนุบาล จนตอนนี้หลานจะจบมหาวิทยาลัยแล้ว ดีที่ว่าก่อนหลานเข้าเรียน ที่บ้านสอนเองแบบเก่า หลานอ่านหนังสือได้นิทานได้ตั้งแต่เตรียมอนุบาล แต่เพื่อนรุ่นเดียวกันที่เข้าไปเรียน สะกดไม่เป็นเลย... มิน่าคนรุ่นใหม่เขียน "เดี๋ยว" ไม่เป็นแล้ว”
“นี่ไม่ใช่การสอนระบบใหม่นะคะ การสอนแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เกิดมานานแล้วหลายสิบปี เจอเองกับตัวตั้งแต่เด็กสมัยอยู่ประถมเรียนโรงเรียนคริสต์-หนังสือดรุณศึกษา”
“เครือโรงเรียนสารสาสน์ สอนแบบนี้หมดเลยครับ ชี้เป้า”
“ขอบอกเลย การสอนเด็กอ่านแบบนี้ เด็กจะมีปัญหาการสะกดและต่อยอดไม่ได้ เจอมาเองในครอบครัวเลย หลาน-เหลน มีปัญหาในการอ่านการสะกดจนน่าตกใจ เมื่อเรามาดูหลักสูตรก็...มิน่าล่ะ ต้องให้หลาน-เหลนไปเรียนพิเศษกับคุณครูโบราณถึงพอเริ่มอ่านได้ แต่ก็งงเพราะมันต่างกัน แต่ตอนนี้คิดว่าจะให้เขาออกจากโรงเรียนห่วยแตกที่ไม่เข้าใจภาษาไทยนี้แล้ว ใครวะมันมาเขียนหลักสูตรนี้ อยากรู้นัก ขอดูหน้าหน่อยซิ ใครรู้บ้างช่วยโชว์หน้าด้วย
อีกหน่อยลูกหลานไทยจะต้องเป็นขี้ข้าคนต่างด้าว-ชาวต่างชาติแน่ๆ เพราะภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เก่ง ภาษาไทยก็ห่วยแตก ไม่ต้องไปพูดถึงวิชาอื่นๆ ที่จะไปสู้ใคร เพราะการศึกษาของประเทศตกต่ำอย่างมาก กระทรวงศึกษาทำอะไรกันอยู่ การสอนแบบนี้คือการทำลายภาษาไทยและลูกหลานไทยให้กลายเป็นคนต่างด้าว-ต่างภาษาโดยไม่รู้ตัว โรงเรียนที่สอนแบบนี้มัน...”
“การสอนวิธีนี้ตั้งใจจะทำให้เด็กเขียนได้ แต่เขียนได้ด้วยการท่องจำแบบไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่สามารถจะแก้โจทย์ใหม่หรืออ่านคำใหม่ได้ นี่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และก็ไม่เคยเห็นคนที่เรียนด้วยวิธีการแบบที่ควรเป็นมีปัญหาในการเขียนหรือสะกดคำเลย เคยคุยกับคุณครูคนหนึ่ง เขาบอกว่าโรงเรียนที่ใช้การสอนแนวอัสสัมฯ จะสอนการอ่านภาษาไทยแบบนี้ โรงเรียนที่กล่าวขวัญถึง ก็เป็นที่กล่าวขวัญมานานแล้วนะ บางครั้งคนที่แสดงความเห็นก็โดนต่อว่า แต่ผู้ปกครองที่เอาใส่ใจ-ดูแลลูกจริงๆ คงเข้าใจ”
“คุณปลูกฝังอะไรให้กับเด็กๆ กัน ตอนคิดหลักสูตร ตอนสอน ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกันบ้างเหรอคะ ภาษาไทยของเราที่เป็นมา เป็นสิ่งที่ดีแล้วค่ะ อย่าพยายามเล่นพิเรนทร์ไปดัดแปลงอะไรมันเลย นี่มันดูน่าเกลียดมาก อย่างที่บอกไว้เลยว่าคือหายนะของภาษาไทย และผู้คิดหลักสูตร ผู้สอน คุณเองก็เป็นหายนะทางการศึกษานะคะ แล้วนี่จะปรับปรุงกันหรือเปล่า มีหน่วยงานไหนที่จะเข้าไปแก้ปัญหาบ้างไหม เกินเยียวยาแล้วจริงๆ”
“กระทรวงศึกษาธิการจะรับผิดชอบหรือไม่คะ พวกครูเห็นแก่ตัว”
“ฝากเคลียร์ปัญหานี้ด้วยครับ คสช. มีโรงเรียนในหาดใหญ่สอนแบบนี้ด้วย ปวดหัวมากครับ”
“คสช. สมควรคืนความสุขให้กับหลักสูตรภาษาไทย โดยการเข้าไปยกเลิกหลักสูตรที่สอนแบบนี้ทั้งหมด!!”
