เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญเตือนทวีปเอเชียต้องการ “เกษตรกรรุ่นใหม่” สืบทอดการผลิตอาหารหล่อเลี้ยงประชากรโลก แม้ต้องเผชิญความท้าทายสำคัญจากการที่ลูกหลานเกษตรกรเอเชียไม่ยอมสืบทอดอาชีพบรรพบุรุษและหันเหตัวเองออกจากภาคการเกษตร
รายงานข่าวจากที่ประชุม “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” ในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Grow Asia Agriculture Forum” ระบุว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของโลกต่างลงความเห็นว่า “ทวีปเอเชีย” ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับหล่อเลี้ยงประชากรโลกที่มีจำนวนมากกว่า 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี รายงานซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งมีการนำออกเผยแพร่ในที่ประชุมในวันพฤหัสบดี (22) ระบุว่าแม้เอเชียจะเป็น “ความหวัง” ของโลกในการผลิตอาหารเลี้ยงดูผู้คนทั่วโลกในอนาคต แต่เอเชียกำลังประสบปัญหาสำคัญในการขาดแคลน “เกษตรกรรุ่นใหม่” ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการผลิตสินค้าเกษตร แทนที่แรงงานในภาคการเกษตรปัจจุบันที่เริ่มมีอายุมากขึ้น
ฟรานซิส เอ็น. ปังกิลินัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากคณะทำงาน ว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาลฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งทีมผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวเผยว่า ความไม่เต็มใจของลูกหลานเกษตรกรเอเชียที่จะก้าวเข้าสู่ภาคการเกษตร และรับช่วงต่อจากบิดามารดาของพวกเขาในการผลิตอาหารหล่อเลี้ยงประชากรโลก ถือเป็น “ปัญหาใหญ่” ที่ทั่วโลกต้องให้ความสนใจและหาทางรับมือ
รายงานดังกล่าวระบุว่า จำนวนแรงงานภาคการเกษตรในเอเชียได้ปรับลดลงไปแล้วมากกว่า 1 ใน 3 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และเฉพาะอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียว ก็มีข้อมูลว่าจำนวนเกษตรกรแดนอิเหนาได้ลดลงเหลือไม่ถึง 40.8 ล้านคนในปีที่ผ่านมาจากจำนวน 42.4 ล้านคนในปีก่อนหน้าซึ่งแนวโน้มในลักษณะเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วทั้งเอเชีย
ด้านโรเบิร์ต เอส.ซีกเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute) ซึ่งมีฐานอยู่ที่ลอส บาโนสในฟิลิปปินส์ออกมาเปิดเผยข้อมูลจากรายงานล่าสุดว่า อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานี้อยู่ระหว่าง 50-60 ปี ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้นอายุเฉลี่ยของเกษตรอยู่ที่ 67 ปี ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ในเอเชียกำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัย สวนทางกับตัวเลขแรงงานรุ่นใหม่ในภาคการเกษตรเอเชียที่แทบไม่ปรับเพิ่มจำนวนขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัมล่าสุดชี้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 โลกของเราจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9,000 ล้าน และจำเป็นต้องมีการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอีกถึง 70 เปอร์เซ็นต์จากระดับในปัจจุบัน ประชากรโลกจึงจะมีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ และมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าอาหารจะต้องมาจากแหล่งผลิตในเอเชีย