xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เล็งทำดัชนีวัดของแพง พร้อมจ้องงัดกฎหมายคุมสินค้าลดไซส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
“พาณิชย์” เตรียมทำดัชนีวัดค่าครองชีพ นำร่องเป็นรายภูมิภาค ก่อนขยายทำทุกจังหวัด หวังใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาปากท้องให้แก่ประชาชน หลังผลสำรวจพบสินค้าแพงขึ้นเพียบ ขู่จัดการจริง เล็งใช้กฎหมายคุมสินค้าลดไซส์หากไม่สามารถตกลงกันได้ ชงกำหนดขนาดมาตรฐานให้ผู้ผลิตปฏิบัติ ป้องกันผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและดัชนีเศรษฐกิจการค้ามีแผนที่จะจัดทำดัชนีวัดค่าครองชีพ โดยจะเริ่มจัดเก็บข้อมูลราคาสินค้าและค่าครองชีพรายภูมิภาค และจะขยายให้ครบทุกจังหวัด เพื่อใช้เป็นสถิติข้อมูลว่าค่าครองชีพของแต่ละภูมิภาคและจังหวัดแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะนำมาใช้ในการกำหนดมาตรการดูแลค่าครองชีพให้ประชาชน โดยคาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะทำดัชนีค่าครองชีพแล้วเสร็จ

สำหรับการสำรวจภาวะราคาสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและดัชนีเศรษฐกิจการค้าในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าราคาสินค้าอาหารและสินค้าที่เป็นต้นทุนของการผลิตอาหารยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ย เม.ย. 2557 เทียบกับ เม.ย. 2556 พบว่าก๊าซหุงต้มได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ถังละ (15 กก.) 367.30 บาท จาก 297.60 บาท หรือเพิ่มขึ้น 23.42% ข้าวถุงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30.27 บาท/ถุง เพิ่มจาก 29.46 บาท/ถุง หรือเพิ่มขึ้น 2.75% ข้าวราดแกง 33.35 บาท/จาน เพิ่มจาก 31.10 บาท/จาน หรือเพิ่มขึ้น 7.23% น้ำปลา (700 ซีซี) ขวดละ 26.77 บาท จาก 22.65 บาท เพิ่ม 18.19% ผักคะน้า 48.13 บาท/กก. จาก 29.23 บาท/กก. หรือเพิ่ม 64.66% เนื้อหมู 156.63 บาท/กก. จาก 135.46 บาท/กก. เพิ่ม 15.63% ไข่ไก่ 3.69 บาท/ฟอง จาก 3.52 บาท/ฟอง หรือเพิ่ม 4.83%

สาเหตุที่สินค้าในกลุ่มอาหารปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรและปศุสัตว์มีปริมาณลดลง แต่เชื่อว่าหลังจากพ้นช่วงภัยแล้งไปแล้ว ราคาสินค้าเกษตรบางรายการจะปรับตัวลดลง

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในได้เตรียมพิจารณานำกฎหมายที่อยู่ในความดูแล ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และ พ.ร.บ.ชั่ง ตวง วัด มาใช้ในการแก้ปัญหากรณีที่ผู้ผลิตหลบเลี่ยงขึ้นราคาสินค้าทางอ้อมด้วยการปรับลดขนาดลงมา (ลดไซส์) หลังจากที่ได้มีการหารือกับผู้ผลิตสินค้านำร่อง 3 รายการ คือ สบู่ แชมพู และผงซักฟอกไปแล้ว และได้ขอให้ผู้ผลิตไปปรับขนาดการผลิตไม่ให้มีมากจนเกินไป และให้แจ้งกรมฯ ว่าจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งขอให้แจ้งข้อมูลขนาดบรรจุที่มีอยู่ให้กรมฯ ทราบ ซึ่งมีกำหนดให้ส่งรายละเอียดทั้งหมดภายในเดือน พ.ค.นี้

ทั้งนี้ หากผู้ผลิตไม่สามารถหาข้อสรุปในการกำหนดขนาดสินค้าได้ กรมฯ ก็จะพิจารณาใช้กฎหมายเข้าไปดูแล โดยเริ่มจากการเสนอให้เป็นสินค้าควบคุม และใช้กฎหมายชั่ง ตวง วัด กำหนดให้สินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน โดยจะควบคุมเฉพาะขนาดสินค้าที่มีประชาชนใช้กันมาก ที่ผู้ผลิตจะต้องผลิตออกมาขนาดเดียวกัน ส่วนขนาดที่ประชาชนใช้น้อยจะไม่ควบคุม ผู้ผลิตสามารถผลิตได้หลากหลายเพื่อให้เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี โดยเบื้องต้นสินค้าแต่ละชนิดมีอยู่ 3 ขนาด คือ 1. ขนาดเล็ก ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค 2. ขนาดกลาง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในกลุ่มผู้บริโภค และ 3. ขนาดใหญ่ ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

สำหรับการควบคุม จะทำเฉพาะขนาดสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมใช้เท่านั้นหรือขนาดกลาง และจะกำหนดอย่างละ 2-3 ขนาด เช่น สบู่ก้อนจะบังคับให้มีขนาดมาตรฐาน 100 กรัม และ 200 กรัม สบู่เหลวจะบังคับให้มีขนาดมาตรฐาน 100 ซีซี และ 200 ซีซี ผงซักฟอกบังคับให้มีขนาดมาตรฐาน 1,000, 2,000 และ 3,000 กรัม และแชมพูสระผม บังคับให้มีขนาดมาตรฐาน 100 กรัม และ 200 กรัม เป็นต้น ผู้ผลิตจะไม่สามารถผลิตขนาดที่ใกล้เคียงมาจำหน่ายได้ แต่หากขนาดเล็กกว่ามากๆ หรือขนาดเล็กกว่าจากที่กำหนดครึ่งหนึ่งก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม การขอความร่วมมือกำหนดมาตรฐานขนาดสินค้านั้น ในภาพรวมแม้ผู้ผลิตสินค้าไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะกระทบต่อการแข่งขัน และผู้ผลิตมองว่าการผลิตสินค้าหลายขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงเป็นเหตุผลให้กรมฯ ต้องเลือกคุมเฉพาะขนาดที่ผู้บริโภคนิยมเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปรับลดขนาดแต่ขายราคาเดิม ส่วนขนาดอื่นๆ ก็ปล่อยให้ผู้ประกอบการผลิตได้อย่างเสรี
กำลังโหลดความคิดเห็น