พยายามแก้ไข ใช่ว่าจะสร้างสรรค์
แน่นอนว่าผู้คิดค้นหลักสูตรหรือแม้แต่ครูผู้สอน ย่อมอยากช่วยประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ให้ได้รับสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด จึงทำให้เกิดแบบเรียนเช่นนี้ขึ้นมา แต่อย่าลืมว่าแม้จะหวังดีเพียงใด แต่ถ้าผลของมันรังแต่จะทำให้ “ก่อปัญหา” มากกว่า “แก้ปัญหา” ก็น่าจะถึงเวลาที่ต้องยอมถอย รื้อแบบเรียนที่สร้างความสับสนต่อหลักภาษา และหันกลับมามองที่ตัวเด็กเป็นหลักจะดีกว่า แล้วจะรู้ว่าควรสอนพวกเขาแบบไหนให้ อ่านออก-เขียนได้ อย่างแท้จริง และบรรทัดต่อจากนี้คือ Top Comment จากข่าวเรื่อง “หายนะภาษาไทย? ผู้ปกครองเพลีย โรงเรียนสอนอะไรให้ลูก!!” ซึ่งมีผู้อ่านกดโหวตเห็นด้วยมากที่สุด
“ความผิดพลาดของการสอนแบบนี้ อยู่ตรงไหน?
สอนให้สะกดคำแบบภาษาอังกฤษ สร้างจินตภาพเสมือนว่า กำลังเขียนหนังสือจากซ้ายไปขวา เช่น คำว่า Boy เขียนจากซ้ายไปขวา ซึ่งจะเป็นแบบนี้เสมอสำหรับการเขียนในภาษาอังกฤษ
แต่สำหรับภาษาไทยที่สอนกันมาแต่เดิมนั้น ให้ความสำคัญกับการออกเสียงก่อน กล่าวคือ การนำเอาพยัญชนะไปใส่ในสระ เพื่อให้ทราบว่า คำที่กำลังสะกดอยู่นั้น จะออกเสียงอย่างไร ซึ่งการออกเสียงนี้ จะถูกกำกับด้วยวรรณยุกต์เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสะกดคำ เช่น
ช่าง อ่านว่า ชอ-อา-งอ-ชาง-ไม้เอก = ช่าง
ยุ่ง อ่านว่า ยอ-อุ-งอ-ยุง-ไม้เอก = ยุ่ง
เดิน อ่านว่า ดอ-เออ-นอ = เดิน (ไม่อ่านว่า ดอ-เออ-อิ-นอ = เดิน)
การออกเสียงคำในภาษาไทยจึงเริ่มจากพยัญชนะ สระ ตัวสะกด และวรรณยุกต์ ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า ในภาษาไทย ซึ่งมีทั้งสระและวรรณยุกต์ที่ไม่ได้อยู่ระนาบเดียวกับพยัญชนะ ซึ่งในการเขียน ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการสะกดคำ เพราะถือเอาการออกเสียงของคำคำนั้น เป็นหลัก
นี่คือความต่างของภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ กล่าวคือการเขียนและการอ่านไปในทิศทางเดียวกัน การออกเสียงในภาษาอังกฤษเป็นไปตามตัวอักษรที่ลำดับจากซ้ายไปขวาเสมอ ซึ่งไม่ใช่ระบบของภาษาไทยที่คำบางคำจะเขียนสระขึ้นต้นก่อน แล้วตามด้วยพยัญชนะ
ดังนั้น การสอนสะกดคำแบบใหม่นี้ จึงสร้างความสับสนให้กับเด็ก เพราะการเขียนและการออกเสียงไม่สัมพันธ์กัน เด็กจะไม่รู้ว่า กำลังใช้สระอะไรในการสะกดคำ เช่น คำว่า เดิน เป็น “สระเออ” แต่หากอ่านว่า “เอ-ดอ-อิ-นอ” จะเข้าใจว่าเป็นสระอะไร
บางครั้ง การคิดอะไรใหม่ๆ ก็ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์เสมอไป...ตรองดู”
แบบเรียนภาคพิสดารที่ถูกต่อต้านในขณะนี้!!
