จะเกิดอะไรขึ้น... ถ้าลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าไม่มี “ต้มยำกุ้ง” “ส้มตำปูเค็ม” “ครีมหอยทาก” ฯลฯ ของที่เคยใช้ สิ่งมีชีวิตที่เคยเห็นหายไปหมด!?!
เมื่อ กุ้ง-หอย-ปู เหลือแค่ในพิพิธภัณฑ์!
“ผมไม่ได้พยากรณ์เองนะ แต่ทางยุโรปเขาพูด มีเวทีหนึ่งในยุโรปเคยพูดว่า ถ้าเราใช้สิ่งมีชีวิตทั้งหมด ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งเรื่องพืชเรื่องสัตว์ ต่อไปอีก 40 กว่าปีข้างหน้า หรืออย่างน้อยปี 2060 จะไม่มีกุ้ง, หอย, ปู บางชนิด สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแค่เรื่องเล่า ลูกหลานเราอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้วถ้าเราไม่ดูแล สิ่งมีชีวิตบางอย่างมันจะหายไปจากโลกเลย แต่เขาไม่ได้ระบุเจาะจงนะว่าตัวไหน-พันธุ์ไหน แต่คำนวณจากแนวโน้มปัจจุบัน บอกเลยว่าจะไม่มีแล้ว
อย่างตอนนี้ ที่บราซิล สิ่งมีชีวิตบางอย่างก็หายไป ผึ้งบางชนิดมีการย้ายถิ่นฐาน บางตัวที่เคยอยู่บราซิล ไม่พบแล้ว พบแต่ที่อาร์เจนตินา สมดุลมันเปลี่ยนไปหมด อันนี้แค่ยกตัวอย่างนะครับ แต่ในประเทศไทยน่าจะยังไม่มีการศึกษาว่าอะไรหายไปแล้วบ้าง” วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ Biodiversity-Based Economy Development Office (BEDO) เผยวิกฤตที่กำลังคืบคลานเข้ามาเอาไว้ให้ขนลุกเล่นๆ เพื่อให้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ทาง UN (United Nation) จำต้องกำหนดรายละเอียดเอาไว้ในอนุสนธิสัญญาระหว่างประเทศ “CBD” บอกเอาไว้ข้อหนึ่งเลยว่าบุคคล, องค์กรธุรกิจ, หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐใดก็ตาม ถ้ามีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้สิ่งมีชีวิตไปทำอาหารหรือเอาไปประกอบธุรกิจ ต้องบอกวิธีการดูแลอนุรักษ์ที่ตามมาด้วย ไม่เช่นนั้น จะไม่อนุญาตให้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นซึ่งเป็นสินของแผ่นดินและโลกใบนี้ ซึ่งคาดว่าแนวความคิดนี้จะต้องปฏิบัติโดยเสมอภาคกันทั่วทุกประเทศที่เป็นสมาชิก UN ภายในปี ค.ศ.2020
สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังจะกลายเป็นวิกฤตไปทั่วทั้งโลก และอีกหนึ่งวิธีที่จะคืนสมดุลให้กลับคืนมาได้ก็คือการเข้าไปฟื้นฟูถึงต้นกำเนิดชีวิต ซึ่ง “ป่าชายเลน” คือแหล่งธรรมชาติที่ถือเป็นต้นกำเนิดของทั้งพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ เป็นแหล่งธรรมชาติแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งที่ช่วยรักษาสมดุลของโลกใบนี้มาจนถึงทุกวันนี้ จึงทำให้ทาง “บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน)” หรือ “CPF” ซึ่งถือเป็นบริษัทอุตสาหกกรรมการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ของประเทศ ลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์ใหญ่เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนกันอย่างจริงจัง
สถานการณ์ป่าชายเลนขณะนี้
