xs
xsm
sm
md
lg

สกว.เปิดตัวไก่พื้นเมืองพร้อมใช้ 8 สายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกว.เปิดตัวไก่พื้นเมืองพร้อมใช้ 8 สายพันธุ์
สกว.เปิดตัวงานวิจัยและพัฒนาไก่พื้นเมืองพร้อมใช้ หลังร่วมกับกรมปศุสัตว์และสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาสายพันธุ์ยาวนานกว่าทศวรรษ ทั้งพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์สังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นใหม่อีก 4 สายพันธุ์ เชิญชวนผู้ประกอบการ ภาคเอกชนทั้งระดับเอสเอ็มอีและระดับประเทศร่วมกันสร้างผลผลิต “ไก่ไทย” ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงของประเทศ
    
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร เผยถึงการวิจัยและพัฒนาไก่พื้นเมืองที่ผ่านมา รวมถึงความพร้อมของไก่พื้นเมือง ณ ปัจจุบันที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพทุกระดับ โดย สกว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมอย่างยั่งยืนของไก่พื้นเมืองไทย จึงให้การสนับสนุนการพัฒนามากว่าทศวรรษนับตั้งแต่ปี 2544 โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์และสถาบันการศึกษาต่างๆ

จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองมาอย่างต่อเนื่องของ รศ. ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ปัจจุบันไก่พื้นเมืองไทยมีศักยภาพและมีความหลากหลายของสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ดั้งเดิม 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำ ไก่เหลืองหางขาว ไก่ชี และไก่แดง และพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่อีก 4 สายพันธุ์ หรือที่เรียกว่า “ไก่สายพันธุ์สังเคราะห์” ประกอบด้วย แก่นทอง สร้อยนิล สร้อยเพชร และไข่มุกอีสาน

“สายพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่พัฒนาตอบสนองการเลี้ยงเป็นอาชีพสำหรับเกษตรกร นั่นคือ ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้นลง และสามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมของเกษตรกรทั่วไป โดยยังคงความอร่อยที่สามารถตอบสนองทั้งความต้องการของผู้บริโภคและการผลิตในระบบอุตสาหกรรม นับว่างานวิจัยไก่พื้นเมืองสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพสำหรับเกษตรกรรายย่อย และผู้ประกอบการได้” รศ.ดร.จันทร์จรัส กล่าว

ทั้งนี้ ผศ. ดร.อมรรัตน์ โมฬี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้นำพ่อพันธุ์ไก่เหลืองหางขาวมาผสมกับไก่แม่พันธุ์ มทส. ซึ่งเป็นไก่ที่มีคุณสมบัติในการเป็นแม่พันธุ์ที่ดี และให้ไข่ดก มาทำการคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ลูกผสม (Hybrid) หรือที่เรียกว่า “ไก่เนื้อโคราช” ซึ่งมีลักษณะโดเด่นกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป คือ ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 65-70 วัน จะได้ไก่ที่แข็งแรง น้ำหนักประมาณ 1.2-1.3 กิโลกรัมต่อตัว รสชาติอร่อยเทียบเท่าไก่พื้นเมือง และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพสำหรับวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรได้

“ขณะที่สายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำซึ่งให้ลูกดก เจริญเติบโตเร็ว และมีรสชาติเฉพาะตัว ส่งผลให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สกว. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้การสนับสนุน รศ. ดร.ศิริพร กิรติการกุล ในการพัฒนาความรู้องค์ความรู้ด้านไก่ประดู่หางดำให้เป็นรูปธรรมแก่เกษตรกรและชุมชน เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกที่มีความยั่งยืนบนฐานการผลิตและทรัพยากรที่มีในพื้นที่ โดยได้นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ ลำปาง และเพชรบุรี” รศ.ดร.จันทร์จรัส กล่าว

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการไก่ประดู่หางดำจำนวน 203 ราย ซึ่งได้นำองค์ความรู้ด้านการผลิตไปประยุกต์ให้เข้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้อาหารเสริมเพื่อลดต้นทุนอาหารสำเร็จรูป ตลอดจนสร้างรูปแบบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่เหมาะสมกับมิติเชิงพื้นที่ อันก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชุมชน อีกทั้งยังสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว จากการผลิตในระบบธรรมชาติทำให้ผลผลิตเป็นที่รับรู้ของผู้บริโภค จนสามารถขยับเข้าสู่ตลาดระดับกลางและระดับบน รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ทางการค้า “ไก่นิลล้านนา”

ในส่วนของไก่พันธุ์ชี หลังจากที่ทำการพัฒนามากว่า 10 ปี ทำให้มีลักษณะเด่นให้สมรรถภาพการผลิตสูง มีขนสีขาวทั้งตัวเหมือนไก่เนื้อ สามารถเลี้ยงรอดได้ดีในระบบการเลี้ยงของเกษตรกรในหมู่บ้าน ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ กรมปศุสัตว์ นายชูศักดิ์ ประภาสวัสดิ์ จึงได้ขยายผลการเลี้ยงลงสู่ชุมชนในรูปแบบการสร้างเครือข่ายเกษตรกรการเลี้ยงไก่ชีท่าพระในจังหวัดเลย ขอนแก่น และมหาสารคาม ส่วนการพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้น บริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของไก่พื้นเมืองที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้เข้ามาร่วมมือและทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของบริษัท

“ด้วยศักยภาพของนักวิจัยและผลงานวิจัย อีกทั้งระบบการผลิตที่ครอบคลุมทั้งการผลิตในระดับเกษตรรายรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน ทำให้ฐานพันธุกรรมและการทดสอบระบบการเลี้ยงในรูปแบบของเครือข่ายเกษตรกรและอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีความพร้อมที่จะสนับสนุนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมสัตว์ปีก สกว.จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ทั้งระดับเอสเอ็มอีและระดับประเทศเข้ามาร่วมมือและสร้างผลผลิต “ไก่ไทย” ด้วยกัน  เพื่อเปลี่ยนสถานะไก่พื้นเมืองไทยให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการนำไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพ รวมถึงสร้างนักวิจัยเชิงพัฒนาให้กับประเทศชาติ ซึ่ง สกว.พร้อมจะให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานและผู้ประกอบการที่สนใจ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค” รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวสรุป
 
    
    
ไก่สร้อยนิล
ไก่แก่นทอง
ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ แปรรูป
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ






กำลังโหลดความคิดเห็น