สอดคล้องกับความคิดเห็นจาก ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตฯ สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนที่ซับซ้อนใดๆ ทั้งนั้น แต่อยากให้เน้นไปที่การให้เด็กอ่านออกเสียงให้ถูกต้องเป็นหลักก่อน แล้วทุกอย่างจะตามมาอย่างถูกต้องเอง
“จะสอนวิธีไหนไม่ใช่สิ่งสำคัญ ถ้าเกิดเราเขียน สระเอ+ก ไก่ แล้วเขาอ่านออกว่า “เก” ก็พอแล้ว อันนั้นคือผลที่เราต้องการ สุดท้ายแล้ว เด็กจะเรียนมาแบบไหน ได้ผลมั้ย มันอยู่ที่เทคนิคการสอนของอาจารย์น่ะค่ะ ไม่เป็นไรเลย ครูชอบไปทำปัญหาว่าจะต้องสอนแบบนั้นก่อน แบบนี้หลัง จะเขียนคำว่า “เกิด” ก็ต้องให้สะกดว่า “เอ-กอ-อิ-ดอ” หรืออะไรก็แล้วแต่
คือเราไปพะวังกับเรื่องที่ไม่ควรจะพะวัง จริงๆ แล้วแค่ให้เด็กผสมตัวได้ถูกต้อง อ่านออกมาได้ เขียนถูกต้อง เท่านั้นก็พอแล้วค่ะ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าครูจะชอบไปทำปัญหาให้มันเกิดขึ้นทำไมว่าจะวางตัวไหนก่อน-ตัวไหนหลังซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเรื่องใหญ่คือเขียนเป็นคำแล้วอ่านออกมั้ย ถ้าเขาอ่านออกก็โอเคแล้ว
ไม่รู้จะพูดยังไง เหมือนมาทำให้สิ่งที่ไม่เป็นปัญหา มาทำให้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ กลับไม่จัดการ สำคัญก็คือเด็กของเราจะอ่านหนังสือออกมั้ยต่างหากค่ะ และอ่านแล้วรู้เรื่องมั้ย เข้าใจใจความมั้ย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าอีก แต่กลับไม่สนใจ ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่านี่ไม่ทำอะไรกันก็ไม่ทราบ
คือจะสอนวิธีแบบไหนก็ได้ค่ะ แต่ที่สำคัญคืออย่าเอาปัญหาตรงนั้นไปถามเด็ก เพราะมันไม่ยุติธรรมกับเด็ก เวลาเขาต้องเจอโรงเรียนหนึ่งสอนอย่าง อีกโรงเรียนหนึ่งสอนอีกอย่าง อย่างรุ่นดิฉันเอง ครูเขาสอนมายังไงก็อย่างนั้นน่ะค่ะ เราก็เอามาใช้ได้เลย แต่สมัยนี้ วิธีการมันมากเกินไป จนไม่สนใจเนื้อหาใจความสำคัญกัน แทนที่จะสนใจเนื้อๆ สาระจริงๆ ว่าเป้าหมายจริงๆ คืออะไร แต่นี่ไปสนใจแต่วิธีการ เทคนิคอะไรก็ไม่รู้ มันไม่ถูก”
เจอแบบเรียนพิสดาร สะเทือนวงการการศึกษาขนาดนี้ ทัพผู้ปกครองคงไม่หยุดโวยกันง่ายๆ ที่เหลือก็คือ รอดูว่าเสียงโวยเหล่านี้จะดังไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้รับผิดชอบหลักสูตร-แบบเรียน หรือแม้แต่ คสช. อย่างที่หวังกันไว้บ้างหรือเปล่า!?!
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- หายนะภาษาไทย? ผู้ปกครองเพลีย โรงเรียนสอนอะไรให้ลูก!!