“ในเบื้องต้น ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 5 จังหวัดครับ คือ สมุทรสาคร, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, พังงา และระยอง โดยในปี 2557 จะทำในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ ชุมพร สมุทรสาคร และระยอง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,100 ไร่ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีการศึกษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ก่อนนำไปสู่การจัดการที่เหมาะสม ซึ่งจะเน้นการอนุรักษ์ ดูแลรักษาพื้นที่ป่าชายเลน ขณะเดียวกันก็เร่งฟื้นฟูและปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ โดยใช้ชื่อยุทธศาสตร์ว่า “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ครับ” วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) ช่วยอธิบาย
ไม่ใช่แค่เอาหน้า แต่เพื่อ “แทนคุณแผ่นดิน”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ก็แค่โปรเจกต์ CSR (Corporate Social Responsibility) ขององค์กรทางธุรกิจอีกชิ้นนึงเท่านั้นเอง” หลายคนอาจจะคิดอย่างนี้เมื่อที่ได้เห็นข่าวคราวการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชน ซึ่งทาง CPF ซึ่งเป็นเจ้าของโปรเจกต์ใหญ่ในครั้งนี้ก็ไม่ปฏิเสธว่ามันคือ CSR จริงๆ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีคนบางส่วนมองว่า CSR คือการ “สร้างภาพ (ลักษณ์) องค์กรรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่อยากให้เปิดใจสักนิด แล้ววัดกันที่เจตนามากกว่า
“เราไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้อะไรจากการทำ CSR แต่เราจะได้ทดแทนในสิ่งที่เป็นเรื่องความคิด หรือปรัชญาขององค์กร คือเรื่องการ “ตอบแทนคุณแผ่นดิน” ครับ เราต้องการสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ, สังคม และองค์กร เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราดำเนินการวันนี้ มันก็คือความยั่งยืน เมื่อเกิดความยั่งยืนต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม มันก็จะส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวมอยู่แล้ว นี่จะเป็นข้อดีที่เราได้
"ป่าชายเลน" รักษาห่วงโซ่อาหาร
ถามว่าทำไมต้องแทนคุณแผ่นดิน บางที เราก็ได้เรียนรู้จากแนวคิดง่ายๆ ของคนที่อยู่ป่านะครับ อย่างสังคมของคน “ปกากะญอ” เขาคิดว่าถ้าใช้น้ำ ก็ต้องแทนคุณน้ำ ใช้ป่าก็ต้องรักษาป่า วันนี้ถ้าเรายังใช้ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมในประโยชน์เชิงธุรกิจในการดำรงชีวิต เราก็ต้องหาทางตอบแทนคืนให้เขา เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและสามารถดำรงอยู่ได้ เพื่อจะสนองความต้องการของคนยุคต่อไปในอนาคตได้ด้วย” วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร เปิดใจให้รายละเอียด
ถามว่าป่าชายเลนให้อะไรกับเราบ้าง เราจึงจำเป็นต้องคืนกลับ เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมเมืองอาจจะมองว่าเรื่องการอนุรักษ์เป็นเรื่องไกลตัว สมบัติ กาญจนไพหาร หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หนึ่งในพาคีผู้ร่วมโปรเจกต์ในครั้งนี้จึงช่วยสรุปให้ฟัง
“จริงๆ แล้ว ป่าชายเลนอยู่ใกล้ตัวประชาชนทุกคน โดยเฉพาะชีวิตของประชาชนชายฝั่ง ป่าชายเลนเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์เยอะมาก คือ
1.ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ตัวอ่อนจะมาอาศัยอยู่เนื่องจากว่าสภาพแวดล้อมมันนิ่ง ตัวอ่อนสามารถมาอาศัยได้
2.เป็นต้นทางของสารอาหารในห่วงโซ่อาหารทั้งหมด เนื่องจากเป็นต้นทางของผู้ผลิต เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร จะปล่อยพลังงาน เช่น ใบไม้ให้กับสัตว์ต่างๆ ได้ดูดซึมและกินกันเป็นทอดๆ ไป
