xs
xsm
sm
md
lg

ชูแนวคิด “อะควาโพนิค” ปลูกผัก-เลี้ยงปลาระบบปิด สร้างความมั่นคงอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การทำสวนครัวด้วยการปลูกผักร่วมกับการเลี้ยงปลา “อะควาโพนิค”
สกว.- หนุน มข.ทำต้นแบบสวนครัวยุคใหม่ปลูกผักร่วมกับเลี้ยงปลา หมุนเวียนน้ำจากตู้ปลาไปรดผัก ตามแนวคิด “อะควาโพนิค” ที่เริ่มต้นจากนักวิจัยสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับครัวเรือน  

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทำต้นแบบสวนครัวยุคใหม่ผ่านโครงการ “การพัฒนาระบบปลูกผักร่วมกับการเลี้ยงปลาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือน” โดยมี รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ สาขาพืชสวน ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มข.เป็นหัวหน้าโครงการ

ล่าสุด รศ.ดร.กมล ได้ถ่ายทอดความรู้จากโครงการดังกล่าวผ่านการอบรมภายในงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2557 ที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร ได้เป็นประธานเปิดการอบรมดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการอบรมได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำสวนครัวยุคใหม่ด้วยการปลูกผักร่วมกับการเลี้ยงปลา  ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพตามแนวทาง “3 อ.” ประกอบด้วย “อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย” และเป็นการทำสวนแบบใหม่ที่เหมาะสำหรับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุ โดยใช้หลักการ “3 ไม่ 3 น้อย” คือ “ไม่ใช้ดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง” กับ “ใช้น้ำน้อย ใช้แรงงานน้อย และใช้เวลาดูแลรักษาน้อย”

“ผลงานสวนครัวยุคใหม่นี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ปลูกผักอย่างน้อย 40 ชนิด และเลี้ยงปลาอย่างน้อย 7 ชนิด ซึ่งทำงานเกื้อกูลกัน จุลินทรีย์ในน้ำและรากผักจะเปลี่ยนของเสียจากปลาเป็นสารอาหารอินทรีย์สำหรับผักและบำบัดน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยงปลา ทำงานแบบหมุนเวียน ประหยัดน้ำ-ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเลี้ยงปลา ไม่ต้องตักน้ำรดพืชและไม่สูญเสียน้ำไปจากการไหลซึมลงดิน ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นระบบปิดที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ ประหยัดพื้นที่ ดูแลรักษาง่าย ทำงานได้สะดวก ประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 ใช้แรงงานน้อย ไม่ต้องเสียเวลารดน้ำผัก ประหยัดพลังงาน ไม่ใช้ดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีฆ่าแมลง สามารถนำไปใช้ได้ในทุกพื้นที่ เหมาะสำหรับปลูกผักที่ใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน เน้นชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ต้องเก็บในตู้เย็นทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการสูญเสียจากการซื้อในปริมาณมากกว่าที่ใช้” จดหมายข่าว สกว.ระบุ

ข้อมูลจาก สกว.ระบุอีกว่า ประโยชน์ของสวนครัวยุคใหม่นี้จะช่วยสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้สังคมไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือนทั้ง 5 ด้าน คือ เข้าถึง เพียงพอ ปลอดภัย ประโยชน์ต่อสุขภาพและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชนหรือสถานศึกษา เพื่อพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพตามแนวทาง 3 อ.  

การทำสวนครัวด้วยการปลูกผักร่วมกับการเลี้ยงปลา เรียกว่า “อะควาโพนิค” เป็นวิธีการผลิตแบบยั่งยืนที่ผสมผสานการผลิตอาหาร 2 รูปแบบเข้าด้วยกัน คือ การเลี้ยงปลาและการปลูกพืชแบบไร้ดินที่มีธาตุอาหารและน้ำจากการเลี้ยงปลาอย่างหมุนเวียนเพื่อปลูกผักปลอดภัย ปัจจุบันมีการใช้อะควาโพนิคผลิตผักสำหรับบริโภคในครัวเรือนและเป็นการค้าในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งใช้น้ำแบบหมุนเวียนระหว่างถังเลี้ยงปลากับภาชนะปลูกผัก

น้ำที่ได้จากภาชนะหรือถังเลี้ยงปลาที่ประกอบด้วยของเสียที่ขับออกจากปลา ได้แก่ แอมโมเนีย ขี้ปลา และเศษอาหาร เป็นส่วนประกอบของธาตุอาหารสำหรับพืชที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งจะไหลไปสู่กระบะปลูกผักที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองน้ำแบบชีวภาพด้วยกระบวนการไนตริฟิเคชัน (Nitrification) โดยอาศัยแบคทีเรียที่มีอยู่บริเวณวัสดุปลูกผัก คือ หิน กรวด ทราย และรากผัก เปลี่ยนธาตุอาหารจากรูปที่ผักใช้ประโยชน์ไม่ได้ไปเป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ประโยชน์ได้  

“จากแนวคิดอะควาโพนิคต้นแบบ เราได้นำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยที่มีการบริโภคผักและปลาหลากหลายชนิด โดยสามารถใช้น้ำ 50 ลิตรเลี้ยงปลาได้ 1 กิโลกรัม ปลูกผักได้ 1 ตารางเมตร ใช้พื้นที่อย่างน้อย 15-22 ตารางเมตร และมีต้นทุนรวม 8,500 บาท แต่ต้องมีแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน ปัญหาขณะนี้คือ ต้องใช้กระถางเจาะรูและต่อกับท่อน้ำที่มีลักษณะเฉพาะ จึงประสานกับผู้ประกอบการด้านนี้แล้ว ในอนาคตจะออกแบบสำหรับผู้มีพื้นที่อาศัยน้อย เช่น หอพัก คอนโดมิเนียม ให้ทำสวนครัวยุคใหม่ในลักษณะนี้ได้เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น ไทยเป็นประเทศที่สองในภูมิภาคอาเซียนที่นำอะควาโพนิคมาใช้ โดยประเทศแรกคือมาเลเซีย” รศ.ดร.กมลกล่าว

สำหรับผู้สนใจสวนครัวยุคใหม่ดังกล่าว สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่คุณเชาวลิต สีลาดเลา ผู้ดูแลอะควาโพนิค มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.0 4320 2222-9 ต่อ 11381, 0 4320 2696 หรือ facebook/Kku Aquaponics



รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์






กำลังโหลดความคิดเห็น