3.ทำหน้าที่ป้องกันชายฝั่ง เป็นแนวกำบังคลื่นลม
4.เป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนให้มนุษย์ได้หายใจ คือนอกจากจะสร้างออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสงแล้ว ต้นไม้ป่าชายเลนยังกักเก็บก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ในรูปของไฮโดรคาร์บอนในเนื้อไม้ ช่วยลดการขยายตัวของอากาศเป็นพิษ”
จึงเป็นที่มาสำคัญที่ผู้ร่วมโครงการอยากชวนทุกคนมา “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” โดยคำว่า “ปลูก” นอกจากจะหมายถึงปลูกป่าแล้ว ยังหมายถึงการปลูกจิตสำนึก ปลูกความเข้าใจให้เห็นคุณค่าของป่าชายเลนด้วย จากเมื่อปี 2504 เรามีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 2.3 ล้านไร่ แต่วันนี้ ลดเหลือเพียง 1.5 ล้านไร่ จึงควรต้องเร่งรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศเอาไว้ เพราะป่าชายเลนไม่ใช่แค่เป็น “ครัวของมนุษย์” แต่ยังเป็น “ครัวของพืชและสัตว์” ไปพร้อมๆ กัน
ส่วนคำว่า “ปัน” เป็นการปันความรู้ความเข้าใจ แบ่งปันความคิดดีๆ ต่อกัน ซึ่งในอนาคต ทางเจ้าของโปรเจกต์ตั้งใจจะสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้” เข้าไปในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนของเราได้รับรู้และเข้าใจ ให้เห็นคุณค่าของป่าชายเลน และคำสุดท้าย คำว่า “ป้อง” หมายถึงการป้องกัน ดูแลรักษาป่าที่มีอยู่แล้วให้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด
ความหมายของ ปลูก-ปัน-ป้อง
ถึงแม้ว่าจำนวน 2,000 ไร่ที่ตั้งใจเข้าไปฟื้นฟู จะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ก็มองว่าเป็นผลบวกอยู่ดี
“ถ้าเรามีเอกชนสัก 10 ราย ตั้งเป้าทำให้ได้ 2,000 ไร่เหมือนกัน มันก็จะกลายเป็น 20,000 ไร่ เปอร์เซ็นต์ก็จะดีขึ้น และถ้าทุกฝ่ายมองเข้ามาและอยากจะช่วยกันทำ ทุกอย่างก็จะขยับไปข้างหน้า ถ้าทุกคนเห็นสิ่งที่ทำอยู่และเข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผมก็คาดหวังว่ามันจะเป็นโมเมนตั้ม เป็นการขับเคลื่อนกันไปทั้งระบบ ไม่ใช่ลุกขึ้นมาทำทีละเจ้า 2 เจ้า ก็จะได้เห็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจน
ส่วนตัวผมเลย เป้าหมายใหญ่จริงๆ ผมอยากบอกคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะประชากรที่อยู่ชายฝั่ง ไม่ใช่เฉพาะองค์กรเอกชนหรือกลุ่มธุรกิจ พวกเราทุกคนควรจะเข้าใจประโยชน์ของมัน แต่ทุกวันนี้ คนทั่วไปอาจจะคิดว่าไปช่วยกันปลูกป่าชายเลนแล้วยังไงต่อ จริงๆ แล้วมันมองไปได้ไกลกว่านั้นครับ
ทุกวันนี้ เรามีสินค้าที่เกิดจากกลุ่มธุรกิจที่ทำงานด้านอนุรักษ์ ยังมีชุมชน มีฝ่ายเอกชนที่ผลิตสินค้าด้วยแนวทางอนุรักษ์ควบคู่ไป คนทั่วไปก็สามารถสนับสนุนพวกเขาได้ คือวันนี้ ถ้าคุณไปปลูกป่าไม่ได้ เราสามารถช่วยกันเลือกสินค้า เลือกธุรกิจที่เขาใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงๆ ส่วนองค์กรของผม ตอนนี้ก็มีหน้าที่ตรวจสอบว่า ธุรกิจเหล่านี้ที่บอกว่าทำเพื่ออนุรักษ์ เพื่อสังคม เขาทำจริงๆ หรือเปล่า หรือทำแค่ให้งบทางการเงินเท่านั้นเอง”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.cpfworldwide.com
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754